ESG เทรนด์ใหญ่เขย่าธุรกิจ-“ไทยเบฟ”ลดพอร์ต “น้ำเมา”ปั้น 2 ธุรกิจกรีน

ESG ความยั่งยืน CSR

จับตา ESG เทรนด์ใหญ่เขย่าโลกธุรกิจ ธปท.วางมาตรการธนาคารสนับสนุนเงินทุนธุรกิจสีเขียว ผนึก ก.ล.ต.ยกร่างนิยามธุรกิจกรีน เครื่องมือปล่อยสินเชื่อ แบงก์พาเหรดเลิกปล่อยกู้กลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหิน บอร์ด ตลท.ชี้บริษัทใหญ่ตื่นตัวนโยบาย Net Zero แย่งตัวผู้เชี่ยวชาญ ESG “ไทยเบฟ” ชูธงลดพอร์ต “น้ำเมา” ปั้น 2 ธุรกิจกรีนเสริมทัพ ผนึกยักษ์ธุรกิจตั้งสถาบันความยั่งยืน “ซีพีเอฟ” ปักธงโรงงานทั่วประเทศ ใช้พลังงานทดแทน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปี 2566 ทั่วโลกตื่นตัวกับประเด็นความยั่งยืน ทั้งภาครัฐและนักลงทุนต่างต้องการให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแล หรือ ESG (Environment, Social, Governance) มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่กำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

มาตรฐาน “นิยาม” ธุรกิจกรีน

สำหรับในประเทศไทย ขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะผู้แทนคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไว้เป็นเครื่องมือประเมินการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ว่ามีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแค่ไหน

เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงิน ที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดย ธปท.จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง Thailand Taxonomy ถึง 26 มกราคม 2566

นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงได้ จะประกอบด้วย 1.การจัดหมวดหมู่กิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้นิยามเดียวกัน และ 2.เรื่องต้นทุน ทำอย่างไรให้มีแรงจูงใจช่วยสนับสนุนต้นทุน หรือลดต้นทุนของภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน ให้มีแรงจูงใจทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ตีเส้นธุรกิจ “พลังงาน-ขนส่ง”

นางสาววิภาวินกล่าวว่า Thailand Taxonomy โดยจะแบ่งการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมต่าง ๆ ออกเป็น 3 ระดับ (ระบบ Traffic-Light System) ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ซึ่งในระยะที่ 1 จะเริ่มด้วยการจัดกลุ่มธุรกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่ง เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงถึง 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

ภายใต้ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง จะแบ่งกิจกรรมย่อยอีกกว่า 22 กิจกรรม เช่น ภาคพลังงาน จะแตกออกเป็น พลังงานลม แสงอาทิตย์ กระแสไฟฟ้า หรือขนส่ง เช่น ขนส่งทางน้ำ ทางเรือ และระบบรางหรือไม่ราง โดย ธปท.จะมีเกณฑ์ประเมินว่า แต่ละกิจกรรมสามารถลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอยู่ในระดับใด โดย “สีเขียว” (green) หมายถึง กิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ “สีเหลือง” (amber) หมายถึง กิจกรรมที่ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิไม่ใกล้เคียงศูนย์ และอยู่ระหว่างปรับตัว และสีแดง (red) หมายถึง กิจกรรมที่ไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

เอกชนแย่งตัวผู้เชี่ยวชาญ ESG

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ หนึ่งใน “กรรมการ” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประธานกรรมการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่อง ESG ถือเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะในตลาดเงินตลาดทุน ดังนั้นทางสถาบัน IOD จะมีการทำหลักสูตร ESG อบรมให้กับกรรมการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพราะปัจจุบันเรื่อง ESG เป็นเรื่องที่ต้องทำ ถ้าธุรกิจไม่ทำก็จะถูกบีบ อย่างกลุ่มส่งออกก็จะมีปัญหาต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้น หรืออาจจะถึงขั้นไม่สามารถเข้าไปทำตลาดได้เลย อย่างในสหภาพยุโรปที่มีการประกาศมาตรการภาษีคาร์บอน CBAM

“เพราะฉะนั้น บริษัทใหญ่และซัพพลายเชนทั้งหมดจะต้องทำ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่ใช่เป็นเรื่องของแฟชั่น แต่เป็น real life ที่จะต้องเผชิญ เพราะฉะนั้น ต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้ และบุคคลที่มานั่งเป็นกรรมการบริษัทต้องมีความเข้าใจเรื่อง ESG เพราะฉะนั้น ต้องมีการ reskill กรรมการ เพราะแม้กรรมการไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ แต่ต้องตั้งคำถามและมีความเข้าใจอย่างแท้จริง”

นายกิติพงศ์กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทจดทะเบียนใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯต่างมีการประกาศเป้าหมายเรื่อง Net Zero ซึ่งต้องมีการทำเรื่องการวัดผล ต้องมีคนที่ประเมิน หรือเป็น ESG Professional ทำให้ตอนนี้ในตลาดขาดแคลนมาก มีความต้องการสูง เมื่อก่อนในวงการตลาดทุนพูดถึงแต่ IR (นักลงทุนสัมพันธ์) และตอนนี้ทุกบริษัทกำลังต้องการคนที่เป็น ESG Professional ขณะที่บอร์ดบริษัทก็ต้องเข้าใจ ต้องมีการจัดสรรงบประมาณ ESG จะมาเปลี่ยนโลกธุรกิจจริง ๆ

เพราะตอนนี้นักลงทุนต่างชาติ กองทุนใหญ่ ๆ เวลาจะเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดก็จะดูว่า บริษัทนั้น ๆ ทำเรื่อง ESG หรือมีนโยบายเรื่อง Net Zero Carbon หรือไม่ ทำให้ตอนนี้บริษัทจดทะเบียนต้องประกาศความชัดเจนเรื่องนี้

เคแบงก์ลดพอร์ตคาร์บอน

ขณะที่นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ได้กล่าวไว้ในเวทีสัมมนา “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า ธนาคารกสิกรไทยได้วางยุทธศาสตร์เป็น “Bank of Sustainability” และตั้งเป้าว่า ปี 2030 ธนาคารจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) อย่างรถยนต์ที่ใช้งานของธนาคารก็จะเปลี่ยนให้เป็นรถ EV ทั้งหมด รวมทั้งอาคาร สำนักงานต่าง ๆ ก็จะออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“รวมทั้งเตรียมวงเงิน 2 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปพร้อมกับเรา และต่อไปถ้าใครไม่ผ่านเกณฑ์ ESG ก็จะไม่ทำงานด้วย”

นอกจากนี้ ธนาคารมีนโยบายไม่ปล่อยสินเชื่อให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ยกเว้นแต่จะมีเทคโนโลยีในการเปลี่ยนรูปแบบพลังงานเป็นแหล่งพลังงานคาร์บอนตํ่า สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ในพอร์ตก็จะปล่อยให้ค่อย ๆ หมดลงภายในปี 2030

แบงก์แห่เลิกปล่อยกู้ “ถ่านหิน”

เช่นเดียวกับ นางสาวทัศวรรณ ธนาคมสิริโชติ ผู้บริหารฝ่าย Corporate Affairs ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ธนาคารได้มุ่งมั่นจะเป็นธนาคารที่ให้สินเชื่อและลงทุนอย่างรับผิดชอบ โดยเบื้องต้นได้กำหนดนโยบายการให้สินเชื่อแบ่งกลุ่มธุรกิจต้องห้าม คือกลุ่มธุรกิจที่ธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน และกลุ่มธุรกิจพึงระวัง เช่น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจน้ำมัน เพราะธุรกิจเหล่านี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงมาก

ไทยเบฟลดพอร์ต “น้ำเมา”

ด้านนางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ESG เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องทำในตอนนี้ และต้องทำไปด้วย คิดไปด้วย เพื่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ ไม่ใช่หลับหูหลับตาทำ มิเช่นนั้นจะทำให้ต้นทุนสูง พร้อมกับมองหาทางเลือกหลาย ๆ ทาง

“ไทยเบฟทำเรื่องความยั่งยืนมาตลอด ตั้งแต่เรื่องการเก็บขวดกลับมารีไซเคิล จนถึงตอนนี้มี 2 ธุรกิจหลักที่เกี่ยวกับความยั่งยืน คือ Thaibev recycle และ Thaibev energy 2 ตัวนี้ถือเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่เป็นทั้งแหล่งสร้างรายได้ และช่วยลดต้นทุนในธุรกิจหลักของเราได้มาก”

นางต้องใจกล่าวว่า ไทยเบฟประกาศเป้าหมายขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนทุกมิติ ภายใต้กลยุทธ์ Passion 2025 โดยในปี 2566 ตั้งเป้าหมายทางธุรกิจคือ ต้องสร้างยอดขายจากสินค้า nonalcohol หรือสินค้าที่ดีต่อสุขภาพให้ได้ 80% จากปัจจุบันที่ในพอร์ตมีอยู่ 60% ด้วยการลงทุนแบรนด์ คิดค้นช่องทางในการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ

ต่อยอดพลังงานทดแทน-อีวี

นางต้องใจกล่าวว่า นอกจากเป้าหมายทางธุรกิจ สิ่งที่บริษัทวางแผนคือ จะมุ่งเน้นไปที่การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบด้านการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อดูว่าธุรกิจของเราสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศมากน้อยเพียงใด รวมทั้งมีการลงทุนนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการเก็บบรรจุภัณฑ์กลับคืนมารีไซเคิล เช่น บางพื้นที่ขายเบียร์ น้ำดื่มได้ปริมาณมาก แต่เก็บบรรจุภัณฑ์กลับคืนได้น้อย บริษัทก็ต้องหาทางเก็บกลับให้มากขึ้น อีกทั้งยังมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ จากการนำวัตถุดิบเหลือใช้จากการหมักเบียร์ เหล้า ซึ่งมีกากและของเสียจากมอลต์ น้ำตาล ก็จะนำไปใช้ประโยชน์ผลิตพลังงานชีวภาพ หรือไบโอแก๊ส แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย เป็นต้น

และอีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟ ประกาศไว้คือการพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในทุกรูปแบบ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะการนำมาพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของบริษัท เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

“นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป เราจะพยายามเพิ่มสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ตั้งแต่รถของผู้บริหารไปจนถึงรถฝ่ายขาย ซึ่งรวม ๆ แล้วน่าจะมีจำนวนมากถึงหลักพันคัน อีกทั้งยังวางแผนจะใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าในการขนส่งสินค้ามากขึ้น

ผนึกยักษ์ตั้งสถาบันความยั่งยืน

นางต้องใจกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ไทยเบฟได้ทำงานร่วมกับ TSCN Founder (Thailand Supply Chain Network) ปัจจุบันมีกว่า 2,000 บริษัท เช่น เอสซีจี ซีพีเอฟ ธนาคารกรุงเทพ GC ไทยยูเนี่ยน บีเจซี เป็นต้น โดยจะมีการจัดตั้ง Thailand Sustainability Academy เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการที่อยู่ในซัพพลายเชนของไทยเบฟและพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ โดยจะเริ่มทำคอร์สแรกภายในไตรมาสแรกปี 2566 เป็นเรื่อง Carbon Emission ซึ่งจะมีนักวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานจริงมาให้ความรู้

“ซีพีเอฟ” เลิกใช้ถ่านหิน

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวถึงแผนขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ว่า บริษัทสามารถยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหินในโรงงานต่าง ๆ ในประเทศไทยได้ตามเป้าหมายปี 2565 หรือ Coal Free 2022 ได้สำเร็จ 100% ซึ่งเดิมถ่านหินถือเป็นแหล่งพลังงานหลักของโรงงานในกลุ่มซีพีเอฟ

โดยหันมาใช้พลังงานจากชีวมวลแทน ส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 30% ทำให้ปีที่ผ่านมาช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 600,000 ตัน หรือเทียบกับการปลูกต้นไม้ 64 ล้านตัน หรือ 320,000 ไร่ วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 50% ในปี 2030 และให้ได้ 100% ในปี 2050

ลดต้นทุนพลังงานปีละ 350 ล้าน

โดยปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มซีพีเอฟอยู่ที่ 3,000 GWH ต่อปี ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% นั้น แบ่งเป็น 1) ก๊าซชีวภาพ 30% ผลิตในฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ 2) พลังงานชีวมวล 68% และ 3) พลังงานแสงอาทิตย์ 2% ในการใช้โซลาร์รูฟ 36 โรงงาน คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ โดยมีแผนขยายต่อไปให้ถึง 100 เมกะวัตต์ในปี 2025 และยังมองหาและศึกษาโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ เช่น พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเทคโนโลยีขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก

“ผลจากการลดใช้ถ่านหินและเพิ่มการใช้พลังงานชีวมวลใน 18 โรงงาน ทำให้บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 220,000 ตันคาร์บอน คิดเป็นประหยัด 350 ล้านบาทต่อปี”

ควงแบงก์กรุงเทพช่วยคู่ค้า

นายประสิทธิ์กล่าวว่า ปีนี้บริษัทอยู่ระหว่างทำโครงการช่วยซัพพลายเออร์ ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีกว่า 6,500 ราย ปรับเปลี่ยนสู่การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยบริษัทได้ตั้งทีมนำผู้เชี่ยวชาญไปช่วยให้คำปรึกษาให้กับบริษัทในซัพพลายเชน และประสานให้ธนาคารกรุงเทพมาช่วยสนับสนุนเรื่องการเงินและสภาพคล่องในการเปลี่ยนผ่านสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน เป็นการต่อยอดจากปี 2565 ที่บริษัทได้ยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหินทั้ง 100%

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ไปร่วมกับทีม Sustainability Supply Chain Group ซึ่งมีกลุ่มไทยเบฟเรจเป็นผู้นำกับ 10 องค์กรธุรกิจ ในการร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวทางที่แต่ละบริษัทใช้ในการทำธุรกิจเพื่อสร้างความยั่นยืนดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม