แห่ขอไลเซนส์ อย.ปลูก “กัญชง” สกัดน้ำมัน CBD ต่อยอดธุรกิจยา

บิ๊กธุรกิจขานรับพืชเศรษกิจใหม่กัญชง-กัญชา “ศรีตรังฯ” ขอไลเซนส์ปลูกกัญชงนำร่อง 200 ไร่ มี.ค.นี้ ลงทุนโรงงานสกัดน้ำมัน CBD ยักษ์น้ำมัน “ปตท.-พีทีจี” แบไต๋สนลงทุนต่อยอดผลิตภัณฑ์ยา-อุปกรณ์การแพทย์ กระทรวงหมอ-เกษตรฯเคลียร์ใบอนุญาตและโนว์ฮาวรองรับตั้งแต่หัววัน

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง เพื่อผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการสนใจที่จะลงทุนอย่างคึกคัก

ที่ผ่านมามีการเปิดตัวไปแล้ว อาทิ คาราบาวกรุ๊ปผู้ผลิตเครื่องดื่ม, ยาสีฟันเดนทิสเต้, อาร์เอสกรุ๊ปผลิตสกินแคร์และอาหารเสริม, ปั๊มน้ำมัน PT ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, R&B Food Supply วัตถุดิบปรุงแต่งอาหาร และ DOD Biotech ผู้ผลิตอาหารเสริม

ศรีตรังฯปลูกเฟสแรก 100 ไร่

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติครบวงจร เปิดเผยว่า ศรีตรังฯทำธุรกิจต้นน้ำโดยปลูกยางพาราและพืชเศรษฐกิจหลายชนิดอยู่แล้ว

ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตเพราะปลูกกัญชงกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเดือนมีนาคมนี้ ควบคู่กับเตรียมแบ่งที่ดิน 100-200 ไร่ จากที่ดินในมือ 45,000 ไร่ทั่วประเทศสำหรับเป็นแปลงนำร่องปลูกกัญชง

“หลังจากได้รับใบอนุญาตจาก อย. บริษัทวางแผนนำที่ดิน 100-200 ไร่ ในโซนภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกกัญชง โดยช่วงแรกมีการหารือผู้เชี่ยวชาญและนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ ไทม์ไลน์คาดว่าเริ่มลงมือปลูกกัญชงได้ภายในกลางปี 2564 ใช้เวลา 4 เดือนให้พืชเติบโตและเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้แก่ ช่อดอกและเมล็ดพันธุ์กัญชง เพื่อขายต่อให้กับโรงงานสกัดน้ำมันซีบีดี (CBD oil) ต่อไป”

เล็งลงทุนแล็บ-โรงงานสกัด CBD

นายวีรสิทธิ์กล่าวต่อว่า วัตถุดิบช่อดอกและเมล็ดพันธุ์กัญชงเมื่อนำไปสกัดน้ำมันซีบีดี มีคุณสมบัติเป็นสารไม่ออกฤทธิ์่ต่อสมอง สำหรับนำไปใช้เป็นส่วนผสมผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ฯลฯ เรียกว่าสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก ดังนั้นจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาด

ทั้งนี้ งานวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยระบุว่า ราคารับซื้อน้ำมันซีบีดี คำนวณจากพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ สามารถนำผลผลิตที่เป็นเมล็ดพันธุ์กัญชงและดอกกัญชงมาสกัดเป็นน้ำมัน CBD ได้ 25 กิโลกรัม ในขณะที่แนวโน้มมีความต้องการใช้เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตสินค้า ศรีตรังฯจึงมองเป็นโอกาสในการลงทุน

“เราวางแผนขยายธุรกิจกัญชง 2 เฟส ในเฟสแรกเป็นการลงทุนต้นน้ำด้วยการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวช่อดอกกับเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงสกัดน้ำมันซีบีดี หากมีความต้องการสูง บริษัทพร้อมขยายพื้นที่ปลูกกัญชงเพิ่มเป็น 1,000-2,000 ไร่ได้ทันที เพราะมีความพร้อมด้านที่ดินอยู่แล้ว”

สำหรับแผนลงทุนระยะต่อไป ศรีตรังฯมีความสนใจเข้าไปลงทุนสร้างห้องแล็บและโรงงานสกัดน้ำมันซีบีดีเพิ่มเติม มีเป้าหมายเพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ (เพาะปลูก) และธุรกิจกลางน้ำ (สกัดน้ำมันซีบีดี)

ยักษ์ ปตท.-PTG สนใจ

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่ม ปตท.มีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโออีโคโนมี ดังนั้นจึงไม่ได้ปิดกั้นการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจสุขภาพที่เกี่ยวกับกัญชง-กัญชา

“จริง ๆ แล้วตรงนี้เรามองว่าน่าจะเป็นการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าทางการแพทย์ อาจนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตยา หรือเป็นส่วนผสมของอาหารอนาคต (ฟิวเจอร์ฟู้ด) ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเชิงลึกในรายละเอียด เช่น สารลดความหวานหรือสารเพิ่มโปรตีน

โดยนโยบาย ปตท.คงไม่ได้ทำเองทั้งหมด แต่อาจพิจารณาความร่วมมือกับพันธมิตร หากตั้งโรงงานก็ต้องลงทุนร่วมกับพันธมิตร เพราะต้องวางแผนให้ครบวงจรซัพพลายเชนเพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนความต้องการใช้ได้อย่างเพียงพอ” นายบุรณินกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมันพีที กล่าวว่า กลุ่ม PTG เจรจากับพันธมิตรที่ได้ยื่นขอใบอนุญาตปลูกกัญชา-กัญชงกับ อย. รวมถึงมีความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน โดยคาดว่าจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงเพื่อจัดจำหน่ายภายในปลายไตรมาส 2/64 หรืออย่างช้าช่วงต้นไตรมาส 3/64 ผ่านช่องทางร้านค้าในเครือปั๊มน้ำมัน PT ไม่ว่าจะเป็นมินิมาร์ต MAX Mart ร้านกาแฟพันธุ์ไทย คอฟฟี่เวิลด์ เป็นต้น

ธุรกิจขานรับ-จ้องลงทุน

นายเอกพันธ์ วนโกสุม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM เปิดเผยว่า บริษัทร่วมกับเจเอสพี ฟาร์มา จัดทำโครงการสกัดสารสกัดจากพืชกัญชาและกัญชง โดย KWM เป็นผู้ผลิตเครื่องสกัดสาร KWM EXTRACTOR 1.0 ระบบ supercritical fluid Co2 extraction และ ultrasonic extraction ขณะที่เจเอสพี ฟาร์มา เชี่ยวชาญด้านการผลิตยาและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จะนำสารสกัดไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

“ขณะนี้เครื่องสกัดมีกำลังการผลิต 1 เครื่อง อยู่ที่วัตถุดิบ 4 กก. จะได้สารสกัดอย่างต่ำ 200 มล. ในอนาคตมีแผนเพิ่มการผลิตเครื่องสกัดสาร ซึ่งโรงงานเราสามารถผลิตได้มากกว่าปีละ 100 เครื่อง”

ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า เจเอสพี ฟาร์มา นำเครื่องสกัดสารติดตั้งที่โรงงาน จ.ลำพูน คาดว่าไตรมาส 3/64 นำร่องผลิตสารสกัดกัญชงสำหรับใช้ภายนอก อาทิ ยาหม่อง น้ำมันสกัดต่าง ๆ จากนั้นไตรมาส 4/64 อาจมีอาหารเสริมหรือยาต่าง ๆ จากกัญชงออกมา

“อนาคตเราอยากต่อยอดการลงทุน นอกจากทำสินค้าจากกัญชา-กัญชงป้อนผู้ประกอบการในประเทศแล้ว อาจส่งออกสารสกัดกัญชงไปต่างประเทศด้วย”

เกษตรฯ-สธ.เด้งรับแต่หัววัน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร (กวก.) หารือกับ อย. เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางขับเคลื่อนการส่งเสริมปลูกพืชกัญชงและกัญชาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยแนวปฏิบัติครอบคลุม 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

1.การนำเข้าและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ กวก.เร่งออกประกาศให้กัญชาและกัญชงเป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 ระหว่างนี้จะใช้ระเบียบและกฎเกณฑ์ อย.ไปพลางก่อน

2.การขออนุญาตปลูกเป็นของ อย. มีคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาและรวบรวมรายชื่อผู้ปลูกยื่นต่อหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่การเตรียมแปลง เก็บเกี่ยว และส่งผลตรวจประเมินความสามารถผู้ปลูกให้ อย. และกระทรวงเกษตรฯจะร่วมตรวจสอบการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ การควบคุมการผลิตและคุณภาพต้นกล้า เพื่อให้ได้คุณภาพตรงตามสายพันธุ์

3.การทดสอบคุณภาพ ผู้ปลูกและผู้ซื้อสามารถใช้อุปกรณ์ตรวจเบื้องต้นได้เอง และ สธ.สนับสนุนให้เอกชนตั้งห้องแล็บ

4.การซื้อ-ขายกัญชาและกัญชง มีการซื้อขายโดยตรง หรือ contract farming ระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ปลูก, จัดตั้งตลาดกลางกัญชา กัญชง กำหนดมาตรฐานสินค้า ราคากลาง และการซื้อขายที่เป็นธรรม โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้ง

นำร่อง “กัญชาพันธุ์อิสระ 01”

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กวก.ได้เร่งงานวิจัยพันธุ์พื้นเมือง โดยจะทำ MOU กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ต่อไป ขณะที่กรมได้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 1 พันธุ์ คือ กัญชาพันธุ์อิสระ 01 เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านั้น กรมร่วมกับ สธ. ในโครงการปลูกกัญชา 6 ต้น “โนนมาลัยโมเดล” ที่บ้านโคกนาค ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ให้คำปรึกษาการขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำกิ่ง การปลูก การดูแลรักษา เพื่อให้เป็นต้นแบบปลูกกัญชาในระดับครัวเรือน และพร้อมสนับสนุนหาก สธ.จะขยายการดำเนินการไปทั่วประเทศ