ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ 2566 อีกคืบเดียวเข้าสู่หลักชัยธุรกิจหมื่นล้าน

ลลิล

เติบโตอย่างมั่นคงสำหรับค่ายอสังหาริมทรัพย์ “ลลิล พร็อพเพอร์ตี้”

แผนธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นสูงตอนต้นปี และไปจบอย่างสวย ๆ ตอนสิ้นปี ทั้งตัวเลขเปิดตัวโครงการใหม่-ยอดขาย-ยอดรับรู้รายได้

ล่าสุด แผนธุรกิจปี 2566 แม้จะยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจนานาประการ แต่สำหรับลลิลฯยังคงพกความมั่นใจในการประกาศแผนลงทุนใหม่ต่อเนื่อง 10-12 โครงการ มูลค่าโครงการ 7,000-8,000 ล้านบาท

ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 8,600 ล้านบาท คาดว่าเบ่งอีกนิดเดียวภายใน 1-2 ปีน่าจะสามารถเข้าสู่เป้ายอดขายหลักหมื่นล้านบาทได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ขณะที่ตั้งเป้ายอดรับรู้รายได้ 6,850 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นอัตราเติบโตที่ 10% และถ้าสังเกตให้ดีก็ต้องนับเป็นอัตราเติบโตที่ค่อนข้างสม่ำเสมออีกต่างหาก

2566 ตั้งเป้าเติบโตเหนือตลาด

“ไชยยันต์ ชาครกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) อดีตนายกรุ่นก่อตั้งสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กระดูกเบอร์ใหญ่วงการอสังหาฯเมืองไทย ประมวลภาพรวมภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัจจัยหนุนจากมาตรการรัฐในการลดค่าโอนจาก 2% เหลือ 1% หรือล้านละ 2 หมื่นบาท เหลือ 1 หมื่นบาท และลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% หรือล้านละ 1 หมื่นบาท เหลือล้านละ 100 บาท สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาททั้งหลังใหม่และมือสอง

รวมถึงการฟื้นตัวของลูกค้าที่ทำงานในกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคาร

“แม้แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมปี 2566 ไม่เอื้ออำนวยมากนัก แต่ลลิลฯมีความเชื่อมั่นในแผนลงทุนที่ตั้งเป้าว่าจะสามารถขยายตัวได้ จึงตั้งเป้าแผนธุรกิจปีนี้จะเติบโต 10% เทียบกับปี 2565 ซึ่งสูงกว่าภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งระบบที่คาดว่าจะขยายตัว 3-5%”

ที่มั่นแข็งแรง-ลูกค้าเรียลดีมานด์

ผู้บริหารคนรุ่นใหม่ “ชูรัชฏ์ ชาครกุล” กรรมการผู้จัดการ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องใหม่ปีนี้ มุ่งเน้นไปสู่การเป็น digital organization เต็มรูปแบบ และยกระดับสู่การเป็น national property company ในที่สุด

ในด้านสถานะการเงิน ลลิลฯโชว์ความแข็งแกร่งด้วยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) 0.55 เท่า (เหตุผลหลักเพราะเน้นพัฒนาโครงการบ้านแนวราบเป็นหลัก ไม่ต้องแบกภาระลงทุนข้ามปีเหมือนกับการลงทุนคอนโดมิเนียม) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งอยู่ที่ 1.4-1.5 เท่า

และตั้งวงเงินจัดซื้อที่ดิน 1,500-1,600 ล้านบาท โดยแบเบอร์ด้วยว่าวงเงินดังกล่าวปรับเพิ่ม-ลดได้ตามสถานการณ์จริง มีความยืดหยุ่นสูง รองรับการขยายธุรกิจตามแผนงาน และการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท

อีกเรื่องสำคัญคือแผนการตลาดปี 2566 เน้นโมเดล customer centric ผ่านกลยุทธ์ lifestyle marketing+experience marketing ต่อยอดการทำตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มมากขึ้น มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยนำบิ๊กดาต้ามาละเลียดและวิเคราะห์หาคำตอบ customer insights

มีฐานลูกค้าที่มั่นคงแข็งแรงเป็นลูกค้าเรียลดีมานด์ ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง

โดยปี 2565 ที่ผ่านมา พกความมั่นใจประกาศตัวว่า ลลิลฯเป็นรายแรกที่นำสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสมาออกแบบบ้านสไตล์ French colonial บนทำเลศักยภาพ ในราคาที่คุ้มค่า และจับต้องได้