SCG เจาะเมกะโปรเจ็กต์ซาอุ ปักธงกรุงริยาดชิงเค้ก 5 แสนล้าน

SCG International เตรียมบุกตลาดซาอุฯ สร้างโอกาสทางธุรกิจ หลังฟื้นความสัมพันธ์กับไทย เตรียมเปิดเทรดดิ้งคอมปะนีแห่งแรกในเมืองริยาด เจาะตลาดเมกะโปรเจ็กต์ The Line มูลค่า 5 แสนล้านบาท ชูกลยุทธ์โซลูชั่นซัพพลายเชนครบวงจร ดึงเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ 50 ประเทศทั่วโลกเสริมทัพ ตั้งเป้าป้อนสินค้าหลัก 4 กลุ่ม “ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง กระดาษและบรรจุภัณฑ์ วัตถุดิบเพื่องานอุตสาหกรรม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจัยบวกจากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดีอาระเบียในปี 2565 ทำให้ภาคธุรกิจไทยมองหาลู่ทางเข้าไปในซาอุดีอาระเบีย ในฐานะเป็นประเทศเศรษฐีน้ำมันในตะวันออกกลาง ข้อมูลพื้นฐาน ประเทศซาอุดีอาระเบียมีประชากรจำนวน 32 ล้านคน

คาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.7% ในปี 2566 โดยมีแม็กเนตล่าสุดคือโครงการเดอะไลน์ (The Line) มหาอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับเมกาโปรเจ็กต์ ที่มีมูลค่าโครงการ 5 แสนล้านบาท
ปักหมุดสาขาเมืองริยาด

อบิจิต ดัดต้า
อบิจิต ดัดต้า

นายอบิจิต ดัดต้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนลฯ มีนโยบายการลงทุนโดยมุ่งขยายธุรกิจต่อเนื่องในระดับสากล ล่าสุด เตรียมเปิดสำนักงานใหม่ ณ เมืองริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อการขยายโอกาสทางธุรกิจ และเจาะลูกค้าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

ทั้งนี้ จากวิสัยทัศน์ปี 2573 ของมกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย มีเป้าหมายสำคัญคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งพาน้ำมัน ผ่านการลงทุนในด้านต่าง ๆ เช่น ภาคการผลิต การท่องเที่ยว รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัย ที่จะอำนวยความสะดวกต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ

จุดโฟกัสสำคัญที่ผลักดันให้โอกาสทางธุรกิจมาจากในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้ากับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จึงเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับเครือเอสซีจี โดยเฉพาะบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำการค้าระหว่างประเทศ

“ซาอุดีอาระเบียถือเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ซึ่งเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนลฯ จะเป็นบริษัทจากไทยอันดับต้น ๆ ที่ไปตั้งสาขา ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยเราเล็งเห็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนระหว่างประเทศ จึงมีแผนการจัดตั้งสำนักงาน ณ เมืองริยาดภายในปี 2567”

เสริมทัพเครือข่าย 50 ประเทศ

นายอบิจิตกล่าวว่า เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนลฯ มีความพร้อมที่จะตอบสนองการเติบโตของงานโครงการทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนมากมาย โดยใช้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีทางด้านวัสดุก่อสร้างของเอสซีจี ในการช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของซาอุดีอาระเบีย

บทบาทหลักของเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนลฯ คือ การทำหน้าที่เป็นกุญแจสำคัญในการเสาะแสวงหาคู่ค้าและโอกาสใหม่ ๆ ผ่านการนำเสนอโซลูชั่นซัพพลายเชนครบวงจร ตั้งแต่การนำเข้าสินค้า และขนส่งไปยังลูกค้าปลายทาง เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตั้งแต่ผู้ใช้สินค้าไปถึงกลุ่มผู้ผลิต

ภายใต้กลุ่มสินค้าหลัก 4-5 กลุ่ม ประกอบด้วย “ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง กระดาษและบรรจุภัณฑ์ วัตถุดิบเพื่องานอุตสาหกรรม” ตอกย้ำความเป็น trusted international supply chain partner ที่มีเครือข่ายทางธุรกิจมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนลฯ เปิดตัวกลยุทธ์ในการพัฒนาโซลูชั่นธุรกิจสีเขียว (green business solutions) เพื่อสนับสนุนผู้ใช้ระดับองค์กรและผู้ประกอบการในประเทศไทย ในการช่วยลด carbon footprint และเข้าถึงเทคโนโลยี ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการใช้พลังงาน

ผ่านโซลูชั่นสำหรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (battery electric vehicle : BEV) และโซลูชั่นด้านพลังงาน (energy solution) ครอบคลุมตั้งแต่ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (ESS) ที่เข้ามาช่วยกักเก็บพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ไว้ สำหรับใช้งานในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูง

และระบบไมโครกริด (microgrid) เครือข่ายไฟฟ้าที่สามารถกักเก็บไฟได้ในตัวเอง และใช้สมาร์ทเทคโนโลยีในการกักเก็บและกระจายพลังงานไปใช้งานตามที่ต้องการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสอดรับกับนโยบายเรื่อง ESG ของเครือเอสซีจีที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability)

รุกธุรกิจโซลูชั่นซัพพลายเชน

ก่อนหน้านี้ ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง เอสซีจี และเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น บริษัท แอลเอส อิเล็กทริก ร่วมลงนามเซ็นสัญญา MOU บันทึกข้อตกลงในการติดตั้งระบบการจัดการพลังงาน (EMS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบไมโครกริด ณ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ ในปี 2566

โดยทั้งสองบริษัทจะผสานความร่วมมือในการจัดหาโซลูชั่นพัฒนาระบบไมโครกริดเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมถึงการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนในระยะยาวของเอสซีจี และอาจนำไปสู่การร่วมทุนในธุรกิจไมโครกริดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

ขณะที่นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า ไตรมาส 1/66 ผลประกอบการของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างดีขึ้น จากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และลดต้นทุนโดยเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงทดแทน จาก 34% ในปี 2565 เพิ่มเป็น 38% และเพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ จาก 177 เมกะวัตต์ในปี 2565 เพิ่มเป็น 179 เมกะวัตต์ในไตรมาส 1/66

ขณะที่นวัตกรรมกรีนมีความนิยมมากขึ้น “ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด” ช่วยลดโลกร้อน มีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้น 50% โดยในไตรมาส 1/66 ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตได้กว่า 80,000 ตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 8 ล้านต้น ทั้งยังแข็งแรง สวยงาม ใช้ก่อสร้างแล้วในหลายโครงการตามมาตรฐานอาคารเขียว อาทิ โครงการวัน แบ็งคอก, คอนโดฯศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูร้อนและค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ “SCG Solar Roof Solutions” เติบโตขึ้น 313% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 และเร่งผลักดัน “SCG Air Scrubber” นวัตกรรมเพื่ออาคารขนาดใหญ่ ช่วยประหยัดพลังงานได้ 20-30% และช่วยลดก๊าซเสีย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์

ล่าสุด ลงทุนเพิ่มกับบริษัท enVerid สตาร์ตอัพสัญชาติอเมริกัน เพื่ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและคุณภาพอากาศภายในอาคารต่าง ๆ ทั่วโลก