ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยันเงินทุนไหลเข้ายังปกติ ส่งซิกไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

“ดร.เศรษฐพุฒิ” มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ยืนได้ 3% อานิสงส์การบริโภค-ท่องเที่ยว คาดเข้าไทย 8 ล้านคน หนุนการเติบโต ยันเงินไหลเข้า-ไหลออกไม่มีสัญญาณผิดปกติ เงินบาทผันผวนเหตุจากนโยบายสหรัฐ พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป โอกาสเหยียบเบรกเศรษฐกิจแรงมีน้อย ชี้จ่อเปิดเกณฑ์ “Virtual bank” ก.ย.นี้ เผยห่วงหนี้ครัวเรือน แต่ต้องแก้ปัญหาจากรายได้ หลังช่วง 10 ปีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 30%

วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Thailand Focus 2022 : The New Hope” ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า สำหรับแนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการเติบโต เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เปลี่ยนไป

โดยตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ไตรมาสที่ 2/65 ออกมาที่ 2.5% ต่ำกว่าคาด แต่หากดูไส้ในพบว่าการบริโภคเติบโตถึง 6.9% ทำให้การฟื้นตัวมาจากปัจจัยภายในประเทศ และรายได้ของประชาชนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้นอกภาคเกษตรที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องในสองไตรมาส จึงคาดว่าอุปสงค์ภายในประเทศเติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวเข้ามาเสริมการเติบโต และในระยะข้างหน้าภาพก็ยังคงดีอยู่ จากเดิมมองจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 6 ล้านคน แต่ปัจจุบันคาดว่าจะเกิน 8 ล้านคน โดยในช่วง 7 เดือนแรกจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.9 ล้านคน ดังนั้น ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีในปีนี้ยังยืนอยู่ที่ระดับ 3% จากประมาณการเดิมในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 3.3% และในปี 2566 อยู่ที่ 4%

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่กังวลคือ ปัจจัยที่ทำให้ภาคท่องเที่ยวไม่ได้มาตามคาดการณ์ไว้ เช่น เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส หรือความขัดแย้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่แปลกประหลาดเกิดขึ้น เพราะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าที่สำคัญที่สุด คือท่องเที่ยว เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยภาคท่องเที่ยวมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 12% ของจีดีพี และคิดเป็น 20% ของการจ้างงาน

“เดิมปีนี้เรามองอยู่ที่ 3.3% แต่เรายังคงสบายใจตัวเลข 3% ซึ่งไส้ในไตรมาสที่ 2 อุปสงค์มาได้ดี แต่ที่ต่ำกว่าคือการผลิตที่ยังน้อย แต่ที่ผ่านมาสต๊อกค่อนข้างเยอะ แต่ระยะข้างหน้าอุปสงค์เริ่มกลับมา คาดว่าการผลิตน่าจะดีขึ้นในไตรมาสหลัง ๆ แต่สบายใจหน่อยเราไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะการฟื้นตัวเรามาจากภายในประเทศและท่องเที่ยว เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจชะลอ แต่นักท่องเที่ยวก็ยังคงมา เพราะบ้านเราถูกกว่า และฐานที่ต่ำจากช่วงโควิดที่เข้ามา 4 แสนคน มาเป็น 8 ล้านคน”

ยันเงินไหลเข้า-ไหลออกสัญญาณปกติ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่านั้น มองว่าความผันผวนเป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น แต่ความผันผวนที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยดอลลาร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุมไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับโทนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่ ธปท.พยายามทำให้ความผันผวนไม่อยู่ในระดับที่เกินไป โดยไทยใช้นโยบาย Manage Float ซึ่งปล่อยเป็นไปตามกลไกตลาด เช่น อ่อนค่าก็ปล่อยให้อ่อนค่า แข็งค่าก็ปล่อยให้แข็ง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าตอนนี้มีความผันผวนค่อนข้างสูงจริง แต่เชื่อว่าหลังจากเฟดส่งสัญญาณชัดเจนความผันผวนจะเริ่มลดลง และหากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคจะเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่สัญญาณการเก็งกำไร หากดูกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) นับตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันพบว่าเป็นการไหลเข้าสุทธิราว 4,800 ล้านเหรียญ

“ก่อนหน้านี้คนก็เป็นห่วงเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยว่าเงินจะไหลออก แต่ตอนนี้กลับมาห่วงเรื่องเงินไหลเข้า ซึ่งมองว่าเงินไหลเข้าและไหลออกเป็นเรื่องปกติ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่เห็นสัญญาณแปลกประหลาดของความผิดปกติของเงินไหลเข้าและออก”

ส่วนค่าเงินบาทต่อภาคการส่งออกนั้น มองว่าความสัมพันธ์ของค่าเงินกับการส่งออกจะเป็นเรื่องของส่วนต่างกำไร (มาร์จิ้น) แต่การส่งออกจะสัมพันธ์โดยตรงกับเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกอาจปรับลดลงและถูกกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้า แต่จากเงินบาทที่อ่อนค่าจะช่วยชดเชยกับปริมาณที่ปรับลดลงได้

โอกาสขึ้นดอกเบี้ยแรง-เหยียบเบรกเศรษฐกิจมีน้อย

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยถือว่าตอนนี้มีการ Normalization สู่สภาวะปกติ ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็อยากเห็นดอกเบี้ยในตลาดการเงินเข้าสู่ภาวะปกติด้วย หากเป็นภาวะปกติ จะเห็นการส่งผ่านไปสู่ธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างเร็ว แต่ด้วยบริบทเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว และยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 อีกทั้งการฟื้นตัวมีความเหลื่อมล้ำสูง ไม่เท่าเทียม บวกกับครัวเรือนยังมีรายได้ต่ำ เอสเอ็มอียังไม่ฟื้นตัว ดังนั้น การส่งผ่านดอกเบี้ยจึงไม่ได้แรง แต่เชื่อว่าการส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจต้องใช้เวลา

ซึ่งสิ่งที่ ธปท.อยากเห็น คือการปรับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อผ่านไปสักระยะเชื่อว่าเดี๋ยวกลไกก็ทำงานของมันเอง เช่นเดียวกัน เงินฝากที่ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบมีอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น การส่งผ่านดอกเบี้ยด้านเงินฝากจึงมีไม่มาก

ดังนั้น ธปท.จะมีการเหยียบเบรกแรงหรือไม่ เพื่อชะลอการขึ้นของเงินเฟ้อ อันนี้ต้องดูบริบทของเรา ซึ่งมีอยู่ 3 เรื่องหลักคือ 1.ดูว่าเราอยู่ตรงไหนของวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือ Economic Cycle 2.หน้าตาเงินเฟ้อเป็นอย่างไร ซึ่งหากดูเงินเฟ้อของไทย ไม่เหมือนสหรัฐ หรืออังกฤษ ที่เงินเฟ้อมาจาก demand side ซึ่งต่างกับไทยที่เงินเฟ้อมาจาก Supply-Side

และ 3.โครงสร้างเศรษฐกิจไทย โอกาสเกิดเงินเฟ้อฝังลึก Wage-price Spiral น้อยกว่าคนอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งหากเงินเฟ้อจะวิ่งไปเรื่อย ๆ จะต้องมี supply shock ต่อเนื่อง ถามว่ามีโอกาสหรือไม่ มีน้อย ดังนั้น โอกาสที่จะเหยียบเบรกแรงมีน้อยเช่นเดียวกัน แต่หากมีความจำเป็นก็พร้อมที่จะทำ

“มองไปข้างหน้าการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะการฟื้นตัวบางอย่างยังไม่เท่าเทียมกัน”

โจทย์หลักเศรษฐกิจต้อง Smooth Takeoff

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามเงินเฟ้อ ว่ามี demand side มากขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะเป็นตัวที่ทำให้ ธปท.ต้องปรับนโยบายการเงินให้เร็วขึ้น ส่วนตอนนี้มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ ตอบว่าไม่ เพราะเศรษฐกิจไทยวันนี้กำลังการผลิตยังเหลืออยู่มาก ขณะที่ตลาดแรงงานยังไม่เกิด overheat หรือร้อนแรงมากมาย แต่ระยะข้างหน้าต้องติดตามเรื่องการส่งผ่าน ค่าแรงต่าง ๆ

ทั้งนี้ โจทย์ของ ธปท.คือต้องการให้เป็น Smooth Takeoff เพื่อให้กลไกของระบบการเงินต้องทำงานใกล้เคียงปกติ แต่ไม่ควรรัดกุมเกินไป จะทำให้ Smooth Takeoff ไม่เกิด ดังนั้น การทำนโยบายการเงินจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และอยากให้กลไกการปล่อยสินเชื่อเกิดความต่อเนื่อง ซี่งหากดูการเติบโตสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ยังอยู่ระดับสูง ทั้งเทียบกับระดับก่อนโควิด-19 และเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

แต่มีบางจุดที่ยังไม่ค่อยพอใจ สินเชื่อยังไม่ไปในจุดที่ต้องการเห็น ดังนั้น สินเชื่อฟื้นฟูที่จะหมด เม.ย. 2566 หากจำเป็นก็สามารถต่อได้ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยัง Uneven ยังไม่เท่าเทียมกันและมีจุดเปราะบางค่อนข้างมาก ดังนั้น ระบบธนาคารพาณิชย์จะมีส่วนช่วยดูแลพวกเหล่านี้ จึงต้องมีมาตรการต่าง ๆ มารอบรับ เช่น มาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ที่จะออกมา 26 ก.ย.นี้ รวมถึงมาตรการอื่น ๆ เพื่อรองรับกลุ่มที่ฟื้นตัวช้า แต่หากดูมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็เชื่อว่าค่อนข้างเพียงพอ แต่จุดสำคัญคือทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิผล implement

จ่อเปิดเกณฑ์ Virtual bank-Digital Payment

ส่วนความคืบหน้าการดูแลเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) หลัก ๆ จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่วนที่ ธปท.ดูแลเป็นหลักจะดูที่เกี่ยวโยงกับธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับความเสี่ยง จึงเป็นที่มาของการกำหนดเพดานการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน

อย่างไรก็ดี ไม่เฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น แต่เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลจะทยอยออกมาหลังจากนี้ เช่น การอนุญาตเรื่อง การเปิดธนาคารโดยไม่มีสาขา (virtual bank) ที่ ธปท.กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการตามจุดยืนของ ธปท. หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว รวมถึง Digital Payment ที่จะออกมาในวันที่ 15 ก.ย.นี้ และจะมีทยอยออกมาหลังจากนี้อีก

แก้หนี้ครัวเรือนต้องแก้ด้วยรายได้

ส่วนหนี้ภาคครัวเรือน ธปท.ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่กังวลมาก และพูดมายาวนาน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 30% ของจีดีพี และหากดูในช่วงที่มีโควิด-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำมาอย่างยาวนาน เพราะการแก้ปัญหาต้องใช้เวลา คงไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว และในบริบทของกลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า รายได้ต่ำ กลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ยังคงได้รับผลกระทบและการดูแล อย่างไรก็ดี คงไม่ได้กระทบต่องบดุล หรือ Balance Sheet ของธนาคาร แต่ในมุมลูกหนี้จะลำบากมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ธปท.จึงมีมาตรการต่าง ๆ มารองรับกลุ่มนี้ โดยจะต้องทำให้เกิดผลมีประสิทธิภาพ (Execution) เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืน 3 ก.ย. 64 และจะมีการจัดโครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องแก้ด้วยรายได้ด้วย เพราะถ้ารายได้ไม่กลับมา การแก้หนี้ครัวเรือนก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น จะต้องทำให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างราบรื่น และดูแลเงินเฟ้อ เพราะหากเงินเฟ้อสูงจะกระทบต่อค่าครองชีพ และสุดท้ายหนี้ครัวเรือน