121 องค์กรตัวอย่างการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน

ความยั่งยืน
คอลัมน์ : CSR Talk
ผู้เขียน : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

ปัจจุบันการจัดทำข้อมูลความยั่งยืนของกิจการเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะกลายเป็นบรรทัดฐานของภาคธุรกิจที่ใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร เทียบเท่ากับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของกิจการให้แก่ผู้ลงทุน

ข้อมูลความยั่งยืนที่กิจการเปิดเผยตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวก และทางลบตามความเป็นจริง

รอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วโลกจัดทำรายงานความยั่งยืน (sustainability report) ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจของเคพีเอ็มจีฉบับล่าสุด (ปี 2565) ระบุว่า บริษัทในกลุ่ม N100 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่งจากแต่ละประเทศที่ทำการสำรวจ) มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะเพิ่มจากร้อยละ 64 (ปี 2554) มาเป็นร้อยละ 79 ในปีปัจจุบัน (สำรวจจาก 5,800 บริษัท ใน 58 ประเทศทั่วโลก)

นอกจากนั้น ผลสำรวจยังพบว่ามาตรฐาน GRI เป็นมาตรฐานที่บริษัทในกลุ่ม N100 ใช้อ้างอิงมากสุดในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน โดยประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่มีอัตราการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนสูงกว่าร้อยละ 90 เป็นการเพิ่มจากร้อยละ 84 ในปี 2563 มาอยู่ที่ร้อยละ 97 ในปี 2565 และยังเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในรายงานประจำปี อยู่ในอัตราร้อยละ 86 ในปี 2565

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหนึ่งในองค์กรผู้นำการสนับสนุนการขับเคลื่อนด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และความยั่งยืนในประเทศไทย มีการจัดเวทีประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรผู้จัดทำรายงาน เพื่อช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนดังกล่าว ทั้งในบทบาทที่เป็นองค์กรผู้จัดหลัก และเป็นองค์กรผู้ร่วมจัดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556

การประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนประจำปี 2565 นี้ มีองค์กรสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่เข้ารับการพิจารณารางวัลจำนวน 133 ราย และมีองค์กรที่ได้รับรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนมีจำนวน 121 ราย (ดูผลการประกาศรางวัล ได้ที่ https://thaipat.org)

สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนใช้เกณฑ์ 3 ด้าน ที่อ้างอิงจาก Ceres-ACCA ประกอบด้วย ด้านความสมบูรณ์ (completeness) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 45 ด้านความเชื่อถือได้ (credibility) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 35 ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (communication) เนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 20 ตามลำดับ

ทั้งนี้การคัดเลือกบริษัทที่ได้รับรางวัล พิจารณาจากข้อมูลความยั่งยืนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ รายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมบูรณาการในรายงานประจำปี หรือรายงานในรูปแบบอื่น ทั้งที่เป็นรูปเล่มรายงาน ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ อินโฟกราฟิก ฯลฯ โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใด ๆ เพิ่มเติม

ในโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับทุกองค์กรผู้จัดทำรายงานที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ที่สามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกิจการ และร่วมกันตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 ที่ระบุให้มีการผลักดันกิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท อย่างต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี