ธปท.เปิดเกณฑ์ เวอร์ชวลแบงก์ ม.ค.2566 ทยอยขึ้นดอกเบี้ย เงินเฟ้อลด

virtual bank

ธปท.จ่อประกาศเกณฑ์ virtual bank เดือน ม.ค.นี้ เปิดทางผู้เล่นรายใหม่เป็นผู้ให้บริการทางการเงิน เน้นเจาะกลุ่มผู้เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เดินหน้าสร้างรูปธรรม “การเงินสีเขียว” จัดทำนิยาม taxonomy นำร่องเซ็กเตอร์ “พลังงาน-ขนส่ง-อุตสาหกรรม-เกษตรกรรม” พร้อมฟันธงเศรษฐกิจไทยปีหน้าฝ่าความผันผวนโตเกิน 3% ตอกย้ำดำเนินนโยบายขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป “ได้ผล” กดเงินเฟ้อทยอยลดลง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “Financial Landscape Thailand’s Economic Challenge in 2023 ภูมิทัศน์ใหม่การเงิน-ความท้าทายเศรษฐกิจไทย 2023”

ว่า เป้าหมายการวางรากฐานเรื่องดิจิทัลของ ธปท.ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับผู้เล่นรายใหม่ผ่านธนาคารเสมือนจริง (virtual bank) ซึ่งภายในเดือน ม.ค. 2566 ธปท.จะออกหลักเกณฑ์เรื่องนี้ และจะเปิดฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ธปท.ต้องการให้ผู้เล่นรายใหม่ที่เป็น virtual bank เข้ามาช่วยตอบโจทย์กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน หรือกลุ่ม underserved และกลุ่มที่บริการการเงินแบบ physical finance ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อสร้างประโยชน์และโอกาสให้กับเศรษฐกิจโดยไม่ให้เกิดผลกระทบด้านเสถียรภาพ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะภาคการเงินมานาน ซึ่งการเงินดิจิทัลจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชน หรือธุรกิจใหม่ ๆ เข้าถึงภาคการเงินได้มากขึ้น ธปท.จึงเน้นเรื่อง responsible innovation หรือนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่นวัตกรรมที่สร้างความเสี่ยงจนเกินไป

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า ปีหน้า ธปท.ยังจะเร่งผลักดัน กำหนดนิยาม (taxonomy) เพื่อรองรับกระแสดูแลสิ่งแวดล้อม ที่มาเร็วและมาแรง เป็นเกณฑ์กติกาที่ต่างประเทศให้ความสำคัญ ซึ่ง taxonomy จะเริ่มจากภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เป็นลำดับแรก

รวมถึงร่วมกับสมาคมธนาคารไทย (TBA) จัดทำ industry handbook ให้สถาบันการเงินนำไปผนวกกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถาบันการเงินจะนำไปใช้ เพราะถ้ากำหนดให้ทำเร็วเกินไป จะทำให้ธุรกิจรายเล็กปรับตัวไม่ทัน หรือถ้าทำช้าเกินไปต้นทุนจะสูงขึ้น

“ธปท.จะต้องทำให้การเปลี่ยนผ่าน มีอุปสรรคและต้นทุนน้อยที่สุด โดยสิ่งที่จะเร่งผลักดัน จะเป็นการจัดทำ taxonomy ว่า อะไรที่เป็น green หรือ brown และการจะทำให้ brown น้อยลงจะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะต้องทำให้ชัดเจนและเพื่อให้สถาบันการเงินสามารถนำไปปฏิบัติได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จะมีการกำหนด standard practice เป็นแนวทางที่ควรไป” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้า ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวชัดเจน เป็นผลมาจากธนาคารกลางหลัก ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรง เหยียบเบรกให้เศรษฐกิจชะลอ และยังมีผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าเร็ว มีผลต่อตลาดการเงินโลกผันผวน

“ที่มาของความเสี่ยงไม่ได้มาจากการระบาดของโควิด-19 แต่มีความเสี่ยงมาจากหลากหลายมิติ เช่น สงครามระหว่างประเทศ ทำให้ราคาพลังงานและอาหารสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวจะกระทบประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศสูง จะเป็นเหมือนน้ำลด ตอผุด แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะไปโผล่ที่ไหน ซึ่งในสภาวการณ์แบบนี้เป็นเหมือนฝนตก ทางมืด ถนนลื่น ย่อมมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่แล้ว” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยมองว่าจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดโตได้ 3.2% ส่วนปี 2566 มีโอกาสค่อนข้างมากที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้มากกว่า 3%

โดยคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3.7% แม้จะมีความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และกระทบต่อภาคการส่งออกไทย ซึ่งคาดว่าจะโตได้ 1% แต่จะมีปัจจัยบวกจากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 20 ล้านคน

“ตลาดการเงินไทยจะได้รับผลกระทบอยู่แล้ว แต่คงไม่ได้ถึงขั้นสะดุดรุนแรง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะหากดูความเข้มแข็งทางด้านต่างประเทศค่อนข้างดี ความเปราะบางทางด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างน้อย แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้จะขาดดุล แต่จากแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2566 ที่ปรับดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกได้”

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายจากนี้ โจทย์ระยะสั้น คือ 1.การปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ โดยทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องปรับนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แตกต่างจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน ดังนั้น การทำอะไรที่ตอบโจทย์ด้านเดียวมักจะทำไม่ได้ อย่างตอนแรกเงินเฟ้อสูง หลายคนก็บอกว่าให้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่านี้

แต่ถ้า ธปท.ทำแบบนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลยแม้จะไม่กระทบภาระหนี้ครัวเรือน แต่ความเชื่อมั่นของคนต่อการคุมเงินเฟ้อก็จะลดลง แล้วเงินเฟ้อก็จะไม่กลับลงสู่กรอบ

“แม้ว่าจะมีคำถามว่าไทยขึ้นดอกเบี้ยช้าและน้อยไป เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ปรับดอกเบี้ย 0.50-0.75% แต่ไทยขึ้น 0.25% ซึ่งเป็นการปรับตามบริบทของไทย เพราะต่างประเทศเจอปัญหาเงินเฟ้อสูงจากเศรษฐกิจร้อนแรง แต่ไทยเงินเฟ้อมาจากอุปทาน ราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น และจากการทำนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็ได้ผล

เงินเฟ้อทยอยลดลงจากที่สูงสุด (พีก) อยู่ที่ 7.9% ลงมาที่ 6.4% และ 6% ตัวเลขล่าสุด 5.5% โดยจะทยอยลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2566”

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ส่วนโจทย์ระยะยาว คือ การทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน โดยปัญหาหนี้ครัวเรือน จะต้องทำให้ลดลงมาอยู่ในระดับยั่งยืนที่ 80% ของ GDP ซึ่งจะต้องแก้หนี้แบบครบวงจร ทั้งก่อนก่อหนี้ เป็นหนี้ และเมื่อมีปัญหาการชำระหนี้ ภายใต้การสร้างรายได้ โดยมาตรการจะต้องเป็นเฉพาะจุดมากขึ้น พยายามลดมาตรการในลักษณะปูพรมลง