‘กัญชง’ พืชเศรษฐกิจใหม่ เปิดเกณฑ์ยื่นขออนุญาต ‘ผลิต-ส่งออก-นำเข้า’ (1)

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
กฎหมายใหม่ กฤษฎีกาโฟกัส
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

สืบเนื่องจากที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 ในมาตรา 26/2 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

เว้นแต่ในกรณีที่เป็นกัญชง (Hemp) ซึ่งเป็นพืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. Sativa และมีลักษณะตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ส่วนการจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองนั้น ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต โดยการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ประกอบกับกฎกระทรวงเดิมที่ใช้บังคับอยู่ ได้แก่ กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. 2559 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน จึงได้มีการปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการใช้กัญชงให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้มีการพัฒนากัญชงคุณภาพดี มีมาตรฐาน สามารถส่งออกได้

รวมทั้งป้องกันมิให้มีการนำกัญชงไปใช้ในทางที่ผิด โดยประกาศใช้กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

1.กำหนดวันใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลใช้บังคับในวันที่ 29 มกราคม 2564)

2.กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. 2559

3.กำหนดบทนิยาม “กัญชง” หมายความว่า พืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. Sativa และมีลักษณะตามประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษว่าด้วยการกำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) (ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562)

4.กฎกระทรวงนี้แบ่งออกได้เป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวด 1 การขออนุญาต หมวด 1 การอนุญาต หมวด 3 การดำเนินการ หมวด 4 เบ็ดเตล็ด และบทเฉพาะกาล ประกอบด้วย

4.1 หมวด 1 การขออนุญาต

4.1.1 กำหนดวัตถุประสงค์ของการขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ดังต่อไปนี้

(1) เพื่อประโยชน์ตามภารกิจของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นภารกิจตาม (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ให้หน่วยงานของรัฐขออนุญาตตามวัตถุประสงค์นั้น

(2) เพื่อการใช้ประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต และใช้ในครอบครัวเท่านั้น ทั้งนี้ มีพื้นที่ปลูกได้ครอบครัวละไม่เกินหนึ่งไร่

(3) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม

(4) เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์

(5) เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์

(6) เพื่อประโยชน์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง

4.1.2 กำหนดวัตถุประสงค์ของการขออนุญาตนำเข้าหรือส่งออกตาม (1) (3) (4) (5) หรือ (6) แต่ไม่รวมถึงวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต และใช้ในครอบครัว

4.1.3 กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต โดยให้เป็นไปตามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่ระบุไว้ โดยผู้ขออนุญาตอาจมีได้ทั้งกรณีบุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิสาหกิจชุมชน หรือหน่วยงานของรัฐ

4.1.4 กำหนดให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตตามแบบที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานตามที่ระบุ ในกรณีที่เป็นการผลิตโดยการปลูก ให้ยื่นเอกสารหรือหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองของผู้ขออนุญาตด้วย ส่วนในกรณีที่เป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ ให้ยื่นโครงการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ ที่มีรูปแบบตามหลักวิชาการประกอบด้วย

4.1.5 กำหนดวิธีการยื่นคำขอ การอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่หากไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการ ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้

(1) กรณีผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง

(ก) ในกรุงเทพมหานคร ให้กระทำ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

(ข) ในจังหวัดอื่น ให้กระทำ ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

(2) กรณีนำเข้าหรือส่งออก ให้กระทำ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา