กัลฟ์-AIS ดอดดีลกรุงไทย 3 ยักษ์ ผนึกลุย “ธนาคารไร้สาขา”

ยักษ์ธุรกิจ

3 ยักษ์ธุรกิจสื่อสาร-พลังงานและธนาคาร “เอไอเอส-กัลฟ์-แบงก์กรุงไทย” ซุ่มเซ็นเอ็มโอยูร่วมลงทุนลุย “เวอร์ชวลแบงก์” ผสานจุดแข็งเทคโนโลยี-ฐานลูกค้ากว่า 50 ล้านคน เปิดบริการ “ธนาคารไร้สาขา” ลดต้นทุนบริการ ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ จับตา GULF ขยายฐานธุรกิจการเงินเต็มตัว ธปท.เตรียมเคาะหลักเกณฑ์ใบอนุญาต virtual bank ปี 2566

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมบอร์ดได้มีมติอนุมัติให้ SCBX เข้าซื้อหุ้นส่วน 50% ในบริษัทร่วมทุน “เอไอเอสซีบี” (AISCB) จากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยกเลิกดีลร่วมทุนของเอสซีบีกับเอไอเอสที่ก่อตั้งเมื่อ 25 ตุลาคม 2564 เพื่อให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (digital lending) หลังจากจัดตั้งบริษัทร่วมทุนมา 1 ปี โดยที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงาน

ขณะที่ล่าสุดก็มีการยืนยันว่า ทางเอไอเอสซึ่งยังคงมีเป้าหมายการเข้าสู่บริการทางการเงิน ได้มีการจับมือกับพันธมิตรรายใหม่คือ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB

KTB ฉกดีล AIS-GULF

แหล่งข่าวจากแวดวงการเงินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การยกเลิกบริษัทร่วมทุน AISCB เป็นเพราะว่าบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเอไอเอส มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น โดยที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีการเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ เมื่อ 21 ตุลาคม 2564

ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทชุดใหม่จึงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายและทบทวนโครงการร่วมทุน ทำให้ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แผนงานของ AISCB จึงไม่มีความคืบหน้า และนำมาสู่การยุติโครงการร่วมทุนดังกล่าว

ขณะที่ล่าสุดทางบริษัทเอไอเอส และกัลฟ์ ได้มีการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับธนาคารกรุงไทย (KTB) เพื่อศึกษาแผนการร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ “virtual bank” หรือ “ธนาคารไม่มีสาขา” เรียบร้อยแล้ว เตรียมพร้อมที่จะยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

3 ยักษ์จับมือลุย Virtual Bank

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้ รูปแบบบริการ virtual bank โดยหลักก็คือเป็นผู้ให้บริการทางการเงินเหมือนธนาคารพาณิชย์ แต่อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนการให้บริการ สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตที่เป็นรูปแบบของสังคมไร้เงินสดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ virtual bank ประสบความสำเร็จต้องมีพาร์ตเนอร์หลายฝ่าย ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าเปิด virtual bank ไม่ใช่มีแค่เทคโนโลยี แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำธุรกิจแบงก์ด้วย จึงจะทำให้ virtual bank ประสบความสำเร็จได้

แหล่งข่าวระบุว่า ในต่างประเทศที่มีบริษัทเทคสตาร์ตอัพโดดเข้ามาเป็นผู้ให้บริการ virtual bank จำนวนมาก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังขาดประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการหลอมรวมจุดแข็งของ 3 ยักษ์จากวงการโทรคมนาคม, พลังงาน และธนาคาร ในการร่วมกันสร้างรูปแบบบริการทางการเงินแห่งอนาคต ที่ไม่ต้องมีสาขา ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการให้บริการลดลง และผู้ใช้บริการก็มีต้นทุนที่ลดลงด้วย รวมทั้งการสร้างบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น และสิ่งสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

GULF สู่ธุรกิจการเงินเต็มตัว

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับ GULF ยักษ์ใหญ่ธุรกิจไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ที่มีนายสารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งหลังจากได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือเป็นการเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงการร่วมมือกับ “สิงเทล” ในการร่วมศึกษาและจัดตั้งธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย

ขณะเดียวกันในช่วงปี 2565 ทาง GULF ก็ได้มีการขยับขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงจัดตั้งบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด เพื่อพัฒนาและดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย

สำหรับการเอ็มโอยูร่วมกับเอไอเอสและธนาคารกรุงไทย เพื่อเข้าสู่ธุรกิจ virtual bank ก็ถือเป็นการรุกเข้าสู่ธุรกิจให้บริการทางการเงินของกัลฟ์อย่างเต็มตัว ในการผสานจุดแข็งของกิจการในเครือกับพันธมิตรแบงก์กรุงไทย ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่มากกว่าแค่การให้บริการ digital lending ตามแผนเดิมที่มีการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท AISCB กับธนาคารไทยพาณิชย์

ทั้งนี้ รูปแบบของ virtual bank จะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อน เป็นการใช้ AI และ big data ในการสร้างบริการทางเงินรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ด้วยการใช้ลูกเล่นที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่นกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจพฤติกรรมและรูปแบบการใช้จ่ายเงินของตนได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสรุปออกมา

เอไอเอสฐานลูกค้า 50 ล้านราย

ขณะที่จุดแข็งของเอไอเอส คือเป็นผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายที่มีฐานลูกค้ามือถือจำนวนมาก โดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอไอเอสได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าปัจจุบันมีฐานลูกค้ามือถือ 45.6 ล้านหมายเลข (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/65) และลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ซึ่งหลังการควบรวมกับ 3BB ฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้านของเอไอเอสเติบโตจากระดับ 2 ล้านราย เพิ่มเป็นประมาณ 4.4 ล้านราย รวมทั้งมีโครงข่ายไฟเบอร์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด

นอกจากฐานลูกค้าในมือมากกว่าครึ่งประเทศ ซึ่งหมายถึงฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า พฤติกรรมของลูกค้าจำนวนมหาศาลที่จะมาใช้ในการนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแรง และกระแสเงินสดของบริษัทที่ค่อนข้างมาก

อิทธิฤทธิ์ “เป๋าตัง”

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับธนาคารกรุงไทย แม้ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่รัฐถือหุ้นใหญ่ แต่ในช่วงที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของนายผยง ศรีวณิช เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 “ธนาคารกรุงไทย” ได้แสดงบทบาทในการเป็นพันธมิตรของรัฐบาล ตอบสนองต่อนโยบายและการขับเคลื่อนมาตรการเป็นอย่างดี ในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปถึงประชาชน โดยเฉพาะแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่กลายเป็นพระเอก ทำให้ประชาชนมากกว่าครึ่งประเทศรู้จักและใช้บริการโมบายแบงกิ้งในเวลาอันรวดเร็ว ภายใต้ยุทธศาสตร์ Open Banking

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังได้ต่อยอดบริการอื่น ๆ ผ่านแอป “เป๋าตัง” ทั้งบริการด้านสุขภาพ การออม และการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการขายพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ของเอกชน ก็ประสบความสำเร็จ เป็นการช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารกรุงไทย ทั้ง Krungthai Connext, เป๋าตัง และถุงเงิน มากกว่า 40 ล้านคน ทั้งในแง่บุคคล และธุรกิจ

ธปท.เคาะ Virtual Bank ปีหน้า

ขณะที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565 ว่า ธุรกิจการเงินดิจิทัลเป็นเรื่องที่มาเร็วและมาแรง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลจากน็อนแบงก์เกิดขึ้นมาก และอีกเรื่องที่กำลังมาคือ virtual bank หรือแบงก์ไม่มีสาขา ที่จะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงิน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แต่ละคนได้ และให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น บนต้นทุนที่ถูกลง โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เรื่อง virtual bank ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุย และจะมีการเปิดเฮียริ่งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งคาดจะสามารถเปิดหลักการ หลักเกณฑ์ ได้ต้นปีหน้า และคาดว่าจะสามารถให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการได้ปี 2567

เตือนคุ้มครองผู้ใช้บริการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ธปท.ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางของภูมิทัศน์การเงิน ซึ่งรวมถึงในส่วนของการเปิดให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นในระบบการเงินไทย เช่น กรณีการเปิดให้ผู้เล่นรายใหม่และรายเก่าจัดตั้ง virtual bank หรือธนาคารไร้สาขาที่มีต้นทุนถูกกว่าธนาคารแบบดั้งเดิม ซึ่งจะตอบโจทย์การให้บริการผู้บริโภคมากขึ้น และทำให้ธนาคารมีการแข่งขันในรูปแบบใหม่มากขึ้น


โดยจากการเปิดรับฟังความคิดเห็น ธปท.ได้สรุปประเด็นข้อคิดเห็นที่เข้ามาบางส่วนมีความกังวลว่า การเปิดให้มี virtual bank เป็นผู้เล่นใหม่ในระบบ ต้องพิจารณาถึงผลกระทบในมิติต่าง ๆ เช่น ความสมดุลของการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด โดยผู้เล่นประเภท BigTech หรือกลายเป็นช่องทางที่ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากการแข่งขันให้สินเชื่อกับลูกค้ากลุ่มเดิม รวมถึงการให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของ virtual bank ซึ่งไม่มีสาขา