โรงงานอ่วมค่าไฟพุ่ง 5.69 บาท สินค้า 45 กลุ่มพาเหรดขึ้นราคา

ค่าไฟ

กกพ.ขึ้นค่า Ft ทำกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมค่าไฟพุ่ง 5.69 บาท/หน่วย สภาอุตฯโอดรัฐไม่ฟังย้ำจุดยืนต้องชะลอการขึ้นค่า Ft เผยกระทบหนัก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม พาเหรดปรับขึ้นราคาสินค้า จำแนก 3 กลุ่มตามการใช้ไฟฟ้าพบ “เหล็ก-เคมี-กระดาษ-แก้วกระจก-ปูนซีเมนต์-เซรามิก-โรงกลั่นน้ำมัน/ปิโตรเคมี-หล่อโลหะ-อาหารเครื่องดื่ม” โดนหนักสุด ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น 9-12% ส่งผลกระทบความสามารถในการแข่งขันส่งออก ด้านกรมการค้าภายในแตะเบรกขู่ห้ามขึ้นราคาสินค้า

หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศผลการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่า Ft งวดที่ 1/2566 ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่อัตรา 93.43 สตางค์/หน่วย กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่อัตรา 190.44 สตางค์/หน่วย

แม้จะทำให้ค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยยังคงเรียกเก็บในอัตราเดิมคือ 4.72 บาท/หน่วย แต่ค่าไฟฟ้าประเภทอื่น (นอกเหนือไปจากที่อยู่อาศัย อาทิ สถานประกอบการ-ร้านค้า-โรงงานอุตสาหกรรม-สถานบันเทิง-ค้าบริการต่าง ๆ) ถูกปรับขึ้นไปถึง 5.69 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงมาก

ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เคยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลตรึงค่า Ft และชะลอการขึ้นค่าไฟฟ้าออกไปก่อนผ่านทาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มาอย่างต่อเนื่อง

เงินช่วยเหลือ ปตท.ยังเงียบ

ในประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้อ้างอิงมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 มีสาระสำคัญอยู่ที่แนวทางบริหารจัดการ “ก๊าซธรรมชาติ” เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ม.ค.-เม.ย. 66 ตรงกับงวดค่า Ft 1/2566) ด้วยการ

1) ให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรก

2) ให้ ปตท.คิดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้ประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรปรับอัตราค่า Ft ตั้งแต่เดือนที่ กพช.และให้นำ “ส่วนต่าง” ของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บดังกล่าวไป “ทยอยเรียกเก็บคืน” ในการคำนวณค่า Ft รอบถัดไป (รอบ 2/2566 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม)

โดยแนวทางการบริหารจัดการตามมติ กพช.ข้างต้น รวมกับแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน ส่งผลให้มีการปรับปรุงสมมุติฐานราคานำเข้า LNG spot อ้างอิงตามแนวโน้มที่ดีขึ้น การดำเนินการทั้งหมดส่งผลให้ประมาณการราคา pool gas ลดลงจาก 552 บาทต่อล้าน BTU เป็น 493 บาทต่อล้าน BTU

การคำนวณโดยแบ่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหลังโรงแยกเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าให้บ้านอยู่อาศัยก่อน ทำให้บ้านอยู่อาศัยสามารถใช้ก๊าซในราคา 238 บาทต่อล้าน BTU และจัดสรรก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยส่วนที่เหลือรวมกับก๊าซจากสหภาพเมียนมาและ LNG สำหรับผู้ใช้ก๊าซรายอื่น ๆ (pool gas ส่วนเหลือ) ในราคา 542 บาทต่อล้าน BTU

ส่วนภาระหนี้สะสมที่เกิดจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ที่สูงประมาณ 120,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ค่า Ft ในปี 2566 สูงขึ้น เพื่อนำเงินมาใช้หนี้คืน กฟผ. นอกเหนือไปจากค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ก๊าซ LNG) นั้น กฟผ.ได้เสนอให้ใช้วิธี “เฉลี่ยยอดหนี้” ณ เดือนสิงหาคม 2565 จำนวน 122,257 ล้านบาท โดยเฉลี่ยการเรียกเก็บไปเป็นเวลา 2 ปี

มีข้อน่าสังเกตว่า 1) เหตุผลในการปรับขึ้นค่า Ft รอบนี้ของ กกพ. ไม่ได้กล่าวถึงการขอความร่วมมือจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการพิจารณาจัดสรรเงินรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติประมาณเดือนละ 1,500 ล้านบาท เป็นเวลา 4 เดือน รวม 6,000 ล้านบาท มาช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าด้วยการให้เป็น “ส่วนลด” ราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับ กฟผ.

ประกอบกับการประชุม คณะกรรมการ ปตท.ครั้งล่าสุด (15 ธ.ค. 2566) ก็ไม่มีมติการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษด้วย แต่เมื่อพิจารณาผลประกอบการในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ในส่วนธุรกิจโรงแยกก๊าซของ ปตท.กลับพบว่า รายได้และกำไรของโรงแยกก๊าซลดลง

2) การประกาศขึ้นค่า Ft งวด 1/2566 อันมีผลทำให้ค่าไฟนอกเหนือกลุ่มที่อยู่อาศัยถูกปรับขึ้นไปถึง 5.69 บาท/หน่วยนั้น “ใกล้เคียง” กับกรณีที่ 2 ในเอกสารรับฟังความคิดเห็นของ กกพ.ในการคำนวณค่า Ft งวด 1/2566 ที่เสนอให้เรียกเก็บค่า Ft จำนวน 191.64 สตางค์/หน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการสะท้อนต้นทุน 158.31 สตางค์/หน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. 33.33 สตางค์/หน่วย

โดย กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าตามแนวทางนี้ถูกปรับขึ้นเป็น 5.70 บาท/หน่วย เพียงแต่การประกาศค่า Ft รอบนี้ถูกแยกเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มที่อยู่อาศัยไม่ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า กับกลุ่มนอกเหนือจากที่อยู่อาศัย ต้องเสียค่าไฟฟ้าในอัตราสูงถึง 5.69 บาท/หน่วย

กระทบ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากรัฐพิจารณาปรับขึ้นค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากจากปัจจุบันเฉลี่ยค่าไฟที่ 4.72 บาท/หน่วย จะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าโดยเฉลี่ยประมาณ 5-12%

ขณะเดียวกันยังจะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างมาก รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI ที่กำลังย้ายฐานท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย “เราขอย้ำจุดยืนที่เรียกร้องให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่า Ft ประจำงวดที่ 1/2566 (มกราคา-เมษายน 2566) ออกไปก่อน เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคการผลิต” นายเกรียงไกรกล่าว

ล่าสุด ส.อ.ท.ได้ประเมินการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมในอัตราที่สูงติดต่อกัน 2 งวด จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้าและบริการต้องปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และจะทำให้อัตรา “เงินเฟ้อ” ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.8 ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนและส่งออก เนื่องจากต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น เวียดนาม-อินโดนีเซีย

45 อุตสาหกรรมใช้ไฟเยอะ

สำหรับ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมมีการใช้ไฟฟ้ามากสุดถึงน้อยสุด สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มที่มีการใช้ไฟฟ้ามากจำนวน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมี, เหล็ก, เยื่อและกระดาษ, อะลูมิเนียม, หล่อโลหะ, แก้วกระจก, ปูนซีเมนต์, เซรามิก, อาหารและเครื่องดื่ม, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, ปิโตรเคมี จะได้รับผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 9-12%

2) กลุ่มที่มีการใช้ไฟฟ้าปานกลางจำนวน 16 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ยาง, พลาสติก, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, ยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, เฟอร์นิเจอร์, ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น, โรงเลื่อยและโรงอบไม้, เครื่องจักรกลการเกษตร, เครื่องจักรกลและโลหะการ, ต่อเรือและซ่อมแซม, ก่อสร้างและงานเหล็ก, แกรนิตและหินอ่อน, น้ำตาล, น้ำมันปาล์ม, หลังคาและอุปกรณ์ โดยจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 6-8%

และ 3) กลุ่มที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อยมีจำนวน 18 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องสำอาง, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพร, ยา, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์, เทคโนโลยีชีวภาพ, ดิจิทัล, อัญมณีและเครื่องประดับ, หัตถกรรมสร้างสรรค์, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, รองเท้า, สิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม, ผู้ผลิตไฟฟ้า, พลังงานหมุนเวียน, การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และก๊าซ โดยจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นประมาณไม่เกิน 5%

กรมการค้าภายในเชื่อภาพรวมไม่กระทบสูง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ผลิตอาหารเฉลี่ย 5-15% ในระดับแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจใดใช้เครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้ามากหรือน้อย เช่น หากเป็นกลุ่มธุรกิจห้องเย็นจะมีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนสูง 60-80% และขึ้นอยู่กับประเภทพลังงานที่เอกชนแต่ละรายใช้ด้วย ส่วนการปรับราคาสินค้า “อาจจะเป็นไปได้ยาก”

โดยเฉพาะสินค้าอาหารบางกลุ่มที่จัดเป็น “สินค้าควบคุม” อาจจะหมดสิทธิที่จะมีการปรับขึ้นราคา เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่ต้องขอความร่วมมือเพื่อดูแลประชาชน ส่วนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ก็จะได้รับแรงกดดันน้อย

สอดคล้องกับ ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์การปรับค่าไฟฟ้าที่อาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด โดยยังคงขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้าในการตรึงราคาสินค้าไว้ก่อน การพิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาสินค้าจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป แต่จะไม่ได้มีการอนุญาตให้โดยอัตโนมัติ “ค่าไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนสินค้าส่วนหนึ่ง มากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและกระบวนการผลิตว่าสินค้านั้น ๆ ใช้พลังงานชนิดใดในการผลิต เช่น ไฟฟ้า น้ำมันเตา แก๊ส ดังนั้นการปรับค่า Ft ก็จะมีผลต่อต้นทุนสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมอาจไม่ได้เป็นสัดส่วนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ”

ห้องเย็น-โรงน้ำแข็งปรับขึ้นราคา

นายอภิชัย เตชะนิธิสวัสดิ์ กรรมการบริหาร บริษัทในเครืออนุสรณ์กรุ๊ป จ.สมุทรสาคร ผู้ประกอบการธุรกิจห้องเย็น โรงงานผลิตน้ำแข็ง และแปรรูปอาหารทะเล กล่าวว่า ไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจห้องเย็นประมาณ 60% ตลอดปีที่ผ่านมาแม้อัตราค่าไฟจะปรับขึ้นประมาณ 20-21% ทำให้ทางบริษัทมีต้นทุนเพิ่ม 5 สตางค์/กก.

แต่ทางบริษัทยอมแบกภาระพยายามตรึงราคาค่าฝากให้ผู้ใช้บริการเพื่อรักษาลูกค้าไว้ โดยยืนราคาค่าฝากที่ 70 สตางค์/กิโลกรัม ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยหาทางลดต้นทุนด้วยวิธีอื่น แต่หากมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าขึ้นไปที่ 5.69 บาท/หน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟปรับขึ้นอีก 9-10% “ถือว่าสูงมาก” กระทบต้นทุนห้องเย็นขึ้นไปอีก 6 สต./กก. ดังนั้นทางบริษัทจำเป็นต้องปรับราคาค่าฝากขึ้น 5 สตางค์/กก. รวมเป็น 75 สต./กก.

ต่างกับต้นทุนของโรงงานผลิตน้ำแข็ง ซึ่งมีการแข่งขันสูง ช่วงปี 2564-2565 ต้นทุนอัตราค่าไฟปรับขึ้นมา 25% ทางบริษัทจำเป็นต้องปรับค่าน้ำแข็งขึ้นมาทันที หากปีหน้าจากฐานที่ปรับขึ้นจะทำให้ต้นทุนค่าไฟพุ่งไป 21% ซึ่งหากพิจารณาตัวเลขน้อยกว่าต้นทุนในปีที่ผ่านมา แต่การปรับครั้งแรก 25% มาจากฐานที่ต่ำกว่า ดังนั้นทางบริษัทคงต้องปรับราคาน้ำแข็งจาก 120 บาทต่อถัง (ขนาด 150 กก.) ขึ้นไปอีก 5 บาท เป็นราคา 125 บาท/ถัง

สำหรับธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล การปรับราคาสินค้าส่งออกทำได้ยาก ในช่วงปีที่ผ่านมาบริษัทพยายามหาทางเพิ่มยอดขายจะทำให้ลดต้นทุนลงไปได้ แต่ถ้าบริษัทที่ยอดขายตกคงลำบากเพราะอัตราค่าแรงงานเพิ่งปรับขึ้นไปเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาเครือ “อนุสรณ์กรุ๊ป” มียอดรายได้ประมาณ 900 ล้านบาท สิ้นปี 2565 คงต้องรอดูภาพรวมผลประกอบการจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

“เราได้เสนอผ่านไปยังสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ผ่านไปยัง ส.อ.ท.ให้นำเสนอภาครัฐว่า ถ้าต้องปรับค่าไฟขึ้นตอนนี้ โครงสร้างไม่เวิร์ก หากเปรียบเทียบกับค่าไฟของภาคอุตสาหกรรมของประเทศเวียดนามถูกกว่าประเทศไทย 50% จะทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นการปรับขึ้นค่าไฟควรจะค่อย ๆ ทยอยปรับขึ้นตามสถานการณ์คล้ายกองทุนน้ำมันฯ แต่หากไม่ทยอยปรับขึ้นและปรับครั้งเดียว จะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมและราคาสินค้าปรับขึ้นทันที แต่หากปรับขึ้นแบ่งเป็น 3-4 ครั้งต่อปี ผลกระทบจะเบาลง หรือระหว่างนั้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนหยุด สถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้น” นายอภิชัยกล่าว