เร่งต่อขยายสาย “น้ำเงิน-เขียว-ส้ม-แดง” สนข.ชะลอพิมพ์เขียวรถไฟฟ้าเฟส 2

แฟ้มภาพ

เป็นที่แน่ชัด “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” จะเร่งบรรจุรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล “แคราย-ลำสาลี” เป็นรถไฟฟ้าสายที่ 11 ไว้ในแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-map) ใช้เวลาดำเนินการ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2572

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสารพัดสีมีการพัฒนาโครงการจนเกือบจะครบ 10 เส้นทาง ยังเหลือสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก) ระยะทาง 19 กม. สีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง 8.5 กม. สีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 23.6 กม. ที่กำลังจะเปิดประกวดราคา และส่วนต่อขยายของสายน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) ระยะทาง 8 กม. สีเขียวเข้ม (สมุทรปราการ-บางปู) ระยะทาง 9.5 กม. สีเขียวเข้ม (คูคต-ลำลูกกา) ระยะทาง 6.5 กม. สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ระยะทาง 13.4 กม. แอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท) ระยะทาง 21.8 กม. สีแดงเข้ม (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์) 8.9 กม. และสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) 19.7 กม. เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเปิดประมูลภายในปี 2561

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ปัจจุบัน “สนข.” กำลังจัดทำแผนพัฒนาโครงการในพื้นที่ต่อเนื่อง และเชื่อมไปยังจังหวัดปริมณฑลมากขึ้น โดยร่วมกับประเทศญี่ปุ่นศึกษา หลังได้รับการสนับสนุนจาก “ไจก้า-องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น” ด้วยการนำโมเดลการพัฒนาจากญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ โดยทบทวนบางโครงการในแผนเดิม และสร้างเพิ่มเติมในบางพื้นที่ที่ยังขาดช่วงอยู่

ความคืบหน้าล่าสุด “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า แผนแม่บทรถไฟฟ้าเฟส 2 อาจจะต้องชะลอออกไปก่อน เพราะต้องดูปริมาณผู้โดยสารในพื้นที่ชานเมืองว่ามีมากพอที่รัฐจะต้องลงทุนสร้างรถไฟฟ้าหรือไม่

“คอนเซ็ปต์รถไฟฟ้าระยะที่ 2 เติมเต็มโครงข่ายในเฟสแรกที่กำลังดำเนินการ ต้องดูว่าความต้องการในการเดินทางมีมากน้อยแค่ไหน และยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ที่จะสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายไปชานเมือง หรือจะทำเฉพาะระบบฟีดเดอร์มารองรับการเดินทาง”

แผนแม่บทรถไฟฟ้า 10 เส้นทางเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการจราจร เพิ่มทางเลือกการเดินทางให้กับประชาชนที่เข้ามาทำงานในเมือง เนื่องจากเมืองมีการขยายไปรอบนอกกรุงเทพฯมากขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินถูก ทำให้เกิดเมืองบริวารในย่านชานเมือง

ปัจจุบันการพัฒนาตามแผนแม่บทเดิมยังไม่เต็มโครงข่าย ต้องเร่งรัดตรงนี้ให้เสร็จในปี 2572 ซึ่งรถไฟฟ้าปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่าสามารถช่วยเรื่องการเดินทางได้เป็นอย่างดี ขณะที่การพัฒนาเมืองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก หลังรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ เปิดบริการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการซื้อตึกแถวเพื่อพัฒนาโครงการและพัฒนาเมือง เช่น สำนักงาน ที่อยู่อาศัย เป็นการเพิ่มมูลค่า พื้นที่ใจกลางเมือง

ต่อไปทางกรมโยธาธิการและผังเมืองกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องวางแผนพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนแม่บท อย่างสายสีน้ำตาลที่ สนข.กำลังจะขออนุมัติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) บรรจุเพิ่มในแผนแม่บทปัจจุบัน เนื่องจากรถไฟฟ้าสายนี้จะตอบโจทย์การเดินทางโซนตะวันออกและตะวันตก จึงต้องเร่งก่อสร้างโดยเร็ว เมื่อเปิดบริการจะเป็นรถไฟฟ้าสายรองเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายหลัก มีสีม่วง สีแดง สีเขียว สีเทา สีส้ม และสีเหลือง


เนื่องจากย่านเกษตร-นวมินทร์เปลี่ยนแปลงไปมาก มีโครงการอยู่อาศัยและกิจกรรมเชิงพาณิชย์เกิดขึ้น ทำให้มีปัญหาการจราจรหนาแน่น สายสีน้ำตาลจะเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางในอนาคต