แบงก์ชาติ แจงข้อแตกต่าง “เงินบาทดิจิทัล” กับ “คริปโทเคอร์เรนซี”

ธปท. ประกาศเริ่มทดสอบการใช้ CBDC หรือ “เงินบาทดิจิทัล” ในช่วงปลายปี 2565 แจงข้อแตกต่างจาก “คริปโทเคอร์เรนซี”

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 นายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปี 2565 ธปท. จะเริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC (Central Bank Digital Currency) กับภาคประชาชนในวงจำกัด

ทั้งนี้ เบื้องต้นผู้ที่เข้าร่วมการทดสอบ จะมีภาคสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) รวมถึงภาคประชาชน ซึ่งจะต้องดูขนาดของการทดสอบ แต่โดยรวมผู้เข้าร่วมทดลองกว่า 1 หมื่นราย

Central Bank Digital Currency (CBDC) คือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือน “เงินบาท” หรือ “ธนบัตร” เพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล สามารถใช้เป็นสื่อกลางเพื่อชําระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย และสามารถรักษามูลค่าให้ไม่ ผันผวน

ต่างจาก cryptocurrency ที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งมักมีมูลค่าที่ผันผวน และความเสี่ยง ซึ่งขึ้นกับผู้ออกเหรียญ จึงไม่เหมาะที่จะนํามาใช้เป็นสื่อกลางในการชําระค่าสินค้าและบริการ

ขณะที่ stablecoin เป็นเงินสกุลดิจิทัล ที่แม้จะมีเงินสกุลปกติ ,หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน เช่น ทองคํา ค้ำประกันให้มูลค่าไม่ผันผวนมากนัก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากผู้ออกอยู่เช่นกัน

นอกจากนี้นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวเสริมว่าการทำ Retail CBDC จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ธปท.ไม่ได้มีแผนที่จะออก CBDC เพื่อมาแข่งขันกับ Stable Coin หรือ Cryptocurrency เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่ม แต่การทดลอง CBDC เพื่อมาเติมเต็มเรื่องของเงินสด ที่เปลี่ยนรูปแบบจากธนบัตร มาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยลดต้นทุน และสามารถต่อยอดนวัตกรรมและการบริการได้