ประยุทธ์ ยื้อล็อกยาว 2 เดือน คุมโควิด-ประคองเศรษฐกิจถึงปี’65

การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศ “กึ่งล็อกดาวน์” พื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด 13 จังหวัด จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 นับเป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” นายแพทย์ที่ปรึกษาประจำตึกไทยคู่ฟ้าระบุ หากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 เดือนนับจากนี้ไม่ดีขึ้น อาจจะจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้น-เทียบเท่า “อู่ฮั่นโมเดล”

ปรับแผนคุมโรค-ฉีดวัคซีน

มติที่ตรงกันระหว่างฝ่ายการเมืองและทีมแพทย์ประจำ ศบค.ชุดใหญ่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เป็นที่มาของการปรับแผนควบคุมการระบาดของโควิด-19 ครั้งสำคัญ

ขณะที่ “วาระฉีดวัคซีนแห่งชาติ” โดยจัดสรร-กระจายวัคซีนตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม-31 สิงหาคม 2564 เน้นผู้ที่ได้จองฉีดวัคซีนล่วงหน้า (ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) ฉีดให้ได้ร้อยละ 70

พื้นที่เป้าหมาย คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) 1,800,000 โดส ภายใน 2 สัปดาห์ ปริมณฑลภายในเดือนกรกฎาคม 2564 และจังหวัดอื่น 17,850,000 โดส ภายในเดือนสิงหาคม 2564

กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรังลงทะเบียนจองล่วงหน้าเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 พื้นที่ระบาดใหม่ ผู้ประกันตน (กทม.+12 จังหวัด) และตามสัดส่วนจำนวนประชากรแต่ละจังหวัด 13,000,000 โดส

ปรับ-โยกงบประมาณจ่ายตรงจุด

ศบค.ปรับแผนการฉีดวัคซีนและเพิ่มดีกรีความเข้ม มาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” มัดแน่น-กินพื้นที่ความเสียหายจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เยียวยานายจ้าง จากเดิม 38,128 ราย เพิ่มเป็น 174,896 ราย

ลูกจ้าง-มาตรา 33 จากเดิม 603,560 คน เพิ่มเป็น 3,158,751 คน รับเงินเยียวยาจากเดิม 2,000 บาทต่อคน เป็น 2,500 บาทต่อคน

ขยายเพิ่มกิจการ กิจกรรมเศรษฐกิจจาก 4 กิจการอีก 5 กิจการ คือ 1.ขายส่ง-ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 2.ขนส่งและคลังสินค้า 3.ข้อมูลข่าวสาร-สื่อสาร 4.วิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ 5.บริหาร-บริการสนับสนุน ใช้เงินกู้เพิ่มขึ้นจาก 2,519 ล้านบาท เป็น 13,504 ล้านบาท

ยอดเงินเยียวยาพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทราประกอบด้วย ผู้ประกอบการ 19,000 ราย ลูกจ้างมาตรา 33 จำนวน 272,000 ราย งบประมาณ 1,500 ล้านบาท

ขณะที่ อาชีพอิสระ-ฟรีแลนซ์ รับเงินเยียวยารายละ 5,000 บาท ม.39 ชลบุรี 9.1 หมื่นราย ฉะเชิงเทรา 2.3 หมื่นราย พระนครศรีอยุธยา 3.4 หมื่นราย และ ม.40 ชลบุรี 6.6 หมื่นราย ฉะเชิงเทรา 3.5 หมื่นราย พระนครศรีอยุธยา 3.6 หมื่นราย

โยกงบประมาณการเยียวยาไปใส่เงินให้ตรงจุดมากขึ้น ตัดงบประมาณ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” จาก 28,000 ล้าน เหลือเพียง 9,800 ล้านบาท

เคลื่อนโครงการโปรเจ็กต์เงินกู้ 1 ล้านล้าน

สำหรับเงินกู้ 1 ล้านล้าน ข้อมูล ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 อนุมัติแล้ว 301 โครงการ วงเงิน 992,802 ล้านบาท คงเหลือ 7,193 ล้านบาท เบิกจ่าย 782,091 ล้านบาท

แผนงาน-โครงการกลุ่มที่ 1 จำนวน 50 โครงการ วงเงิน 50,871 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 21,092 ล้านบาท

1.แผนงานเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายสำหรับแพทย์ จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 6,301 ล้านบาท เบิกจ่าย 4,666 ล้านบาท

2.แผนงานหรือโครงการเพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 20 โครงการ วงเงิน 15,250 ล้านบาท เบิกจ่าย 1,077 ล้านบาท

3.แผนงานหรือโครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษาป้องกันควบคุมโรค จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 17,334 ล้านบาท เบิกจ่าย 14,043 ล้านบาท

4.แผนงานหรือโครงการเพื่อการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล จำนวน 14 โครงการ วงเงิน 10,275 ล้านบาท เบิกจ่าย 1,155 ล้านบาท

5.แผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 8 โครงการ วงเงิน 1,727 ล้านบาท เบิกจ่าย 147 ล้านบาท

แผนงาน-โครงการกลุ่มที่ 2 จำนวน 16 โครงการ วงเงินอนุมัติ 692,655 ล้านบาท คงเหลือ 2,710 ล้านบาท เบิกจ่าย 665,115 ล้านบาท

1.แผนงานเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชน 15 โครงการ วงเงิน 579,353 ล้านบาท เบิกจ่าย 551,812 ล้านบาท

2.แผนงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 113,302 ล้านบาท เบิกจ่าย 113,302 ล้านบาท

แผนงาน-โครงการกลุ่มที่ 3 จำนวน 235 โครงการ วงเงินอนุมัติ 249,275 ล้านบาท คงเหลือ 4,486 ล้านบาท เบิกจ่าย 95,884 ล้านบาท

1.แผนงานพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จำนวน 14 โครงการ วงเงิน 29,527 ล้านบาท เบิกจ่าย 15,073 ล้านบาท

2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน จำนวน 203 โครงการ วงเงิน 9,394 ล้านบาท เบิกจ่าย 2,583 ล้านบาท

3.แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน จำนวน 14 โครงการ วงเงิน 203,201 ล้านบาท เบิกจ่าย 78,099 ล้านบาท

4.แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 7,151 ล้านบาท เบิกจ่าย 127 ล้านบาท

ล่าสุด พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ยอดคงเหลือ 14,411 ล้านบาท

เกณฑ์ใหม่เงินกู้ 5 แสนล้าน

ขณะเดียวกัน รัฐยังมีวงเงินกู้อีก 5 แสนล้าน หาก 2 เดือนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์เอาไม่อยู่ เงินกู้ก้อนใหม่ภายใต้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. … พร้อมจัดสรรสู่การเยียวยา

อาทิ โครงการงวดแรกประมาณ 2 แสนล้าน จะถูกลำเลียงเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ภายใต้กฎหมายที่กำหนดไว้กว้าง ๆ ว่า ลักษณะโครงการที่หน่วยงานจะจัดทำข้อเสนอโครงการต้องเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการและเบิกจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565

และเป็นโครงการที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการได้ทันทีภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี รวมถึงต้องเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการและเบิกจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565

การปรับทิศมาตรการที่เข้มข้นขึ้นสูงสุด พร้อมเงินและสรรพกำลังกว่า 1.5 ล้านล้าน อาจพยุงเศรษฐกิจฝ่าครึ่งปีหลัง 2564 ไปได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ต้นปีหน้าอาจต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง