ธุรกิจโซลาร์บูมรับค่าไฟแพง โรงงานหนีตาย แห่ติดเพิ่มเท่าตัว

ค่าไฟพุ่ง โรงงาน-บ้านแห่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป หวังช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานการผลิตสินค้า-บริการ คาดตลาดโตกว่า 22% ช่างรับติดตั้งแผงโซลาร์รับงานกันแน่นตลอดเดือน ทั้งลูกค้าบ้าน-ร้านค้า-โรงงาน ด้านรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ย้ำค่าไฟทำโรงงานติดโซลาร์เพิ่มเท่าตัว

หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศผลการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่า Ft งวดที่ 1/2566 รอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นนอกเหนือไปจากที่อยู่อาศัยที่อัตรา 190.44 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสถานประกอบการประเภทต่าง ๆ-โรงงานอุตสาหกรรม-สถานบันเทิง จะต้องเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตรา 5.69 บาท/หน่วย ขณะที่ที่อยู่อาศัยเอง แม้จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเท่าเดิมตามค่า Ft งวดที่ 3/2565 หรือที่อัตรา 4.72 บาท/หน่วยก็ตาม แต่ก็เป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงต่อเนื่องกันมาตลอด

จากการสอบถามผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมหลายราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดจำนวน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี-เหล็ก-เยื่อกระดาษ-อะลูมิเนียม-หล่อโลหะ-แก้วกระจก-ปูนซีเมนต์-เซรามิก-อาหารและเครื่องดื่ม-โรงกลั่นน้ำมัน-ปิโตรเคมี เจ้าของโรงงานหลายแห่งได้ตัดสินใจหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” แม้จะไม่สามารถ cover ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นการช่วยลดต้นทุนค่าไฟในการผลิตได้บางส่วน

ตลาดโซลาร์รูฟท็อปโตปีละ 22%

ก่อนหน้านี้ได้มีการเผยแพร่บทวิเคราะห์การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจากหลายหน่วยงานที่บ่งบอกถึงความคุ้มค่าในการช่วยลดค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ค่าไฟปรับสูงขึ้นตลอดปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 โดย ttb analytics ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์การติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วงไตรมาส 2/2565 ที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 พร้อมกับประเมินว่า ตลาดโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 22% นับตั้งแต่ปี 2565-2568 หรือแตะที่ระดับ 67,000 ล้านบาท

จากค่าแผงโซลาร์เซลล์และค่าติดตั้งที่ปรับลดลง จนทำให้ระยะเวลาคืนทุนเร็วขึ้นจากเดิมที่คืนทุนในเวลา 9-12 ปีเป็น 6-8 ปีในปัจจุบัน (ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน) พร้อมกับระบุว่า ค่าอุปกรณ์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีการปรับลดลงมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จากราคา 100 บาท/วัตต์ในปี 2558 เป็น 40-50 บาท/วัตต์ในปี 2565

และยังกล่าวว่า หากค่าไฟฟ้ายังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีอัตราคืนทุนเร็วขึ้น นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปต้องการขายไฟฟ้า “ส่วนเกินจากการใช้” ให้กับ 3 การไฟฟ้า รัฐบาลก็ยังมีมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (feed-in tariff : FiT) โดยปัจจุบันอัตรารับซื้ออยู่ที่อัตรา 2.20 บาท/หน่วยด้วย

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยประเมินไว้ว่า ตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจในปี 2565 จะขยายตัวสู่ระดับ 125.9 เมกะวัตต์ (MW) หรือเติบโตราว 54.2% จากปี 2564 โดยค่าไฟที่จะประหยัดได้จริงของแต่ละธุรกิจ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ ปริมาณการใช้ไฟ เงินลงทุนในการติดตั้ง และงบการเงินของกิจการ

โดยแรงหนุนของตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจในปี 2565 จะมาจากกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง อาทิ อุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์และเหล็ก และธุรกิจในภาคบริการ เช่น โกดังสินค้า โรงแรม และค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้า ที่เน้นให้ความสำคัญกับการประหยัดต้นทุนและความคุ้มค่าการลงทุนในระยะกลางถึงยาว

บูมติดแผงโซลาร์ทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบและช่างพลังงานแสงอาทิตย์หลายราย กล่าวตรงกันว่า ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นตามการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏมีคำสั่งซื้อแผงและอุปกรณ์ในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเข้ามามาก รวมไปถึงการรับงานติดตั้งโซลาร์ ทั้งบนหลังคาบ้าน-ร้านค้า และโรงงานอุตสาหกรรม ลูกค้าส่วนใหญ่แจ้งว่า ติดตั้งเพื่อต้องการลดค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ไม่ได้หวังผลที่จะขายไฟฟ้าส่วนเกินในอัตรา 2.20 บาท/หน่วยคืนให้กับการไฟฟ้า

“ตลาดโซลาร์รูฟท็อปในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะติดตั้งบนหลังคาบ้าน หรือธุรกิจบริการที่ต้องใช้ไฟมาก ส่วนตลาดต่างจังหวัดจะเป็นการติดตั้งให้กับผู้ประกอบการร้านค้า รวมไปถึงโรงงานขนาดเล็ก และการใช้ไฟฟ้าในภาคการเกษตร โดยผู้รับติดตั้งรายหนึ่ง ๆ ตอนนี้รับงานกัน 10-15 งานต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ เพราะมีความต้องการแผงโซลาร์กันมากขึ้น” ผู้รับติดตั้งรายหนึ่งกล่าว ส่งผลให้ความต้องการแผงโซลาร์สูงตามไปด้วย

ด้านสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้ให้ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของประเทศไทยไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา กำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีปริมาณรวม 12,005 MW หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.3 โดยเป็นกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2,979.4 MW หรือคิดเป็นร้อยละ 24.88 มีผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ประมาณ 36 ราย ในจำนวนนี้ 22 รายเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์ ส่วนอีก 14 รายเป็นผู้ประกอบแผงโซลาร์

ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าและส่งออกแผงโซลาร์ออกเป็น 2 พิกัดคือ HS 85414022 โฟโตวอลตาอิกเซลล์ ที่ประกอบขึ้นเป็นโมดูลหรือทำเป็นแผง ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีนและเกาหลีใต้ กับพิกัด HS 85414021 โฟโตวอลตาอิกเซลล์ที่ยังไม่ได้ประกอบ

โรงงานแห่ติดแผงโซลาร์

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และประธานกรรมการ บริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่มีการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft ส่งผลให้ภาคเอกชนตื่นตัว มีการหันมาติดโซลาร์รูฟมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนของบริษัท นีโอ คลีนฯมีภาพการเพิ่มขึ้นถึง 50% โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่วนกลุ่มบ้านพักที่อยู่อาศัยยังไม่แพร่หลายมากนัก

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายอาทิตย์เคยให้ข้อมูลว่า โรงงานที่ใช้ไฟฟ้าประมาณ 800,000 บาท/เดือน เมื่อติดแผงโซลาร์ขนาด 1 MW จะช่วยให้ประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 500,000 บาท/เดือน ส่วนต้นทุนการติดตั้งจะอยู่ที่ประมาณ 24-25 ล้านบาท โดยไม่นับรวมระบบการกักเก็บพลังงาน

โรงงานแจ้งติด 500 คำขอ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ได้รับคำขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ที่เอกชนมองว่าจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต บวกกับความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมปฏิบัติตามมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มาตรการที่เป็น green energy เพื่อการส่งออก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานมากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการสรุปตัวเลขและพิจารณา เพียงแค่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมมีมากกว่า 500 ราย/เดือน ที่ยื่นคำขอ

สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 นั้น บ้านประเภทที่อยู่อาศัยคงเดิมที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ปรับขึ้นส่วนของไฟฟ้าประเภทอื่น อาทิ ธุรกิจ อุตสาหกรรมบริการ ฯลฯ ปรับเป็น 190.44 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยค่าไฟรวมเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย โดยกรณีที่เอกชนต้องการให้ลดค่าไฟบางส่วนลงมานั้น ก็ขึ้นอยู่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท.จะทำหนังสือยืนยันเปลี่ยนแปลงตัวเลขการทบทวนแผนบริหารหนี้ กฟผ.

และการคำนวณประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติของผู้ผลิตไฟจากภาคเอกชนใหม่ มายังสำนักงาน กกพ.ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ก็มีโอกาสที่ค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ของภาคอุตสาหกรรมก็จะปรับลดลงได้ ส่วนแนวโน้มค่า Ft งวด พ.ค.-ส.ค. 65 ขึ้นอยู่กับการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการจัดหาดีเซลป้อนสำหรับการผลิตไฟฟ้า ทดแทน LNG

ทั้งนี้ ค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ได้นำภาระการเงินและหนี้สินสะสมของ กฟผ.มาคำนวณอยู่ที่เฉลี่ย 0.33 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาทต่องวด จากยอดหนี้ทั้งหมด ณ เดือน ส.ค. 66 ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยทยอยจ่ายคืนภายใน 2 ปี ซึ่งเอกชนได้เสนอให้ชะลอการชำระคืนหนี้ กฟผ.ดังกล่าวออกไปก่อน ดังนั้นหากรัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลือ กฟผ.ให้เลื่อนการนำภาระหนี้มาคำนวณค่าไฟในงวดดังกล่าวได้ ก็จะส่งผลให้ค่า Ft อย่างน้อยลดลง 0.33 บาทต่อหน่วยได้

สำหรับกลุ่มเปราะบางผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ยังคงต้องรอความชัดเจนแนวทางช่วยเหลือจากภาครัฐ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขอให้ บมจ.ปตท.ให้พิจารณาจัดสรรเงิน 6,000 ล้านบาทมาช่วย คาดว่าจะใช้เงินในงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ที่ 8,700 ล้านบาท ซึ่งยังคงต้องรองบประมาณจากรัฐอีก 1,700 ล้านบาท ซึ่งหากการช่วยเหลือส่วนนี้มีความชัดเจนภายใน ธ.ค.นี้ ก็จะปรับลดค่าไฟส่วนนี้ได้ทันที

“ค่าไฟเอกชนที่แพงกว่าบ้านอยู่อาศัย กกพ.ยืนยันทำตามมติ กพช. ที่ให้จัดสรรก๊าซจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรก โดยไม่เพิ่มค่าไฟจากเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย จึงทำให้ราคาก๊าซส่วนนี้ลดเหลือ 238 บาทต่อล้านบีทียู จากราคาคำนวณใหม่ 493 บาทต่อหน่วย แต่ราคาก๊าซในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 542 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 49 บาทต่อล้านบีทียู” นายคมกฤชกล่าว