SD Plus สรรสาระเพื่อความยั่งยืน

คอลัมน์ : เอชอาร์ คอร์เนอร์
ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

ตลอดระยะเวลา 15 ปีผ่านมา เซ็กชั่น “CSR-HR” นำเสนอข่าวสารสาระในเรื่องของกิจการเพื่อสังคมตลอดมา ทั้งในส่วนของกิจกรรม การลงพื้นที่ขององค์กรต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพียงแต่ในช่วงนั้น กิจการซีเอสอาร์ของแต่ละบริษัท ยังไม่ได้เชื่อมโยงเข้ากับค่านิยมองค์กร นโยบายของบริษัท และวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร

จึงเป็นเพียงแค่การทำกิจกรรมเท่านั้น

โดยมีเพื่อนพนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรที่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ

ทว่าพอผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่ง กิจการเพื่อสังคมถูกขยายผลเพิ่มมากขึ้น ทั้งในต่างประเทศเองก็เริ่มให้ความสำคัญต่อภาวะลดโลกร้อนด้วย จึงทำให้บริษัทไทยที่มีคู่ค้าอยู่ต่างประเทศ หรือบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้ตามมา

จนถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง เพื่อไม่สร้างภาระให้กับโลกใบนี้ ทั้งหลายบริษัทในต่างประเทศก็มุ่งการผลิต เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์โดยไม่ให้มีสารเคมีมาเกี่ยวข้องด้วย บางบริษัทถึงกับมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารปลอดสารพิษ

เลิกใช้ถุงพลาสติก

และมุ่งพัฒนาบริษัทไปสู่องค์กรสีเขียวในที่สุด

เทรนด์จากต่างประเทศเช่นนี้ ไม่เพียงทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยขานรับ และยังนำมาปรับใช้กับองค์กรธุรกิจของตัวเอง ขณะเดียวกัน สหประชาชาติก็เริ่มมีการประกาศเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้งหมด 17 เป้าหมายด้วยกัน เพื่อมุ่งหวังให้ประเทศสมาชิกกว่า 193 ประเทศ (มีประเทศไทยด้วย) ช่วยกันแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน, ความไม่เท่าเทียม, สภาวะโลกร้อน, สันติสุข และอื่น ๆ

บนคอนเซ็ปต์ “ไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนน่าจะทำสำเร็จภายในปี 2030

ถึงวันนี้ก็เหลืออีกไม่กี่ปีแล้ว แต่ในช่วงผ่านมา หลายประเทศสมาชิก และหลายบริษัทต่าง ๆ ในโลกไม่หยุดอยู่เฉพาะเรื่อง SDGs เท่านั้น เพราะถ้าจำกันได้ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปี 2564 รวมถึงการประชุม COP27 ที่เมืองชาร์ม เอล ชีค ประเทศอียิปต์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ผ่านมา

โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งยังวางกรอบท่าทีเจรจาของไทยให้เป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อยกระดับเป้าหมายของไทย

อาทิ เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด เดิม ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เป็น ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) (เร็วขึ้น 5 ปี), เป็นกลางทางคาร์บอน เดิม ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เป็นภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) (เร็วขึ้น 15 ปี) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เดิม ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) เป็นภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) (เร็วขึ้น 35 ปี)

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงบางตัวอย่างจากการประชุม COP ตลอด 2 ครั้งผ่านมา จนนำมาสู่การขับเคลื่อนของภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนองค์ความรู้ในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการนำสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) มาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ต่อไป

รวมถึงเรื่องการนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มาขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศไทย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

กล่าวกันว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เอง จึงทำให้การขับเคลื่อน “ESG” และ “BCG” ในภาครัฐ และเอกชนต่อจากนี้ไป จะเป็น “แม่เหล็กสำคัญ” ในการนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ที่ไม่เพียงจะมีกลยุทธ์ นโยบาย หากยังถูกกำหนดให้อยู่ในค่านิยมองค์กร และวัฒนธรรมองค์กรต่าง ๆ ด้วย ทั้งนั้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ รูปธุรกิจ และสภาวะโดยรวมของการดำเนินกิจการมีเรื่องเหล่านี้เจือปนอยู่ทุกอณู

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ปรับเปลี่ยนเซ็กชั่นจากเดิมที่เสนอแต่เพียงข่าว CSR-HR เท่านั้น แต่ต่อนี้ไป เนื้อหา และบทบาทของเซ็กชั่นจะเปลี่ยนไปครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development-SD) มากขึ้น ทั้งยังจะเพิ่มเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุนมนุษย์ประกอบกันไปด้วย

เพราะ “มนุษย์” เป็นผู้สร้าง “ความยั่งยืน”

ดังนั้น เซ็กชั่นใหม่นับจากนี้ไปในฉบับวันจันทร์ที่ 2-วันพุธที่ 4 มกราคม 2566 จะปรากฏเซ็กชั่น “SD Plus” ขึ้นมาทดแทน ที่ไม่เพียงจะครอบคลุมเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากยังจะนำเสนอแนวคิด หลักคิด ฮาวทูเพื่อให้องค์กรต่าง ๆ เกิดความยั่งยืนในที่สุด

โปรดจงติดตามด้วยใจระทึกพลัน