ธปท.จับตาปรับขึ้น “ค่าไฟ” กระทบต้นทุน กดดันเงินเฟ้อ ปี’66 หลุดกรอบ 3%

ธนาคารแห่งประเทศไทย แบงก์ชาติ logo
REUTERS/Chaiwat Subprasom/File Photo

ธปท.มองเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวเข้าสู่ศักยภาพระดับ 3-4% หลังภาคการท่องเที่ยว-การบริโภคในประเทศหนุนจีดีพีปี 2566 ขยายตัว 3.7% ลั่นยังทำนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปักหมุดดอกเบี้ยอยู่จุดใด ชี้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนกระทบหนี้ภาคธุรกิจจำกัด จับตาปรับขึ้น “ค่าไฟ” ส่งผ่านต้นทุนกดดันเงินเฟ้อปีหน้าหลุดกรอบ 3%

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 4/2565 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้มีความท้าทายจากปัจจัยเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในรอบ 30-40 ปี

จากราคาพลังงานที่เร่งตัวสูงขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยปรับเร็ว แรง และพร้อมเพรียงกันในรอบ 50 ปี ทำให้ภาวการณ์ตึงตัว และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งเป็นบริบทที่มีความท้าทายของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งมีการฟื้นตัวจากปัญหาโควิด-19 และการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงแบบ K-Shaped Recovery

อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อของไทยมาจากอุปทาน และคาดว่าจะทยอยลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในครึ่งปีหลังของปี 2566 ทำให้นโยบายการเงินเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ได้มีเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายสุดท้าย (Terminal Rate) จะปักหมุดอยู่ที่ระดับใด

ซึ่งจะขึ้นกับพัฒนาการของเศรษฐกิจว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าการฟื้นตัวจะเต็มศักยภาพหรือไม่ และอัตราเงินเฟ้อที่มาจากอุปสงค์จะมากดดันหรือเปล่า และดูผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวสู่ดุลยภาพ

ทั้งนี้ หากดูศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential Growth Output) ยอมรับว่าในช่วงหลังศักยภาพของเศรษฐกิจไทยลดลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างตลาดแรงงานและประชากรที่สูงวัย ขณะที่การลงทุนไม่ได้มีการลงทุนเท่าที่ควร ทำให้การทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ

และปัญหาโควิด-19 กระทบการเติบโตในปัจจุบัน และส่งผลต่ออนาคต ซึ่งโดยปกติดุลยภาพการเติบโตจะต้องอยู่ที่ระดับ 3-4% ซึ่งสอดคล้องกับที่ ธปท.สอดคล้องกับประมาณการเติบโตที่ปีนี้ 3.2% และปี 2566 อยู่ที่ 3.7% และปี 2567 อยู่ที่ 3.9% อย่างไรก็ดี ปัจจัยหนุนระยะสั้นได้ลดลงไป จึงจำเป็นต้องหาการเติบโตในระยะยาว

และหากดูในระยะสั้น 2 ไตรมาสข้างหน้าแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญของไทย โดยนักท่องเที่ยว 2 ใน 3 หรือประมาณ 50% มาจากตลาดอาเซียนและเอเชีย ซึ่งในปี 2566 เศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตมากสุดหากเทียบกับเศรษฐกิจหลัก ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าวแนวนโยบายการเงินของไทยการปรับดอกเบี้ยไม่จำเป็นต้องปรับแบบกระชากหรือเปลี่ยนทิศ

“ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทย คือ เศรษฐกิจโลกจากเงินเฟ้อ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวรุนแรง ทำให้ดอกเบี้ยปรับพร้อมเพรียงกัน ทำให้เศรษฐกิจหลักชะลอตัว แต่คงไม่ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession และความเสี่ยงไม่ได้มาจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอ แต่มาจากตลาดการเงินโลกเปราะบาง หากตลาดการเงินเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้น ก็ต้องมาดูว่าจะกระทบไทยมากน้อยแค่ไหน แต่นโยบายการเงินที่ทำอยู่ยังคงเหมาะสมกับบริบทของไทย”

ส่งผ่านนโยบายการเงินเป็นไปตามคาด

นายสุธัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามคาด และสอดคล้องกับที่ประมาณการไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดสูงสุด (พีก) ในไตรมาสที่ 3/2565 และจะกลับเข้ากรอบ 1-3% ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

หากพิจารณาจากกรอบเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางและยาวค่อนข้างอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ขณะที่การส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ดอกเบี้ยสถาบันการเงิน พบว่า ธนาคารพาณิชย์มีการปรับดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ โดยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยรายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ยอยู่ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) ในอัตราที่น้อยกว่า เพื่อช่วยเหลือลูกค้า

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน จะเห็นว่ามีความกังวลจะอ่อนค่าต่อเนื่อง จากระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ สะท้อนว่าไม่ได้เป็นการอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยต้นปี-ปัจจุบันค่าเงินอ่อนค่าอยู่ที่ 4.5% จากเดิมอยู่ที่ 10% แสดงว่าเงินบาทยังคงมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ดี ธปท.ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะเป็นปัจจัยเข้ามากระทบต่อธุรกิจที่มีหนี้ต่างประเทศสูง และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

หนี้ภาคธุรกิจ-ครัวเรือนฟื้นตัวดีตามลำดับ

ทั้งนี้ หากดูข้อมูลหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 40% ของจีดีพี ทั้งในส่วนของภาคธนาคารและภาคเอกชน มีสัดส่วนเท่ากันที่ระดับ 20% ของจีดีพี อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคธนาคารค่อนข้างมีเสถียรภาพเพราะมีการบริหารจัดการที่ดี และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging)

และหากโฟกัสหนี้ต่างประเทศของภาคธุรกิจที่มีสัดส่วน 20% ของจีดีพี จากจำนวนบริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศมากที่สุด 700 แห่ง พบว่า บริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศเกิน 50% มีประมาณ 20% เท่านั้น ซึ่งบริษัทที่ไม่ได้การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมีแค่ 14% สะท้อนว่าภาคธุรกิจมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนระดับหนึ่ง ทำให้ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมีจำกัด

“ภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามคาด อัตราเงินเฟ้อยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งระยะปานกลาง และการส่งผ่านนโยบายการเงินเป็นไปตามคาดค่อยเป็นค่อยไป อัตราแลกเปลี่ยนจากเดิมที่อยู่ 38 บาทต่อดอลลาร์ ก็เริ่มอ่อนค่าน้อยลง แข็งค่าขึ้น

สะท้อนว่านโยบายการเงินยังคงทำได้ต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของการปรับดอกเบี้ยทั้งขนาดและเวลาก็คงมีความยืดหยุ่นขึ้นกับความเสี่ยง และ Normalization ก็ต้องทำควบคู่กับนโยบายบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธปท.และภาครัฐได้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ และแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้การ Normalization เกิดขึ้นได้ไม่สะดุด”

ท่องเที่ยว-บริโภคหนุนเศรษฐกิจปี 2566 โต 3.7%

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยใกล้เคียงกับตัวเลขที่ประเมินไว้ในเดือนกันยายน 2565 คาดอัตราการเติบโต (จีดีพี) ปีนี้อยู่ที่ 3.2%

และในปี 2566 อยู่ที่ 3.7% และปี 2567 อยู่ที่ 3.9% โดยแรงส่งสำคัญจะเป็นการท่องเที่ยว การบริโภคเอกชน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้น ตลาดแรงงานดีขึ้น ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศปรับดีขึ้น โดยการบริโภคไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัวอยู่ที่ 6.1% และคาดว่าท่องเที่ยวจะทำให้การบริโภคภาคเอกชนในปี 2566 ยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนภาคการส่งออกปีนี้ขยายตัว 7.4% และปี 2566 เหลือเพียง 1%

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแรงส่งสำคัญคาดว่าในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 10.5 ล้านคน จากเดิมคาดอยู่ที่ 9.5 ล้านคน ซึ่งตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 10 ธันวาคมนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว 9.5 ล้านคน จึงมองว่าปีนี้ตัวเลขน่าจะทำได้ตามคาดการณ์

และในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 22 ล้านคน จากเดิมอยู่ที่ 21 ล้านคน เนื่องจากปัจจัยทางด้าน Supply จะลดลง เช่น จำนวนเที่ยวบิน และเครื่องบินที่มีมากขึ้น จะเป็นแรงส่งให้ในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 31.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี ธปท.มองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มมาประมาณไตรมาสที่ 4/2566 อยู่ที่ 1.8 ล้านคน

“ภาคท่องเที่ยวปรับดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนศักยภาพที่นั่งในเที่ยวในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมาปรับดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขในไตรมาสที่ 4 ปีนี้จะดีกว่าไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 1/66 จะดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 4/654

และการบริโภคเองก็กลับมาจากตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้น ทั้งตัวเลขผู้รับสิทธิว่างงาน และเสมือนว่างงานปรับดีขึ้น รายได้มีการกระจายตัวดีขึ้น และลดความกังวลการขาดแคลนแรงงานจะมาเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอยู่ คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าคาด”

จับตาการส่งผ่านต้นทุนกดดันเงินเฟ้อปี 2566

นายสักกะภพกล่าวว่า สำหรับพัฒนาการอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุด (พีก) ในไตรมาสที่ 3/2565 แรงกดดันต้นทุนและราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับลดลงต่อเนื่อง และตลาดแรงงานปรับดีขึ้น ทำให้แรงกดดันจากค่าจ้างไม่ได้กดดันมากนัก ขณะที่การกระจายตัวของราคาสินค้าจะเห็นว่านับตั้งแต่ต้นปี-เดือนตุลาคม 2565 พบว่าการกระจายตัวแคบลง ราคาคงที่และปรับตัวน้อยลง ซึ่งเป็นตัวยืนยันว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของไทยมาจากปัจจัยอุปทาน

โดยตัวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ปีนี้จะอยู่ที่ 6.3% และในปี 2566 อยู่ที่ 3.0% จากเดิมอยู่ที่ 2.6% เป็นผลมาจากราคาไฟฟ้าที่จะปรับขึ้น และในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้อยู่ที่ 2.6% และปี 2566 อยู่ที่ 2.4% และในปี 2567 อยู่ที่ 2%

“เงินเฟ้อได้ผ่านจุดพีกไปแล้วที่ไตรมาสที่ 3 มาจากราคาพลังงาน โดยตัวที่จะเป็นปัจจัยทำให้เงินเฟ้อสูงหรือต่ำ คือ การส่งผ่านต้นทุนหลายด้าน ทั้งค่าไฟ และมาตรการภาครัฐที่จะชัดเจนขึ้นในปี’66

อย่างไรก็ดี ปัจจัยอะไรที่ทำให้เงินเฟ้อไม่เข้ากรอบเป้าหมาย 3% คือ เกิดช็อกในเรื่องของราคาพลังงาน แต่สิ่งที่เราต้องเฝ้ามอง คือ การส่งผ่านต้นทุนที่สูงปีนี้ที่ยังส่งผ่านไปไม่หมด และมาตรการภาครัฐที่อุดหนุนพลังงานพอสมควร และนโยบายข้างหน้าจะปรับมากน้อยแค่ไหน เช่น ค่าไฟ ภายใต้สมมุติฐานจะเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น และเงินเฟ้อพื้นฐานระดับ 3% เป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมานาน”