สรรพสามิต ชูธงภาษี ESG รื้อโครงสร้าง “แบตเตอรี่” ต่อยอดรถอีวี

อธิบดีสรรพสามิตปรับกลยุทธ์เก็บภาษี เผยนโยบายลดภาษีน้ำมันดีเซลอุ้มค่าครองชีพประชาชน สูญรายได้เดือนละ 1 หมื่นล้าน ชูกลยุทธ์ภาษี ESG เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปักธงปี’66 รื้อโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่เหลือ 1% สำหรับผู้ผลิตที่มีกระบวนการรีไซเคิลครบวงจร รองรับเทรนด์รถอีวีพุ่ง

พร้อมเว้นภาษีเอทานอลหนุนลงทุน “ไบโอพลาสติก” ยันขยับขึ้นภาษีความหวานกลางปี’66 งัด “ดาต้าอะนาไลติกส์” เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี-ปราบปรามสินค้าเถื่อน

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 65-ก.ย. 66) ที่มีเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณอยู่ที่ 5.67 แสนล้านบาท หลังผ่านมา 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ พบว่า เริ่มเห็นสัญญาณจัดเก็บภาษีดีขึ้นอย่างชัดเจน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยหากไม่นับรวมภาษีน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลลดให้เพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชน 5 บาทต่อลิตร ซึ่งสูญเสียรายได้ตกประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ก็จะเห็นว่า 2 เดือนแรก ภาพรวมภาษีสรรพสามิตเก็บได้มากกว่าเป้าหมายราว 10% และสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ประมาณ 15%

“ถ้าเอาภาษีสรรพสามิตมาสะท้อนภาวะเศรษฐกิจจะเห็นว่า กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ดีขึ้น ทั้งภาษีรถยนต์ ภาษีเบียร์ ภาษีสุรา และภาษีเครื่องดื่ม สะท้อนว่าสถานการณ์การบริโภคภายในประเทศเริ่มดีขึ้น แต่จากนโยบายลดภาษีน้ำมันดีเซลในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูง เพื่อช่วยค่าครองชีพ ซึ่งรายได้ภาษีน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของรายได้ภาษีกรมสรรพสามิตทั้งหมด เลยทำให้รายได้ของกรมสรรพสามิตติดลบอยู่ประมาณ 10%” ดร.เอกนิติกล่าว

“เอกนิติ” ชูธงกรมภาษี ESG

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ปัจจุบันมีความท้าทายในเรื่องทิศทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงทิศทางของธุรกิจ ขณะที่สรรพสามิตที่นอกจากมีความท้าทายว่าต้องลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชนแล้ว ก็ยังมีความท้าทายที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ซึ่งกรมสรรพสามิตไม่ได้มีหน้าที่เพียงการจัดเก็บรายได้อย่างเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย ซึ่งปีนี้กรมสรรพสามิตได้วางกลยุทธ์ว่า จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยภาษีสรรพสามิตที่เน้น ESG สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน

“เราจะประกาศตัวเป็นกรม ESG ซึ่งเรื่องนี้เป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แต่สรรพสามิตเราสามารถช่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันจะเห็นว่าประเทศต่าง ๆ ได้ประกาศพันธสัญญาเรื่องลดการปล่อยคาร์บอน อย่างประเทศไทยเราสัญญาว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ carbon neutrality ภายในปี 2050 และไปสู่ Net Zero ในปี 2065 คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะมาช่วยในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยทำตามพันธสัญญาเรื่องนี้ได้” ดร.เอกนิติกล่าว

ภารกิจแรก “ฐานผลิตรถอีวี”

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนนั้น กรมสรรพสามิตสามารถช่วยได้หลายเรื่อง เรื่องแรกที่ทำแล้วคือ กลุ่มรถยนต์ ที่มีการปล่อยมลพิษ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาจากกลุ่มขนส่งค่อนข้างมาก ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตจึงมีนโยบายในการลดภาษีให้กับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เหลือ 2% ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนในเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปภายในเป็นรถอีวี ที่ตอนนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก

“นโยบายภาษีสรรพสามิตช่วยทำให้เกิดฐานการผลิตรถอีวีในประเทศไทย โดยผู้ที่จะได้สิทธิภาษีสรรพสามิตในอัตราที่ลดลงจาก 8% เป็น 2% จะต้องมาทำ MOU กับกรม เพื่อที่จะสามารถนำเข้ารถอีวีมาจำหน่ายได้ เพราะตอนนี้อาจจะยังไม่มีฐานการผลิต แต่ต่อไปก็จะต้องมีฐานผลิตในประเทศเพื่อชดเชยที่นำเข้ามาจำหน่าย และถ้ารถไม่เกิน 2 ล้านบาท รัฐบาลก็มีแรงจูงใจที่ช่วยอุดหนุนให้ด้วยอีกคันละ 150,000 บาท ตรงนี้เป็นกลไกหนึ่งเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนฐานผลิตรถอีวีในประเทศไทย”

มาตรการสนับสนุนรถยนต์อีวีถือว่าไปได้ค่อนข้างดี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการลงนามเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 12 ราย ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถกระบะ ทั้งค่ายจีน ค่ายญี่ปุ่น ค่ายยุโรป มากันครบ ซึ่งคาดว่าปีนี้ยอดจองประมาณ 25,000 คัน ส่วนปีหน้าคาดว่าอาจจะขึ้นไปถึง 50,000 คันได้

อธิบดีสรรพสามิตกล่าวว่า นโยบายในเรื่องอีวี ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดี มีการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแลในเรื่องของ carbon neutrality แล้ว จากการที่กรมสรรพสามิตปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ โดยเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บ จากการเก็บภาษีตามความจุกระบอกสูบ เป็นการจัดเก็บตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แทน ซึ่งหากใครปล่อย CO2 มาก ก็ถูกเก็บภาษีมาก หรือใครปล่อย CO2 น้อย ก็เสียภาษีน้อย

ปีหน้ารื้อโครงสร้างภาษีแบต

ดร.เอกนิติกล่าวว่า การขับเคลื่อนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นอกจากการปรับเปลี่ยนภาษีรถยนต์ กรมสรรพสามิตยังมีโครงการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันเก็บในอัตราคงที่ 8% ขณะนี้กำลังจัดทำโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ใหม่ โดยหากผู้ผลิตแบตเตอรี่มีกระบวนการรีไซเคิลที่ดี ก็อาจจะเสียภาษีเหลือแค่ 1% เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพร้อมลงทุนระบบการรีไซเคิลแบบครบวงจร

โดยภาษีแบตเตอรี่จะครอบคลุมแบตเตอรี่ทุกประเภท รวมถึงแบตเตอรี่รถอีวี เพราะต่อไปประเทศไทยจะมีจำนวนรถอีวีเพิ่มขึ้นอีกมาก คือจากนโยบายรัฐบาลกำหนดว่าภายในปี 2030 ประเทศไทยจะต้องมีการผลิตรถอีวีอย่างน้อย 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งประเมินว่าจำนวนรถอีวีจะไปอยู่ที่ประมาณ 7.5 แสนคัน ดังนั้นก็จะมีแบตเตอรี่อีกมากมายที่เข้ามาอยู่ในระบบ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ถ้าไม่คิดถึงการดูแลเรื่องการรีไซเคิล ในอนาคตถัดไปอีก 8 ปี เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

“เราต้องคิดตั้งแต่วันนี้ ก็เป็นสิ่งที่กรมสรรพสามิตกำลังทำอยู่ เราจะลดภาษีให้กับผู้ประกอบการที่มีกระบวนการรีไซเคิล คาดว่าภายในปีงบประมาณ 2566 โครงสร้างภาษีแบตเตอรี่น่าจะเสร็จ ซึ่งการปรับลดภาษีเหลือ 1% กระทบรายได้สรรพสามิตไม่มาก เพราะปกติจัดเก็บได้ประมาณหลักพันล้านบาทต่อปี”

เว้นภาษีหนุนไบโอพลาสติก

นอกจากนี้ สิ่งที่กรมสรรพสามิตกำลังจะทำอีกเรื่องเพื่อสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อมคือ ภาษีไบโอพลาสติก โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเอทานอลไปทำเป็นไบโอพลาสติก ซึ่งจะมีการแยกออกมาเป็นพิกัดภาษีใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านไบโอพลาสติก ทดแทนการผลิตพลาสติกจากปิโตรเคมี

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตไบโอพลาสติกมีต้นทุนสูง ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้มีการผลิตและใช้งานที่แพร่หลาย สรรพสามิตก็จะใช้นโยบายลดภาษี เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจพร้อมที่จะลงทุนมากขึ้น

“เราจะทำเรื่องไบโอพลาสติก จะระบุพิกัดภาษีใหม่ เพื่อกำหนดให้เอทานอลมีอัตราภาษีเป็นศูนย์ จากปกติเอทานอลเสียภาษี 6 บาทต่อลิตร ซึ่งประโยชน์จะตกไปถึงเกษตรกรด้วย”

ขยับขึ้นภาษีความหวาน มิ.ย. 2566

ดร.เอกนิติกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังใช้มาตรการภาษีขับเคลื่อนสังคม โดยเก็บภาษีสินค้าที่ทำลายสุขภาพ ขณะนี้ก็มีเก็บภาษีความหวาน โดยเฉพาะจากเครื่องดื่ม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเห็นชัดว่าในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตเครื่องดื่มก็เริ่มลดปริมาณน้ำตาลที่ใส่ในเครื่องดื่มลง ซึ่งจัดเก็บแบบขั้นบันได แต่ในช่วงโควิด-19 ภาคเอกชนขอให้ชะลอการปรับขึ้น จนถึงในเดือน มิ.ย. 2566 ซึ่งกรมก็จะไม่ขยายเวลาผ่อนปรนแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น

นอกจากนี้ อีกตัวที่กำลังศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ก็คือ “ภาษีความเค็ม” เพราะคนไทยต้องฟอกไตกันเยอะ รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างเยอะ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ ต้องหารือกับสาธารณสุขอีกที

แยกพิกัด “บุหรี่ไฟฟ้า”

อธิบดีสรรพสามิตกล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งเป็นบทบาทในเรื่องการปราบปราม สินค้าที่ผิดกฎหมายภาษีสรรพสามิต เช่น ปราบปรามด้านบุหรี่เถื่อน บุหรี่หนีภาษี เหล้าหนีภาษี แต่สิ่งหนึ่งที่ปัจจุบันสรรพสามิตยังไม่มีอำนาจปราบปรามก็คือ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกรมกำลังพิจารณาว่าจะกำหนดพิกัดสำหรับบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมา เพื่อให้สามารถดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดที่มีการลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศได้

“ผมย้ำนะครับว่า การที่กรมสรรพสามิตจะเอาบุหรี่ไฟฟ้ามาใส่อยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิต ไม่ได้หมายความว่าเราไปขัดกับกระทรวงสาธารณสุข ที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะการจะห้ามขายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ เพราะปัจจุบันนี้แม้ว่าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่เวลาเราไปจับได้ เราทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่กรมสรรพสามิตจะเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปอยู่ในพิกัดภาษี เพื่อให้มีอำนาจในการปราบปราม และเอาผิดผู้ที่หลบเลี่ยงนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามา ตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องสังคมเช่นกัน”

ดึงดาต้าเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า กรมสรรพสามิตก็เริ่มนำดาต้าอะนาไลติกส์เข้ามาใช้ อย่างที่เพิ่งเปิดตัวศูนย์ปราบปรามออนไลน์ ก็เป็นการใช้ข้อมูลมาเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปราม และต่อไปก็จะนำมาใช้กับกระบวนการจัดเก็บภาษี เพื่อจะได้ตรวจสอบข้อมูลได้ว่า ผู้ประกอบการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่

ในยุคที่ตนเข้ามาเป็นอธิบดีได้วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรไว้ คือ กลยุทธ์ “EASE Excite” โดย E ตัวแรกมาจาก ESG ซึ่งกรมจะเน้นส่งเสริมโปรดักต์ที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ขณะที่ A คือ agile เป็นเรื่องบุคลากร เป็นการเปลี่ยนกระบวนการทำงานแบบ cross function เร็ว คล่องตัว รวมทั้งจะมีการจัดตั้ง “โรงเรียนสรรพสามิต” เพื่อสร้างให้คนสรรพสามิตมีทั้ง current skill และ new skill ที่เป็นทักษะในเรื่องดาต้าอะนาไลติกส์ เรื่องดิจิทัลอินฟอร์เมชั่น เรื่องวิธีการทำงาน

ขณะที่ S คือ สแตนดาร์ด หรือมาตรฐานที่กรมจะสร้างขึ้นเพื่อผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการ และสุดท้ายตัว E คือ end to end service ซึ่งจะยึดการให้บริการแบบลูกค้าหรือผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ไม่ทำงานแบบไซโล ตั้งแต่กระบวนการขอใบอนุญาต จดทะเบียน เสียภาษี ขอคืนภาษี ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยจะเริ่มจากสินค้าหลัก 6 ตัวก่อน ได้แก่ น้ำมัน รถยนต์ เบียร์ สุรา ยาสูบ เครื่องดื่ม ซึ่งจะเป็นการทบทวนกระบวนการทั้งหมดเพื่อให้ง่ายขึ้น