ขึ้นค่าแรง 450 บาท หวั่นธุรกิจช็อก แห่ย้ายฐานซ้ำรอยปี 2556

โรงงาน

สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หวั่นนโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาท/วัน ทำธุรกิจช็อกย้ายฐานซบเพื่อนบ้านซ้ำรอยปี 2556 กระทบราคาสินค้าจ่อขยับขึ้น แนะดูตามประสิทธิภาพแรงงาน ลดหย่อนภาษีให้ SMEs ไม่ใช่คำตอบ

วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า สภาต้องการให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาอย่างเป็นขั้นตอนและรอบคอบ ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เนื่องจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ 450 บาท/วันนั้นถือว่าค่อนข้างสูง หากปรับขึ้นทันทีจะเกิดภาพที่ซ้ำรอยในอดีตเมื่อปี 2556 ที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ครั้งนี้ก็เช่นกัน และการลงทุนใหม่ที่เน้นการใช้แรงงานจะไม่เกิดขึ้น

“ตอนที่ขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน เราเห็นการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทั้งสิ่งทอ รองเท้า โรงงานปลากระป๋อง และชิ้นส่วนบางประเภท ย้ายฐานไปเพื่อนบ้านหมด โดยเฉพาะเวียดนาม เพราะอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างการผลิต ห้องแถวที่เคยรับจ้างเย็บเสื้อกีฬาแบรนด์ดัง ๆ หายไปหมด รอบนี้เราก็จะเกิดซ้ำรอยอีกเช่นกัน เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมบ้านเราส่วนใหญ่ ยังคงเน้นใช้แรงงานเรา ยังไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค”

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงที่สูงในช่วงที่ผ่านมา มีผลทำให้ปัจจุบันการส่งออกของไทยที่เคยเป็นผู้นำในภูมิภาค รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดต่ำลง จนทำให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพิงการส่งออกสูง นี่คือเหตุผลว่าทำไมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทย ในระยะ 10 ปีจึงลดต่ำลง

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรง สภาไม่ได้คัดค้าน หากแต่ต้องทำแบบมีขั้นตอนและต้องไม่มองข้ามในเรื่องของผลิตภาพแรงงานด้วย

“เราต้องไม่ลืมอีกข้อที่สำคัญ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของค่าแรงแรกเข้า ดูแลคนเปราะบางซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่คนไทยได้รับเกิน เมื่อค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มจะทำให้แรงงานเดิมที่ได้รับ 450 บาท/วันอยู่แล้ว นายจ้างก็ต้องปรับขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมไทย 90% เป็นขนาดกลางและย่อม (SMEs) เขารับไม่ไหว

เพราะค่าแรงจะขึ้นเป็นทอด ๆ ไป สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับไปยังราคาสินค้า เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ประชาชนเดือดร้อน แรงงานก็เช่นกัน แต่เศรษฐกิจจะแย่กว่าเพราะต้นทุนที่เพิ่ม ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในการส่งออกยิ่งลดลง ขณะที่เวียดนามมีแต้มต่อในเรื่องของสิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ มากกว่าไทย”

อย่างไรก็ตาม กรณีที่รัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือผลกระทบ เช่น การลดหย่อนภาษีให้กับ SMEs ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่คำตอบ เพราะหากธุรกิจมีกำไรก็ควรจะเก็บภาษี แต่ทุกวันนี้ SMEs ส่วนใหญ่จะขาดทุนเมื่อไปเพิ่มค่าแรง เท่ากับเพิ่มต้นทุนก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้น