“พิธา” ตอบคำถามค่าแรง 450 บาท ยืนยันขึ้นแน่ แต่ต้องหารือทุกฝ่ายก่อน

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผลักดันขึ้นค่าแรงแน่นอน และยืนยันว่าไม่ได้ขึ้นตามใจตัวเอง แต่เป็นการขึ้นตามหลักการสากล กำลังหารือทุกฝ่ายให้รอบด้าน

วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าพบ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบาย ปัญหา และอุปสรรคจากตัวแทนภาคอุตสาหกรรม โดยมีประเด็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวันถูกพูดถึงในครั้งนี้ด้วย

นายพิธาตอบกล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวันเป็นแนวทางเพื่อบรรเทาทุกข์ให้ประชาชน เพราะค่าครองชีพแพงขึ้น แต่ค่าแรงยังถูก จึงต้องการผลักดันให้มีการขึ้นค่าแรงแน่นอน และต้องขึ้นสม่ำเสมอ และขึ้นอัตโนมัติ และยืนยันว่าไม่ได้ขึ้นค่าแรงตามใจตัวเอง แต่เป็นการขึ้นตามหลักการสากล

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการหารือพูดคุยกับทางสภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้าไทย ฝ่ายแรงงาน ฝ่ายผู้ประกอบการ และพรรคเพื่อไทย เพราะมีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันด้วย ซึ่งจะพิจารณาให้รอบด้านภายในสัปดาห์นี้ ผ่านคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านอำนาจของประชาชน และยังไม่อยากจะลงรายละเอียดในตัวเลข เพราะไม่อยากให้เกิดความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ก็คำนึงถึงเหรียญอีกด้าน คือผู้ประกอบการ จึงต้องมีการช่วยผู้ประกอบการด้วย เช่น สนับสนุนสมทบเงินประกันสังคม 6 เดือนแรก ลดภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจาก 20% เป็น 15% จาก 15% เป็น 10% และลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

ย้อนฟังข้อเสนอขึ้นค่าแรงจากหลายฝ่าย

นายประทีป จิตรประทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ปฏิบัติการ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน หรือสังคมจะโตได้หรือไม่ การเมืองต้องนิ่ง ดังนั้น พอเลือกตั้งเสร็จ ทุกอย่างต้องเคลียร์ให้จบ และจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว

สิ่งต่าง ๆ ก็จะเดินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลนิ่งและมีประสิทธิภาพ เดี๋ยวภาคเอกชน การท่องเที่ยว และอื่น ๆ จะปรับตัวได้เอง ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับเรื่องนโยบายค่าแรง 450 บาท ของพรรคก้าวไกล อยากให้ทำในลักษณะแยกกลุ่ม เป็นแรงงานไร้ทักษะ กับมีทักษะออกจากกัน ซึ่งคนงานที่มีฝีมือ ค่าจ้างรายวันเกิน 450 บาทต่อวันได้ แต่แรงงานที่ไม่มีฝีมือ ถ้าจ่าย 450 บาท อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา

เช่น งานแม่บ้าน ถ้าจ่ายค่าแรงวันละ 450 บาท นายจ้างอาจจ่ายไม่ไหว หรือพนักงานเสิร์ฟ ถ้าร้านมีพนักงาน 10 คน ต้องจ่ายค่าแรงวันละ 4,500 บาท ร้านอาหารนั้น ๆ ก็อาจอยู่ไม่ได้ จนทำให้ต้องปรับราคาค่าอาหาร หรือลดคนงาน ทำให้คนอาจตกงานเพิ่มขึ้น หรือหางานยากขึ้น ดังนั้น การปรับค่าแรงต้องทำให้ผู้ประกอบการ และลูกจ้างอยู่ร่วมกันได้

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวันนั้น ส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่าจะมีแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงอย่างไร ยอมรับว่ากังวลหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวันอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่เดือน เพราะจะกระทบหลายด้าน

“ควรมองความเหมาะสม และจังหวะเวลาด้วย เพื่อให้นายจ้างเตรียมตัวและเตรียมการได้ทัน โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าขึ้นค่าแรงทันทีจะเดือดร้อนผู้ประกอบการทุกที่และทุกขนาด รวมถึงพอต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นก็จะไปกระทบการขึ้นราคาสินค้า”

นายเอกสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้นักลงทุนต่างประเทศก็เริ่มกังวล เช่น ธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม โดยบริษัทต่างประเทศที่ย้ายฐานการผลิตมาไทยเริ่มมีการพูดถึงว่า ถ้าค่าแรงเพิ่มสูงขนาดนี้จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพราะค่าแรงเป็นต้นทุนที่สูงที่สุด

ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะต้องคิดกันใหม่ว่า จะมาที่เมืองไทยหรือย้ายฐานไปประเทศอื่น ๆ ซึ่งในอาเซียนที่ดูจะเป็นคู่แข่งแย่งผู้ประกอบการต่างชาติจากไทยไปได้ก็จะเป็นอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่บริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นไปลงทุนกันเยอะ

ขณะที่ธุรกิจ SMEs ถ้าปรับขึ้นทันทีต้องดูว่าเขาสามารถรับได้หรือไม่ มีเงินจ่ายมั้ย ดังนั้น ควรดูว่าเป็นไปได้ หากปรับขึ้นทีเดียว 30-40% ก็น่าเป็นห่วง คงต้องดูเรื่องระยะเวลา ทยอยปรับด้วยตัวเลขที่เหมาะสม