จุดพลุ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “สุพัฒนพงษ์” สั่งลุย “บีโอไอ” อัดมาตรการส่งเสริมครบทุกส่วน ดันไทย Hub BCG “พาณิชย์” ปั้น “BCG Heroes” ลงสนามสู้ศึก ชูสินค้าดาวเด่น “อาหารอนาคต เฟอร์นิเจอร์ ไลฟ์สไตล์” แนะเอกชนเกาะเทรนด์สร้างโอกาสส่งออก สั่งทูตพาณิชย์ 58 แห่งทั่วโลกรุกทุกช่องทาง
การประกาศนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาล ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค เมื่อเดือน พ.ย. 2565 ที่ผ่านมาสร้างความตื่นตัวให้กับภาคเอกชนอย่างมาก และเป็นที่มาของการปรับและประกาศนโยบาย เพื่อก้าวสู่ BCG อย่างเป็นรูปธรรม ของธุรกิจใหญ่หลาย ๆ ราย อาทิ ปตท. บางจาก ซีพีเอฟ ซาบีน่า ไทยยูเนี่ยน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอีกจำนวนมากที่เริ่มวางแผนเพื่อจะก้าวเข้าสู่การเป็น BCG
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า BCG จะสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยรวมไปถึงภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เช่นเดียวกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ส.อ.ท. ส่งเสริมสมาชิกใช้โมเดล BCG เป็นวาระแห่งชาติ และทำโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ 5 ภาค ผลักดัน โครงการ 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด
ชู BCG ดึงนักลงทุน ตปท.
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่าจากนี้ไปการดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศจะใช้นโยบาย BCG ควบคู่กับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)
“การลงทุน BCG เป็นสิ่งที่แทรกอยู่ในทุกส่วนของการลงทุนทั้งรายเล็กรายใหญ่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว มีความหมายครอบคลุมไปถึงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน ที่แยกขยะพลาสติกนำไปรีไซเคิลได้ เกษตรกรใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นแปรรูป หรือต่อยอดสู่การทำเกษตรสินค้าชีวภาพ โรงงานอุตสาหกรรมที่ติดโซลาร์ผลิตไฟใช้เอง หรือแม้แต่การเกิดยานยนต์ไฟฟ้า (EV)”
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอ ได้วางเป้าหมายชัดเจนในเรื่องการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ด้วย BCG ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ไทยมีโอกาสจะเป็น BCG Hub จึงต้องเร่งขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน
บีโอไอมีมาตรการส่งเสริมทั้งในผู้ผลิตและผู้ใช้ ครอบคลุมในกิจการต่าง ๆ เช่น ด้านการผลิต มีมาตรการสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและขยะ มาตรการสำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกชีวภาพ กิจการรีไซเคิล ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ปิโตรเคมีที่ใช้เทคโนโลยีกักเก็บและใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (CCUS) และห้องเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ
หรือแม้แต่การผลิต hydrogen การผลิตไฟฟ้าจาก hydrogen รวมถึง green ammonia ส่วนการส่งเสริมผู้ใช้ เช่น ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ปัจจุบันมาตรการส่งเสริมการลงทุน BCG จะครอบคลุมอยู่ในกิจการที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังปรับปรุงประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์ โดยให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโรงแยกก๊าซ ในกรณีใช้เทคโนโลยี CCUS ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หรือกิจการห้องเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นต้น
8 ปี ลงทุน 8 แสนล้าน
เลขาธิการบีโอไอยังให้ข้อมูลด้วยว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (ปี’58-ก.ย. 65) มีการขอรับการส่งเสริมในกลุ่ม BCG รวม 3,405 โครงการ หรือกว่า 30% ของโครงการทั้งหมด เช่น กิจการเกษตรและอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน และกิจการที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เงินลงทุนรวม 786,548 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของเงินทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประเภทการลงทุน เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 1,737 โครงการ เงินลงทุน 251,723 ล้านบาท ส่วนอื่น ๆ เป็นกิจการที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวม 123 โครงการ เงินลงทุน 80,000 ล้านบาท เช่น กิจการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ กิจการบำบัดหรือกำจัดของเสีย กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากเศษวัสดุ/ขยะ/ของเสียจากผลผลิตการเกษตร กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะหรือเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF)
โอกาสทอง BCG ส่งออก
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้า BCG จะเป็นทางออกสำคัญ ในกรณีที่คู่ค้ามีการใช้มาตรการทางการค้าด้วยนโยบายและกฎระเบียบเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 47 ประเทศ อาทิ เช่น ยุโรป ประกาศยุทธศาสตร์การปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 66 สหรัฐร่างกฎหมาย Clean Competition กำหนดราคาคาร์บอน ญี่ปุ่น ประกาศยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว และจีน เปิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับชาติ เป็นต้น
ดังนั้น หากผู้ส่งออกไทยปรับตัวและสามารถผลิตสินค้า BCG ได้จะเป็นโอกาสทางการค้ามากขึ้น แต่หากไม่ปรับตัวจะแข่งขันลำบาก อย่างไรก็ตาม กรมได้มีโครงการ BCG to Carbon Neutrality โดยร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) จัดอบรมเชิงปฏิบัติให้ความรู้ ด้าน BCG และ carbon footprint แก่ผู้ประกอบการ และสร้าง BCG Heroes มีเป้าหมายว่าในปี 2566 จะมีผู้ประกอบการที่เป็น BCG Heroes 150 ราย จากปัจจุบันที่มี 50 ราย โดยสินค้าที่มีศักยภาพสูง เช่น สินค้าไลฟ์สไตล์ เกษตร และอาหารแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
พร้อมทั้งมอบหมายให้ทูตพาณิชย์ 58 สำนักงานทั่วโลกจัดกิจกรรมส่งเสริมทุกช่องทาง ทั้งการแสดงสินค้า เจรจาจับคู่ธุรกิจ และโปรโมตสินค้า BCG ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในตลาดคู่ค้า เช่น อาทิ Tmall Global (จีน) Big, Basket (อินเดีย) Amazon (สหรัฐ) Blibli (อินโดนีเซีย) Klangthai (กัมพูชา) PChome (ไต้หวัน) และ Shopee (มาเลเซีย) เป็นต้น
ทูตพาณิชย์ชี้โอกาส
นายประคัลร์ กอดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า อังกฤษมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ในปี 2593 ไทยต้องการปรับตัวผลิตสินค้าและบริการที่สอดรับกับตลาดนี้ เช่น อาหารอนาคต โปรตีนจากพืช เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน
ด้านนางสาวเกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในปีหน้าโอกาสส่งออก สินค้าเกี่ยวกับ BCG ในสหรัฐ มีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ นิยมสินค้า เช่น อาหารออร์แกนิก แพลนต์เบส
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า หากการขับเคลื่อนโมเดล BCG ประสบผลสำเร็จจะช่วยกระตุ้นการลงทุนไม่ต่ำกว่า 6-7 แสนล้านบาท โดยภาครัฐเร่งกำหนดมาตรการส่งเสริม และจัดตั้งกองทุนบีซีจี เพื่อเสริมความแข็งแกร่งภาคเอกชน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้น