25 พฤศจิกายน ย้อนเหตุการณ์วันสวรรคต รัชกาลที่ 6

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 6 ทางราชการกำหนดให้วันที่ 25  พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันมหาธีรราชเจ้า และวันวชิราวุธ  

ย้อนไปเมื่อ 97 ปีก่อน ชาววังและหมู่แพทย์หลวง ประจำพระองค์รัชกาลที่ 6 รับรู้กันว่าทรงมีพระโรคประจำพระองค์ เกิดจากการผ่าตัดไส้ติ่ง ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และทรงเริ่มมีพระอาการเบาหวานเข้าแทรก

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2468 ทรงเสด็จออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล บรรยายการเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 6 ไว้ว่า “…วันนั้นข้าพเจ้ากลับบ้านมาราวบ่าย 2 โมงเศษ ได้พูดกับพี่น้องว่า วันพระสุรเสียงในหลวงเบาผิดปกติ รู้สึกว่าท่านทรงเพลีย ๆ อย่างไรชอบกล แต่ก็ไม่มีใครนึกคิดว่าอะไรต่อไป…”

กลางเดือนพฤศจิกายน แม้ล่วงพ้นช่วงเข้าพรรษาแล้ว “…ในคืนนั้น ฝนตกหนักจนน้ำท่วมเจิ่งตรงหน้าอัฒจันทร์พระที่นั่งจักรี ถึงพวกสามีต้องอุ้มภรรยาลงจากรถไปพระที่นั่ง…”

ฝนที่ตกหนัก น้ำฝนที่รั่วลงมาตรงนพปฎลมหาเศวตฉัตร ที่กางกั้นพระที่นั่งพุดตานถมบรมราชอาสน์ประจำท้องพระโรง เป็นลางร้ายที่ชาววังกล่าวขานต่อกัน

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2468 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงประชวรกะทันทัน นายพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์) ตรวจพระอาการและถวายพระโอสถ แต่พระอาการไม่ทุเลาลง กลับเสียดพระอุทร ต้องถวายพระโอสถระงับความเจ็บปวด จากนั้นทรงเริ่มมีพระอาการไข้

ม.จ.พูนพิศมัย ทรงนิพนธ์ สะท้อนบรรยากาศไว้ว่า “…เจ้าคุณศรีเสนา ผู้เป็นเลขานุการของเสด็จพ่อ เดินมาที่เรือนแล้วเรียกข้าพเจ้าไปกระซิบที่หน้าต่างว่า ในหลวงเป็นอะไรก็ไม่รู้ กระทรวงวังเขามาตามในกรมเข้าไปแล้ว ดูดินฟ้าอากาศสิ ใบไม้ไม่ไหวสักใบเดียว ข้าพเจ้าแหงนหน้าขึ้นดูอากาศ ซึ่งไม่มีแดด ไม่มีมีลม ไม่มีเสียงอะไรเลยสักสิ่งเดียว รู้สึกเหมือนโลกหยุดไปเพียง 1-2 นาที แล้วตกใจนิดหน่อย แต่ก็เชื่อว่า คงไม่ทรงเป็นอะไรเกินกว่าที่จะรักษาได้ พอเที่ยงเศษ เสด็จพ่อ เสด็จกลับมาเสวยกลางวัน ก็ตรัสบอกว่า ในหลวงประชวรมาก เข้าเข้าไปฟังพระอาการกันแล้ว”

พระอาการของในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรุดหนักลงมากในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2468 เจ้าพระยารามราฆพ เฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระนางเจ้าสุวัทนาฯ มีพระประสูติการ พระราชธิดา ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า “ก็ดีเหมือนกัน”

วันรุ่งขึ้น 25 พฤศจิกายน 2468 เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ อุ้มเจ้าฟ้าแรกประสูติไปที่ห้องบรรทม แล้วส่งให้เจ้าพระยารามฯ เชิญเสด็จเข้าไปถวายในพระที่ ในหลวงทรงทอดพระเนตรพระราชธิดา ทรงวางพระหัตถ์ ลงบนพระอุระพระราชธิดา จากนั้นก็บรรทมหลับ

กลางดึกคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 เวลาประมาณ 1.45 นาฬิกา เสียงร้องให้ก็ระงมขึ้นจากห้องบรรทม…และความทุกข์โศกสลดก็กระจายทั่วทั้งแผ่นดิน

ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ ไว้ว่า รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชนิยม และสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ในพระราชวงศ์จักรีไว้ อย่างน้อย 20 ประการ

1.โรงเรียนวชิราวุธ มีพระราชประสงค์จะให้เป็น public school ของอังกฤษ เมื่อจบแล้วออกไปรับราชการในราชสำนัก ฝึกหัดเป็นมหาดเล็กหลวง

2.มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ทรงใช้เงินที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้า ในรัชกาลที่ 5 พร้อมพระราชทานที่ดินของพระคลังข้างที่ทั้งผืน

3.ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้นามสกุล เป็นครั้งแรก

4.ทรงสร้างพระพุทธรูป ถวายพระนามว่า “พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนิยบพิตร์”

5.ทรงตั้งคณะ “ลูกเสือ”

6.สร้างเรือรบ “พระร่วง” เรือหลวงลำแรกในประวัติศาสตร์ไทย จัดตั้งราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

7.สร้างสะพานพระราม 6 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำในพระนครเป็นอันแรก

8.พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วเสร็จมีการขึ้นพระที่นั่ง ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบ

9.ทรงสร้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

10.ทรงขยายพระตำหนักพญาไท ตามแบบที่ทรงออกแบบเอง

11.ทรงสร้างเมืองเล็กเรียกว่า ดุสิตธานี ขึ้นในสวนที่พระราชวังพญาไท

12.เปิดใช้การประปา

13.โปรดให้เลิกโรงหวย โรงบ่อน

14.เลิกใช้ฝรั่งเดินรถและเรือไฟในทางราชการ

15.ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ไม่น้อยกว่า 160 เล่ม

16.ให้ผู้หญิงไว้ผมยาวและนุ่งผ้าซิ่น

17.ทรงเปลี่ยนธงช้างเป็นธงไตรรงค์

18.ทรงเปลี่ยนคำปลายของเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็น “ชัยโย” จากคำเก่า ที่ลงท้ายว่า “ฉนี้”

19.โปรดให้จัดงานรื่นเริง-งานเลี้ยงแต่งแฟนซี การแสดงละคร

20.ทรงยกเลิกธรรมเนียม การถวายรายชื่อหญิงบรรดาศักดิ์ 12 พระกำนัล เพื่อทรงใช้สอยหลังพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชกิจประจำวัน ตามที่ “ม.จ.พูนพิศมัย” บันทึกไว้คือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตื่นบรรทมราว 11-12.30 นาฬิกา ทรงหนังสือราชการ เสวยพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ทรงกีฬาเทนนิส แบดมินตัน ทรงพระอักษร ตอนค่ำมักจะมีข้าราชการเข้าร่วมโต๊ะเสวย (ตามที่เจ้าพระยารามฯเห็นชอบ) ซ้อมละคร ทรงไพ่ bridge…ทรงไดอารี่”

เกี่ยวกับ “บันทึกส่วนพระองค์” หรือ “ไดอารี่” ทั้งหมด 6 เล่มนั้น มีการบันทึกไว้ 2 แบบ

แบบแรก ผู้ใช้นามปากกาว่า “สมัยทอง” แห่งหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ เขียนไว้ว่า “…เมื่อใกล้สวรรคต พระราชทานกุญแจตู้ที่เก็บพระสมุดให้เจ้าพระยารามราฆพรักษาไว้” และมีพระราชดำรัสว่า “สมุดเหล่านี้ข้าให้เจ้า เมื่อข้าตายแล้ว แต่ไปในภายภาคหน้า จงพิมพ์สมุดเหล่านี้ออกขายเถิดจะได้เงินมาก”

ภายหลังที่เสด็จสวรรคต…รัชกาลที่ 7 รับสั่งเรียกสมุดเหล่านี้ไปทอดพระเนตร เมื่อเจ้าคุณรามฯขอพระราชทานคืน ได้ทรงตอบว่า “สมุดบันทึกส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 6 เป็นหนังสือราชการลับ หาสมควรพระราชทานแก่ผู้หนึ่งผู้ใด”…สมุดจึงตกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

แบบที่สอง ม.จ.พูนพิศมัย บันทึกไว้ว่า “เจ้าพระยารามฯ ได้คืนไป และได้เอาไปให้รัฐบาลใหม่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว”

ต้นฉบับ “บันทึกส่วนพระองค์” ที่ทรงใช้นามปากกาว่า “ราม วชิราวุธ” ทรงบันทึกไว้ว่า “พระวัติต้นรัชกาลที่ ๖ จัดไว้ให้แด่เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ) ผู้เป็นศุภนิมิตร เล่มที่ ๑ กล่าวตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลก่อนจนสิ้นปี พ.ศ. ๒๔๕๓ มีบัญชีเรื่องอยู่ท้ายสมุด แต่น่า ๔๐๑ ไป”

ต่อมาอยู่ในความครอบครองของ “พระมหาเทพกษัตรสมุห” อดีตข้าราชสำนักในรัชกาลที่ 6 ซึ่งสำนักพิมพ์มติชน ได้ตีพิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรก เดือนพฤศจิกายน 2545

รายชื่อของมหาดเล็กผู้ใหญ่ที่ในหลวง รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดฯใช้สอยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ร่วมโต๊ะเสวย อาทิ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.พื้น พึ่งบุญ) และพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล)

กล่าวสำหรับ “เจ้าพระยารามราฆพ” นับเป็นอำมาตย์ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ทรงลงลายพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยารามราฆพ ไว้ในพระราชบันทึกส่วนพระองค์ว่า “เป็นศุภมิตร” โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงยศและบรรดาศักดิ์ 23 ตำแหน่ง

“ตำแหน่งหน้าที่และบรรดาศักดิ์ ได้เป็นถึง 23 ตำแหน่ง แต่ใน 11 ตำแหน่ง ไม่ต้องมีความรับผิดชอบอันใด นอกจากไปนั่งประชุมเพื่อฟัง มาเรียนพระราชปฏิบัติเป็นบางครั้งบางคราว เป็นนายทหารพิเศษถึงนายพล เพื่อแต่งยูนิฟอร์มตามหน้าที่สมุหราชองครักษ์” พระราชนิพนธ์ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงระบุไว้

ยศและตำแหน่ง เจ้าพระยารามราฆพ-เป็นทั้งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก สมุหราชองครักษ์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ราชเลขานุการพิเศษ, ราชองครักษ์พิเศษ, ผู้กำกับราชการกรมเรือยนตร์หลวง, เป็นอุปนายกเสือป่า, อุปนายกผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระ, กรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน (ชื่อเดิม แบงก์ลีฟอเธีย) นอกจากนั้นยังเป็นกรรมการที่ปรึกษา 7 แห่ง อาทิ

กรรมการที่ปรึกษาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, ที่ปรึกษาสภากาชาดแห่งสยาม, ที่ปรึกษาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยสภานายกราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม, สภานายกและกรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม, เป็นสภานายกราชตฤณมัยแห่งสยาม, ราชเลขานุการส่วนพระองค์

“มีแต่ตำแหน่งประจำคือ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กและผู้ช่วยราชการกระทรวงวัง สองหน้าที่นี้ที่เจ้าพระยารามฯ จะต้องรับผิดชอบเต็มที่ในฐานะอย่างคนสามัญเรียกว่า ‘พ่อบ้านแม่เรือน’ ฉะนั้นสิ่งไรเกี่ยวแก่ราชสำนัก เจ้าพระยารามฯ จะต้องรับผิดและชอบด้วยเป็นธรรมดาอยู่เอง”

ความก้าวหน้าในวงราชการ-ราชสำนัก รวดเร็ว ตามที่มีการกล่าวกันไว้ว่า เมื่ออายุได้ 22 ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ จากนั้นได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าพระยารามราฆพ ชั้นสุพรรณบัฏ อันเป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ ขั้นสูงสุดทางราชการ ขณะที่มีอายุเพียง 31 ปี

ราชทินนาม “รามราฆพ” นั้นเป็นชื่อตำแหน่งหม่อมเจ้าราชนิกุล ผู้นั่งกลางช้างให้สมเด็จพระนเรศวรในสงครามยุทธหัตถีตามพงศาวดาร สะท้อนว่ารัชกาลที่ 6 ไว้วางพระราชหฤทัยเจ้าพระยารามราฆพ มากเพียงใด

ดังคำประกาศเลื่อนเกียรติยศ จากพระยาประสิทธิ์ศุภการ ขึ้นเป็นเจ้าพระยารามราฆพ ตอนหนึ่งระบุว่า

“เป็นผู้จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมั่นคงยิ่งนัก…ทรงไว้วางพระราชฤทัยมาช้านาน มีปรีชาญาณหยั่งทราบในกระแสร์พระบรมราโชบาย ตั้งใจสนองพระเดชพระคุณด้วยความอุตสาหะวิริยภาพอันแรงกล้า และเป็นผู้มีความประพฤติดำรงตนอยู่ในฐานะอันควรแก่ฐานันดรศักดิ์ที่ทรงพระกรุณาชุบเกล้าฯ แต่งตั้งไว้…นับว่าเป็นผู้เชิดชูเกียรติยศแห่งข้าหลวงเดิมทั้งปวง สมควรที่จะได้รับอิสริยศบรรดาศักดิ์สูง สมแก่ตำแหน่งราชการซึ่งได้บังคับบัญชาต่างพระเนตร์พระกรรณ์ให้ปรากฏสืบไป”

คำประกาศเลื่อนเกียรติยศนี้ ตามธรรมเนียม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งประกาศเอง หากไม่ทรงมีเวลา จะโปรดให้ผู้อื่นแต่งตามพระราชประสงค์และทรงตรวจแก้เอง ก่อนประกาศ

ม.จ.พูนพิศมัย ยังบันทึกไว้ด้วยว่า “…เจ้าพระยารามฯ เป็นพระเนตร พระกรรณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การที่ได้เป็นพระเนตรพระกรรณนี่แหละ คือได้กำอำนาจไว้ทั้งหมด เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นสุภาพบุรุษของอังกฤษ ซึ่งโดยมากยอมรักษาระเบียบ reserve และกระดาก shy ในการที่จะขยายตัวเองในการสมาคม break society จึงต้องมีคนที่เป็นพระเนตรและพระกรรณ”

นอกจากนี้ มีหลักฐานที่ชาววังสมัยนั้น เชื่อว่ามีอำมาตย์ ที่รู้จักและถวายงานพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 อย่างดี มีอยู่อย่างน้อย 2 คน คือ 1.พระองค์เจ้าธานีนิวัติ และ 2.พระยาบุรีนวราษฎร์ (ชวน สิงหเสนี) เพราะท่านทั้งสองนี้ เป็นนักเรียนอังกฤษในสมัยใกล้ ๆ กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เป็นราชเลขานุการในพระองค์มาทั้งสองคน

ผู้ที่ในหลวง รัชกาลที่ 6 ทรงยกย่องเป็น “ศุภมิตร” อีกคน คือ “พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร” หรืออ๊อต ศุภมิตร สมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ในระหว่างที่ถวายงานในฐานะพระอภิบาลและราชองครักษ์อยู่ที่อังกฤษ เจ้าพระยาศุภมิตรได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายงานพิเศษ