บริบท ESG โมดูลใหม่ขับเคลื่อนธุรกิจโลก

ESG

ตลอดระยะเวลา 2-3 ปี เรื่องที่เกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพสีเขียว (green productivity) ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งในเวทีระดับโลก และระดับอาเซียน เพราะแนวคิดดังกล่าวต่างเกี่ยวข้องโดยตรงกับแนวคิดเรื่อง ESG (environment, social, governance) หรือ “สิ่งแวดล้อม, สังคม และบรรษัทภิบาล” อันเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ไป

แต่กระนั้น คงมีมองต่างมุมบ้างว่าการจะเดินไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development-SD) จะต้องมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นการปฏิรูปสีเขียวจะกระทบกับหลายประเทศด้วยกัน

“รศ.ดร.คิม ชูมัคเกอร์” สถาบันศึกษาภูมิภาคเอเชีย และโอเชียเนีย มหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เคยกล่าวถึงประเด็นมาตรการทางภาษีตามแผนการปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป ที่ไม่เพียงส่งผลให้แต่ละประเทศต้องปรับตัว หากยังส่งผลถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เศรษฐกิจหมุนเวียน มลพิษ และโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปต้องการผลักดันให้สำเร็จในปี 2050 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน

กล่าวกันว่า การดำเนินการตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนในการสนับสนุนเป็นจำนวนมาก เพราะปีที่ผ่านมากองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญ, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และบริษัทประกันชีวิตที่หันมาลงทุนตามแนวคิดในการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม, สังคม และบรรษัทภิบาล (environment, social, governance-ESG)

“รศ.ดร.คิม ชูมัคเกอร์” กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ยุโรป (Europeon Securities and Markets Authority-ESMA) ออกกฎระเบียบในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ที่กำหนดให้บริษัทในตลาดการเงิน และที่ปรึกษาทางการเงินต้องเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความยั่งยืน เป้าหมายการลงทุนด้านความยั่งยืน การตัดสินใจลงทุน และกระบวนการให้คำปรึกษาในการสร้างภาพลักษณ์ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น ESMA ยังจัดลำดับความสำคัญของแผนงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (sustainable finance) โดยเริ่มจากการรับมือกับการฟอกเขียว และส่งเสริมให้การดำเนินการอย่างโปร่งใส ก่อนที่จะเพิ่มความสามารถให้กับ ESMA และหน่วยงานภายในประเทศ รวมถึงการตรวจสอบประเมินวิเคราะห์ตลาด และความเสี่ยงด้าน ESG อีกด้วย

“ผมมองว่าความเข้มงวดของการรายงานในแต่ละประเทศมีความต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับกฎระเบียบและข้อบังคับ สำหรับประเทศไทยมีการกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่ครอบคลุมประเด็น ESG ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดยปี 2022 ส่งผลให้ประเทศไทยมีคะแนนครอบคลุมเนื้อหาการรายงานความยั่งยืนเทียบเคียงตามกฎระเบียบของ EU สูงกว่าสิงคโปร์, ญี่ปุ่น และเกาหลี ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างน่าสนใจ”

ขณะที่ “ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองในประเด็นที่สอดรับกันว่าเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยเฉพาะโอกาส และความเสี่ยงที่มากับภาวะโลกร้อน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา และพัฒนาการของธุรกิจในเรื่องนี้มาโดยตลอด

เช่น การสร้างการเรียนรู้ผ่าน ESG academy เพื่อพัฒนา ESG data platform เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้กับนักลงทุน และนักวิเคราะห์ เพียงแต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา ESG investment product เพื่อให้ ecosystem ของการลงทุนอย่างยั่งยืนครบถ้วน และสมบูรณ์แบบมากขึ้น

“ปัจจุบัน ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ที่นักวิเคราะห์ และนักลงทุนต้องการใช้ในการพิจารณา และวิเคราะห์ความเหมาะสมในการลงทุน โดยเห็นได้ชัดว่าบริษัทจดทะเบียนต่างตื่นตัวในการแก้ปัญหา และเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้มากขึ้น”

ฉะนั้น จึงไม่แปลกเมื่อ “ขัตติยา อินทรชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ เพราะเธอเชื่อว่า ESG สามารถนำไปปรับใช้ในโมโดลธุรกิจ ทั้งยังเป็นเรื่องสำคัญมากด้วย เพราะไม่เพียงเป็นจุดเปลี่ยนศักยภาพใหม่ของเศรษฐกิจไทย หากยังช่วยปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจแบบเดิม ๆ ด้วย

ดังนั้น ถ้าธุรกิจต่าง ๆ ไม่ดำเนินการเข้าร่วม หรือให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อาจทำให้สูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ และความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และลูกค้าได้ ฉะนั้น ESG จึงไม่ใช่เรื่องการกุศล แต่เป็นเรื่องของธุรกิจ

“ดิฉันเคยไปดูงานที่ราชอาณาจักรสวีเดนในกรุงสตอกโฮล์มพบว่ามียูนิคอร์น หรือสตาร์ตอัพเกิดใหม่ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของสิ่งแวดล้อม 200-300 ราย เช่น ธุรกิจพลังงานสะอาดในราคาถูกจะเข้ามาเป็นคู่แข่งของอีวี ธุรกิจธรรมชาติเพื่อลดคาร์บอน พลังงานนิวเคลียร์ที่สำหรับสร้างไฟฟ้าด้วยการผลิตใหม่ ๆ เป็นต้น คาดว่าการทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะเติบโตขึ้นมาก และจะสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศได้”

ดังนั้น หากจะทำให้ธุรกิจจะประสบความสำเร็จในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องมีทั้งหมด 8 เรื่องด้วยกันคือ 1.ต้องทำธุรกิจด้วยทัศนคติที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง 2.ต้องทำได้ด้วยต้นทุนถูกที่สุด และต่ำที่สุด เช่น การทำพลังงานสะอาดต้นทุนต้องต่ำกว่าพลังงานอื่น ๆ เป็นต้น 3.การระดมเงินทุน 4.สร้างขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ

5.ต้องทำงานร่วมกับอีโคซิสเต็ม ทั้งซัพพลายเออร์และลูกค้า 6.มีการดำเนินงานที่ยั่งยืน 7.มีกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาองค์กร และ 8.การมีแหล่งเงินลงทุนต่ำ โดยสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์สามารถช่วยได้จะสนับสนุนการให้บริการอย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อสร้างธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจที่ดีได้

“ธนาคารกสิกรไทยทำโครงการ GO GREEN Together สนับสนุนให้เกิดกรีนอีโคซิสเต็มเพื่อไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2573 ตอนนี้เตรียมวงเงินไว้ที่ 2 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับทุกธุรกิจให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจได้จริงภายใต้การดำเนินการของ ESG โดยเริ่มจากพอร์ตที่มีอยู่ 2 ล้านล้านบาท

ซึ่งจะพิจารณาในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุย เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ธนาคารจะทยอยลดการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ลูกค้าเปลี่ยนแปลงเป็น net zero โดยคาดว่าภายในปี 2573 ลูกค้ากลุ่มนี้จะสามารถเป็น net zero ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้”

ขณะเดียวกัน “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ก็มีความเชื่อว่า ESG เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไทยเบฟตอกย้ำแนวคิดด้านความยั่งยืนที่จะสร้างสรรค์ และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโตเพื่อให้ชุมชน และสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดต้นน้ำถึงปลายน้ำ

โดยยึดหลัก ESG มาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการดำเนินงานครอบคลุมในทุกมิติ อาทิ การมุ่งสู่ net zero (ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์), การจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน, โครงการไทยเบฟรวมใจต้านภัยหนาว ส่งมอบผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกที่ผลิตจากขวดรีไซเคิล

โครงการการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และอื่น ๆ อีกมากมาย

“ผมถึงเชื่อว่าแม้เราจะผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19 กันมาแล้ว แต่วันนี้โลกยังเผชิญกับความท้าทายอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ความมั่นคงทางด้านอาหาร, ความหลากหลายทางชีวภาพที่ถดถอยลง ที่สำคัญคือเรื่องการเรียกร้องสิทธิจากคนกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลก

ดังนั้น ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันทำงาน และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็สามารถตอบรับความท้าทาย และปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ”


อันเป็นคำตอบของ “ผู้นำธุรกิจ” ที่ต่างมีความเชื่อว่าบริบท ESG คือโมดูลใหม่ในการทำธุรกิจต่อจากนี้ไป