กกพ. แง้มลดค่าไฟภาคอุตสาหกรรม 5.69 บาท/หน่วย หาก กฟผ.-ปตท. ขอปรับหนี้ใหม่

เอกชนมีลุ้น! “กกพ.” ส่งสัญญาณลดค่าไฟภาคอุตสาหกรรม ปรับลดลงต่ำกว่า 5.69 บาทต่อหน่วยก่อนสิ้นปีนี้ หาก “กฟผ.”-“ปตท.” มีหนังสือขอเปลี่ยนแปลงตัวเลขการบริหารจัดการหนี้ใหม่

วันที่ 20 ธันวาคม 2565 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ที่ประกาศล่าสุดในส่วนของค่าไฟบ้านประเภทที่อยู่อาศัยคงเดิมที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยรวม 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ปรับขึ้นส่วนของไฟฟ้าประเภทอื่น

อาทิ ธุรกิจ อุตสาหกรรมบริการ ฯลฯ ปรับเป็น 190.44 สตางค์ต่อหน่วยหรือเฉลี่ยค่าไฟรวมเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย โดยกรณีที่เอกชนต้องการให้ลดค่าไฟลงมาบางส่วนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท.จะทำหนังสือยืนยันเปลี่ยนแปลงตัวเลขการทบทวนแผนบริหารหนี้กฟผ. และการคำนวณประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติของผู้ผลิตไฟจากภาคเอกชนใหม่

“หาก กฟผ.และ ปตท.ทำหนังสือเปลี่ยนแปลงตัวเลขต้นทุนหนี้และค่าก๊าซฯใหม่ดังกล่าวมายังสำนักงาน กกพ.ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้โอกาสที่ค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ของภาคอุตสาหกรรมก็จะปรับลดลงได้แต่ตัวเลขเท่าใดก็ต้องมาพิจารณา”

ทั้งนี้ ค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ได้นำภาระการเงินและหนี้สินสะสมของ กฟผ.มาคำนวณอยู่ที่เฉลี่ย 0.33 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาทต่องวด จากยอดหนี้ทั้งหมด ณ เดือน ส.ค. 66 ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยทยอยจ่ายคืนภายใน 2 ปี ซึ่งเอกชนได้เสนอให้ชะลอการชำระคืนหนี้ กฟผ.ดังกล่าวออกไปก่อน ดังนั้น หากรัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลือ กฟผ.ให้เลื่อนการนำภาระหนี้มาคำนวณค่าไฟในงวดดังกล่าวได้ ก็จะส่งผลให้ค่า Ft อย่างน้อยลดลง 0.33 บาทต่อหน่วยได้

สำหรับกลุ่มเปราะบางผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ยังคงต้องรอความชัดเจนแนวทางช่วยเหลือจากภาครัฐ หลังจากที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 25 พ.ย. 65 ขอความร่วมมือจาก บมจ.ปตท.ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย. 66) หรือวงเงินรวม 6,000 ล้านบาท

คงต้องรอดูว่า ปตท.จะอนุมัติจัดสรรงบฯดังกล่าวเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ซึ่งเบื้องต้น กกพ.ได้คำนวณการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามแนวทางเดิมที่เคยช่วยเหลือส่วนลดค่าไฟเป็นแบบขั้นบันได ที่คาดว่าจะใช้เงินในงวด ม.ค.-เม.ย. 65 ที่ 8,700 ล้านบาท ซึ่งยังคงต้องรองบประมาณจากรัฐอีก 1,700 ล้านบาท ซึ่งหากการช่วยเหลือส่วนนี้มีความชัดเจนภายใน ธ.ค.นี้ ก็จะปรับลดค่าไฟส่วนนี้ได้ทันที

นายคมกฤชกล่าวว่า  แนวโน้มค่า Ft งวด พ.ค.-ส.ค. 66 ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการก๊าซฯในอ่าวไทย ว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากน้อยเพียงใด เพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพง ปัจจุบันอยู่ที่ 33 ล้านเหรียญต่อบีทียู

ขณะเดียวกัน ยังต้องขึ้นอยู่กับการจัดหาดีเซลป้อนสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่จะมาทดแทน LNG มากน้อยเพียงใด รวมไปถึงนโยบายภาครัฐว่าจะจัดสรรงบประมาณหรือแนวทางใด ๆ ในการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากงวดนี้หรือไม่ หากไม่มีมาตรการใด ๆ ค่าไฟฟ้าก็จะประกาศเป็นอัตราเดียว

“ค่าไฟเอกชนที่แพงกว่าบ้านอยู่อาศัย กกพ.ยืนยันทำตามมติ กพช.ที่ให้จัดสรรก๊าซจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรก โดยไม่เพิ่มค่าไฟจากเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย จึงทำให้ราคาก๊าซส่วนนี้ลดเหลือ 238 บาทต่อล้านบีทียูจากราคาคำนวณใหม่ 493 บาทต่อหน่วย แต่ราคาก๊าซในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 542 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 49 บาทต่อล้านบีทียู “นายคมกฤชกล่าว


สำหรับความกังวลของภาคเอกชนที่มองว่าค่าไฟในไทยแพง เทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม จะส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันระหว่างประเทศหรือไม่นั้น มองว่าขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าก็แตกต่างกัน ซึ่งตอนนี้เวียดนามก็แบกรับส่วนต่างของต้นทุนค่าไฟแบบเพิ่มขึ้นแล้วเช่นกัน