36 ปี “ลลิล พร็อพเพอร์ตี้” ก้าวสู่ท็อป 3 บ้านหลังแรกในใจลูกค้า

ชูรัชฏ์ ชาครกุล
ชูรัชฏ์ ชาครกุล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ยืนหยัดอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากว่า 3 ทศวรรษ สำหรับบริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เรียกว่าผ่านประสบการณ์มาทุกสมรภูมิที่มีผลต่อการลงทุนอสังหาฯ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตธุรกิจอสังหาฯปี 2540 กลุ่มลลิลฯถือเป็นหนึ่งในบริษัทมหาชนที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และไม่ได้เป็นหนี้ NPL กับสถาบันการเงิน แถมยังพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ริเริ่มการทำการตลาดบ้านจัดสรรรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งโครงการ Friend get Friend และการนำระบบค้ำประกันเงินดาวน์ (Escrow Account) มาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า เป็นต้น

ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 36 บริษัทได้วางเป้าหมายสำคัญที่จะก้าวขึ้นเป็น National Property เพื่อส่งมอบที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพให้กับกลุ่มลูกค้า ถือเป็นโจทย์ยากและท้าทายการบริหารงานของ “ชูรัชฏ์ ชาครกุล” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ทายาทรุ่นที่ 2 ที่รับไม้ต่อมาจากคุณพ่อ “ไชยยันต์ ชาครกุล” เข้ามาดูแลธุรกิจอสังหาฯของครอบครัวมาได้ 13 ปีแล้ว

ฝันใหญ่ National Property

“ชูรัชฏ์” บอกว่า บริษัทได้วางเป้าหมายในระยะยาว ตั้งเป้าที่จะเป็น national property company หรือการเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทถือเป็นผู้ประกอบการรายแรก ๆ ที่ขยายการลงทุนไปในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ส่วนในอนาคตอันใกล้ต้องการจะขยายสู่จังหวัดอื่น ๆ เพิ่มเติม

ที่ผ่านมาเริ่มเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และภูเก็ต แต่ช่วงจังหวะเวลานี้ยังไม่เหมาะในการลงทุน เพราะแต่ละจังหวัดในเมืองท่องเที่ยวเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด คงต้องรอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเต็มที่กว่านี้ก่อน โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจท่องเที่ยวของไทย อีกทั้งในแต่ละจังหวัดก็มีแม่เหล็กในการดึงดูดให้เข้าไปลงทุนไม่เหมือนกัน

ขณะเดียวกัน ลลิลฯยังมีความสนใจที่จะก้าวเข้าไปเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่จำกัดเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ต้องการขยายสู่การพัฒนาอสังหาฯ ที่สร้างรายได้ประจำในระยะยาว (recurring income) โดยทีมพัฒนาธุรกิจของลลิลฯเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโดยเฉพาะ ทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจศูนย์การค้า รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ

เพราะมองว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่มีต่างชาติมาทำงานจำนวนมาก (expat) และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับคนจีนได้ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในเมืองไทยจำนวนมาก เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติของประเทศจีนมีค่าเทอมค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับไทย ทำให้มองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้

Advertisment

Top 3 ตัวเลือกซื้อบ้านหลังแรก

นอกจากนี้ กลุ่มลลิลฯยังมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทที่พัฒนาสินค้าให้ตรงใจลูกค้า เพื่อก้าวสู่การเป็น 1 ใน 3 ของบริษัทอสังหาฯที่ลูกค้าเลือกซื้อบ้านหลังแรก โดยเฉพาะกลุ่มทาวน์โฮมระดับราคา 2-3 ล้านบาท ที่มีตั้งแต่แบรนด์ “ไลโอ-ไลโอ บริสซ์-ไลโอ เพรสทีจ” ส่วนบ้านเดี่ยวราคา 3-6 ล้านบาท มีแบรนด์ “แลนซิโอ” เป็นแบรนด์หลัก และแบรนด์ “บ้านลลิล” ซึ่งเป็นบ้านหรูในระดับราคา 6-8 ล้านบาท

“ลลิลฯจะเน้นการตอบโจทย์การอยู่อาศัยของผู้บริโภคในปัจจุบันผ่านการใช้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า ทำให้มีความรู้ความเข้าใจลูกค้า เพราะคนที่ตัดสินเราไม่ใช่คู่แข่ง แต่คือลูกค้า ซึ่งหัวใจสำคัญของการเลือกซื้อบ้านคือทำเลที่ตั้งโครงการ มีการเดินทางเข้าสู่แหล่งงานสะดวก มีแหล่งจับจ่ายใช้สอย มีโรงพยาบาล และโรงเรียน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานของลูกค้า ถัดมาคือราคา ต้องตอบโจทย์ทุกความต้องการลูกค้า และการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านให้สามารถใช้ประโยชน์ใช้สอยได้ทุกพื้นที่”

Advertisment

โดยเฉพาะการออกแบบให้มีห้องอเนกประสงค์ชั้นล่าง ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องทำงานที่บ้าน (work from home) ห้องเรียนออนไลน์ (learn from home) หรือเป็นห้องสำหรับไลฟ์ขายของผ่านออนไลน์

ที่สำคัญ โมเดลการทำธุรกิจของบริษัท 60-70% เป็นบ้านสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ส่วนที่เหลือเป็นบ้านสั่งสร้างที่ให้ลูกค้าผ่อนดาวน์ได้ไม่เกิน 3 เดือน เพราะก่อสร้างบ้านด้วยระบบพรีแคสต์

ตลาดอสังหาฯครึ่งปีหลังเริ่มฟื้นตัว

“ชูรัชฏ์” ให้ความเห็นต่อภาพรวมตลาดอสังหาฯในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ว่า ตลาดโดยรวมน่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากประเทศไทยได้เริ่มเปิดประเทศให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและติดต่อธุรกิจได้ ส่งผลให้ธุรกิจบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ร้านอาหารเริ่มดีขึ้น เพราะชาวต่างชาติถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

ประเมินได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวเฉพาะกรกฎาคมเดือนเดียว มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากว่า 1 ล้านคน ทำให้รัฐบาลได้ขยับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้เป็น 10 ล้านคนจากเดิม 8 ล้านคน โดยตั้งเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่อเดือนอยู่ที่ 1.5-2 ล้านคน

ขณะที่ภาคธุรกิจส่งออกเริ่มมีสัญญาณที่ดีเช่นกัน แต่เป็นการเติบโตแบบไม่หวือหวาเหมือนในอดีต เนื่องจากคู่ค้าทั่วโลกก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นกัน โดยรัฐบาลประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.9% ซึ่งครึ่งปีแรกขยายตัวไปแล้ว 2.4% ดังนั้นเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังจะต้องขยายตัวให้ได้ 3.5% ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์

พลังงาน-เงินเฟ้อ-หนี้ครัวเรือน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปีนี้และเป็นปัจจัยกดดันตลาดอสังหาริมทรัพย์คือหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น เงินเฟ้อ ในขณะที่ราคาเหล็กเริ่มลดลงเกือบจะใกล้เคียงราคาเดิมแล้ว ส่วนราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับ 90-100 เหรียญ คาดว่าในระยะ 3-6 เดือนจากนี้ ถ้าไม่มีปัจจัยเข้ามากระทบคาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับนี้ ดังนั้นปัจจัยค่าพลังงาน เงินเฟ้อ ยังเป็นปัจจัยกดดันหนี้ครัวเรือน

“เศรษฐกิจไทยมีชนักติดหลัง โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อเนื่องมาเป็นไตรมาสที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยหลักกระทบกับภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก เพราะคนจะกู้ก็กู้ยากขึ้น หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ทำให้การปล่อยกู้ยากขึ้น”

ส่วนค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นกระทบต้นทุนของธุรกิจอสังหาฯไม่มาก เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในภาคธุรกิจก่อสร้างที่อยู่อาศัยในปัจจุบันสูงเกินค่าแรงขั้นต่ำมานานแล้ว โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ แต่จะมีผลกระทบกับแรงงานก่อสร้างทั่วไปซึ่งเป็นส่วนน้อย เพราะการก่อสร้างบ้านในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีก่อสร้างบ้านด้วยระบบพรีแคสต์มากขึ้น ลดการใช้จำนวนแรงงานไปได้เยอะ และลดระยะเวลาในการก่อสร้างลงค่อนข้างมาก

โดยบ้าน 1 หลังใช้แรงงานเพียง 4 คน โครงสร้างบ้านใช้เวลาสร้างเสร็จภายใน 4 วันเท่านั้น ส่วนงานก่อสร้างที่เหลือจะเน้นแรงงานฝีมือ ทั้งงานฉาบ งานหลังคา งานปูกระเบื้อง และเดินระบบไฟฟ้า เป็นต้น

แนะคนซื้อบ้านรีบตัดสินใจปีนี้

สำหรับลูกค้าที่กำลังมองหาซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ “ชูรัชฏ์” ให้คำแนะนำว่า ช่วงนี้ควรรีบตัดสินใจซื้อ เพราะบ้านสต๊อกต้นทุนเก่าเริ่มมีจำกัดแล้ว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเป็นช่วงขาขึ้น หากต้องการล็อกอัตราดอกเบี้ยควรรีบตัดสินใจซื้อช่วงนี้ เพราะธนาคารยังคงอัตราดอกเบี้ยเก่าให้ได้นานที่สุด โดยเฉพาะธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน

“ตลอด 36 ปีที่ผ่านมา ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ขายเรื่องคุณภาพความเป็นอยู่ (quality of living) ขายความจริงใจ ให้ลูกค้า ซึ่งภารกิจของเราไม่ได้จบ ณ วันที่โอนบ้านให้ลูกค้า แต่ยังดูแลบริการหลังการขายให้ลูกค้าต่อ และเมื่อเวลาผ่านไป ลูกค้าอยากเปลี่ยนบ้านหลังใหญ่ขึ้น จะได้นึกถึงเราก่อน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีลูกค้ากลับมาซื้อโครงการของลลิลฯบ้างพอสมควร”

ส่วนฐานลูกค้าที่ได้จากลูกค้าเก่าบอกต่อ (word of mouth) มีสัดส่วนราว 30%