AREA ฟันธง ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 450 บาท ไม่ทำให้ราคาบ้านแพงขึ้น

ขึ้นค่าแรง 450 บาท

สำนักวิจัยอสังหาฯ ค่าย AREA ชี้ นโยบายหาเสียงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท คำนวณแล้วมีผลทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเพียง 3-4.7% ไม่มีผลทำให้ราคาบ้าน-คอนโดฯเพิ่มขึ้น

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA

กล่าวว่า นโยบายหาเสียงพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท ไม่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยต้องปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากการคำนวณ มีดังนี้

1.กรณีบ้านมีราคา 3 ล้านบาท

2.ปกติส่วนแบ่งระหว่างต้นทุนที่ดินและต้นทุนอื่น ๆ มีสัดส่วน 2 : 1 ดังนั้นต้นทุนที่ดินเท่ากับ 2 ล้านบาท ต้นทุนอื่น ๆ เท่ากับ 1 ล้านบาท

3.ใน “ต้นทุนอื่น ๆ” 1 ล้านบาท สามารถแยกเป็นค่าแรงและค่าวัสดุ โดยจะเป็นค่าแรงเพียง 2-3 แสนบาท สมมุติเป็นต้นทุนค่าแรง 3 แสนบาท หรือสัดส่วน 30% ที่เหลือเป็นค่าวัสดุก่อสร้าง 70%

4.ถ้าค่าแรงเพิ่มจาก 353 บาทในปัจจุบันเป็น 450 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้น 27% ปัดตัวเลขกลม ๆ 30% ก็จะทำให้ค่าแรงในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น จาก 3 แสนเป็น 3.9 แสนบาท ปัดตัวเลขเป็น 4 แสนบาท

5.ดังนั้นการที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 450 บาท จะทำให้ราคาบ้านเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านบาท เป็น 3.1 ล้านบาทเท่านั้น หรือเพิ่มขึ้น 3% ไม่ได้เพิ่มขึ้นมหาศาลตามที่เข้าใจแต่อย่างไร

6.หากสมมุติให้ค่าวัสดุ 7 แสนบาท ซี่งในนั้นอาจมีค่าแรงแฝงอยู่ 20% หรือ 1.4 แสนบาท หากส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 30% ก็เท่ากับเพิ่มเป็น 1.82 แสนบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.2 หมื่นบาท

ก็จะส่งผลให้ราคาบ้านโดยรวม เพิ่มจาก 3 ล้านบาท เป็น 3.142 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.7% เท่านั้น

7.สรุปแล้วด้วยเหตุนี้ราคาบ้านจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพราะค่าแรงแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ในวงการแรงงานก่อสร้างนั้น แรงงานพม่าจ้างแพงกว่าค่าแรงขั้นต่ำมานานแล้ว เช่น

ค่าแรงคนงานพม่า (ข้อมูลสอบถามจากคุณฝน บริษัท ส บุญประทาน) พบว่า

1.กรรมกรพม่าที่เพิ่งมาทำงาน ได้ค่าแรง 500-550 บาท/วัน

2.ช่างพม่า ได้ค่าแรง 600-700 บาท/วัน

3.ช่างกระเบื้องพม่า ได้ค่าแรง 750-800 บาท/วัน

  1. ชางพม่าในงานสถาปัตยกรรม ได้ค่าแรง 1,000-1,200 บาท/วัน

ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 ล้านบาท จะทำให้ค่าแรงคนงานพม่าในวงการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ก็คงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ค่าขนส่งแพงขึ้น ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น” ยิ่งกว่านั้นในประเทศไทยยังมีบ้านที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีคนอยู่อาศัย เนื่องจากซื้อไว้เก็งกำไร

และเมื่อรวมบ้านในมือของประชาชนทั่วไปที่เป็นบ้านมือสอง คาดว่ามีจำนวนนับล้านหน่วยแล้ว ต่อให้วัสดุก่อสร้างเพิ่มราคามหาศาล ค่าแรงเพิ่มอีกมาก ดังเช่นช่วงที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตค่าเงินบาท


ก็ยังมีบ้านมือสองให้บริการขายให้แก่ประชาชน ในราคาที่ถูกกว่าบ้านมือหนึ่งอีกมากมาย การส่งเสริมการซื้อบ้านมือสองจึงทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในหมู่ประชาชนได้เป็นอย่างดี