พสุ ลิปตพัลลภ อยู่กับความไม่แน่นอน…เทรนด์เศรษฐกิจปี 2566

พสุ ลิปตพัลลภ
พสุ ลิปตพัลลภ

โค้งสุดท้ายปีเสือ บิ๊กอีเวนต์งานสัมมนาส่งท้ายปีหัวข้อ “ท้าชน PERFECT STORM ทางรอดเศรษฐกิจไทย” จัดโดย หนังสือพิมพ์มติชน และมติชนออนไลน์ ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ โดย “พสุ ลิปตพัลลภ” กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา หัวข้อ “Thailand New Chapter 2023” เพื่อประเมินแนวโน้มปัจจัยบวกและปัจจัยลบในการทำธุรกิจปี 2566 อย่างน่าสนใจ สรุปสาระสำคัญดังนี้

เหรียญสองด้าน “บาทอ่อนค่า”

“พสุ” เปิดประเด็นว่า บริษัทพราวประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดได้ติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เป็น 1.00% ต่อปีนั้น เป็นสัญญาณหนึ่งที่อาจมีการปรับการคาดการณ์จีดีพีลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าที่ 3% เล็กน้อย ด้วยเงินบาทที่อ่อนค่าลงทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์

แต่เมื่อเทียบกับคู่ค้าของไทย นอกจากสหรัฐอเมริกา อาทิ จีน ญี่ปุ่น จะพบว่าเงินอ่อนค่าลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกัน และเป็นสัญญาณว่า ภาวะเงินเฟ้ออาจไม่ยืดเยื้อ

โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 6% ในปีนี้ เหลือ 2% ในปี 2566 ซึ่งทั้งเงินบาทที่อ่อนค่าและภาวะเงินเฟ้อมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของการท่องเที่ยว

พสุ ลิปตพัลลภ

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ปี 2565 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 21 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจาบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นที่ 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยมี ซึ่งจะเป็นส่วนชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนที่หายไป เพราะช่วงที่ผ่านมาไทยยังตามหลังหลายประเทศในอาเซียน

ขณะนี้จึงรอจังหวะว่าจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะกลับมาเมื่อไร เพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถ้านักท่องเที่ยวเดินทางมาเพิ่มขึ้นและมีการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพราะมีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจของประชาชนและกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มมากขึ้นด้วย

จับตาวิกฤต ศก.โลกถดถอย

ในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีน ก็ยังต้องเดินหน้าลดหนี้ที่มีอยู่ในระบบให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจพัง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทั้่งโลกยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้การที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ 10 ล้านคน ปีหน้า 21 ล้านคน ก็อาจไม่ง่ายนัก

รวมไปถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งในช่วงเกิดโควิด พบว่ามีคนเปลี่ยนอาชีพจำนวนมาก เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เปลี่ยนอาชีพไปขายรถยนต์ เป็นต้น

นอกจากนี้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเป็นปกติได้โดยง่าย ตราบใดที่สถานการณ์เศรษฐกิจข้างหน้ายังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นทั้งหมดถือเป็นความท้าทาย ว่าประเทศไทยจะได้นักท่องเที่ยวตามเป้าหมายหรือไม่ นอกเหนือจากเศรษฐกิจโลกที่ยังต้องจับตา

จีนต่ออายุนโยบาย Zero COVID

“เราจะกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทยได้อย่างไร ปัจจุบันจีนมีนโยบาย Zero COVID Policy และยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อเนื่อง จึงเป็นความเสี่ยงหนึ่ง ดังนั้นต่อให้ประเทศไทยเปิดประเทศแต่แนวโน้มนักท่องเที่ยวไม่กลับมาเพิ่มขึ้นมากนัก”

และด้วยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐของจีน อาจเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้ไม่ยอมปล่อยนักท่องเที่ยวออกมา เพราะต้องการให้มีการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่า

อีกทั้งประชากรจีนอายุ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวน 250 ล้านคน ยังไม่รับวัคซีนโควิด ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่มาก

ดังนั้นการตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจถดถอย คนไม่มีเงิน หรือต้องประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ นักท่องเที่ยวก็อาจจะไม่มา จึงถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเพราะ “การท่องเที่ยวไม่ง่ายเหมือนการเปิด-ปิดสวิตช์”

ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นตลอด

“พสุ” ได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลและเอกชนไทยว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ต้องขอชื่นชมทุกคนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ที่ใจสู้ เพราะต่างไม่เคยเจอสถานการณ์ที่รายได้เป็นศูนย์ และยังต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

แต่ขณะเดียวกันโควิดก็ทำให้ได้รับโอกาสในการเปิดตลาดใหม่เพิ่มขึ้น โดยพุ่งเป้าไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง เพื่อกระจายความเสี่ยงและไม่จำเป็นต้องยึดติดแบบเดิม

รวมทั้งมีการตั้งเป้ากับนักท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเพียงอย่างเดียว แต่จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และใช้จ่ายเงินมากขึ้น เป็นเรื่องสำคัญ

“หากเราทำความเข้าใจธรรมชาติ จะพบว่าเหตุการณ์ความไม่แน่นอนแบบโควิดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ รวมถึงโครงสร้างเศรษฐกิจเอง ก็ต้องดูว่า นอกเหนือจากการพึ่งพาด้านการท่องเที่ยวแล้ว จะสามารถพึ่งพาส่วนไหนได้อีกบ้าง ซึ่งต้องวางแผนรับมือทั้งในระยะกลางและยาว เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต และพร้อมที่จะรับมือมากขึ้น”