
ศิริราชพลิกแลนด์สเคปย่านบางโพ ลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์มูลค่า 1.7 หมื่นล้าน สร้างโรงพยาบาล “ศิริราชนานาชาติ” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนที่ดิน 13 ไร่ อาคารสูง 19 ชั้น ปักธงเป็น “Medical Hub” ของเอเชีย ศูนย์กลางทางการแพทย์นานาชาติครบวงจรระดับโลก พร้อมหอผู้ป่วย 422 เตียง ก่อสร้าง 5 ปี แล้วเสร็จปี 2574 หนุนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พลิกโฉมทำเลเศรษฐกิจใหม่ แวดล้อมด้วยอาคารรัฐสภา-สถานีรถไฟฟ้าบางโพ-สถานีกลางบางซื่อ-ท่าเรือบางโพ/เกียกกาย กูรูอสังหาฯเผยปลุกทำเลใหม่ริมเจ้าพระยา จับตาคอนโดฯ 3 หมื่นล้านรอบโครงการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 อนุมัติงบประมาณ 16,960.59 ล้านบาท สร้างโครงการสถาบันการแพทย์ศิริราชระดับนานาชาติ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ของภูมิภาคเอเชีย ส่งมอบการบริการทางการแพทย์ชั้นสูงระดับเหนือตติยภูมิ มีมาตรฐานระดับสากล สามารถรองรับการขยายศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ในอนาคต รวมทั้งเป็นศูนย์การฝึกอบรมตามมาตรฐานสากลสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
ทั้งนี้ โครงการสถาบันการแพทย์ศิริราชระดับนานาชาติ งบประมาณ 16,960.59 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯลงทุน ได้แก่ ค่าก่อสร้าง 7,720.00 ล้านบาท, ค่าครุภัณฑ์ทางการแพทย์และครุภัณฑ์สารสนเทศ 8,430.00 ล้านบาท และงบฯบุคลากร 810.59 ล้านบาท โดยให้ขออนุมัติเงินงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569-2574 จำนวน 11,048.33 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ จำนวน 5,912.27 ล้านบาท
ศิริราช (นานาชาติ) บางโพ
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สถาบันการแพทย์ศิริราชระดับนานาชาติ เป็นโครงการของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บนที่ดิน 13 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางโพ ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับบริจาคมา โดยที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 19 มิถุนายน 2567 มีมติอนุมัติในหลักการ “โครงการสถาบันการแพทย์ศิริราชระดับนานาชาติ” โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Medical Hub ของทวีปเอเชีย
สำหรับสถานที่ตั้งโครงการ ตั้งอยู่บนถนนประชาราษฎร์สาย 1 โดยทิศตะวันตกติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และสถานที่สำคัญในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ อาคารสัปปายะสภาสถาน (รัฐสภา) สถานีรถไฟฟ้าบางโพ (MRT) สายสีน้ำเงิน, สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์, ท่าเรือบางโพ ท่าเรือเกียกกาย วัดแก้วฟ้าจุฬามณี ตลาดเตาปูน
อาคารริมแม่น้ำสูง 19 ชั้น
สำหรับระยะเวลาการดำเนินโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569-2574 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี (ปี 2569-2573) ทั้งนี้ ก่อสร้างสถาบันการแพทย์ศิริราชระดับนานาชาติ จะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 19 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 149,714 ตารางเมตร พร้อมที่จอดรถชั้นใต้ดิน 3 ชั้น รองรับ 719 คัน และพื้นโดยรอบอาคารอีก 87 คัน
โดยอาคารสถาบันการแพทย์ศิริราชระดับนานาชาติ ประกอบด้วย พื้นที่บริการทางการแพทย์ ศูนย์บริการตรวจรักษาโรคเฉพาะทางต่าง ๆ ศูนย์การรักษาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง และศูนย์ห้องผ่าตัด 22 ห้อง, หอผู้ป่วยในรวมจำนวน 442 เตียง แบ่งเป็น หอผู้ป่วยพิเศษ 352 เตียง และหอผู้ป่วยวิกฤต 90 เตียง เป้าหมายให้บริการผู้ป่วยนอกปีละไม่น้อยกว่า 650,000 คน และผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 20,000 คนต่อปี
พร้อมกันนี้ ในโครงการยังมีพื้นที่วิชาการเและปฏิบัติการ ที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศระดับมาตรฐานสากล รวมทั้งพื้นที่สนับสนุนการให้บริการแก่ผู้ใช้อาคารทุกกลุ่ม เช่น พื้นที่จัดกิจการอเนกประสงค์, คอมมิวนิตี้มอลล์ เป็นต้น
จ้างบุคลากรแพทย์ 2 พันอัตรา
ทั้งนี้ ในส่วนของการก่อสร้างอาคารจะแล้วเสร็จในปี 2573 และช่วงเวลาเดียวกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลก็เตรียมการจัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ (ปีงบประมาณ 2571-2573) และวางแผนจัดอัตรากำลังบุคลากร โดยบูรณาการระหว่างจำนวนบุคลากรที่มีอยู่เดิม กับจำนวนที่ต้องการเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับงานที่เพิ่มขึ้น จำนวน 3,397 อัตรา ในปีงบประมาณ 2571-2574 แบ่งเป็น เงินงบประมาณ (บุคลากรทางการแพทย์) 2,129 อัตรา และเงินนอกงบประมาณ (บุคลากรสนับสนุน) จำนวน 1,268 อัตรา
โดยมีเป้าหมายให้บริการผู้ป่วยนอก ปีละไม่น้อยกว่า 650,000 คน และผู้ป่วยใน ไม่น้อยกว่า 20,000 คนต่อปี
และเป็นสถาบันการแพทย์ภาครัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เป็นต้นแบบและเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ของการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับเหนือตติยภูมิ เป็นที่ยอมรับและทัดเทียมระดับสากล
เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
โดยวัตถุประสงค์หลัก 4 ข้อ ของโครงการสถาบันการแพทย์ศิริราชระดับนานาชาติ ประกอบด้วย
1.เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา
2.เป็นสถาบันการแพทย์ภาครัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เป็นต้นแบบและเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ของการให้บริการด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงระดับเหนือตติยภูมิ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
3.ยกระดับการเป็นสถาบันการแพทย์ระดับชั้นนำของประเทศ เป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับนานาชาติก่อให้เกิดการเป็นผู้นำและผู้ชี้นำแห่งวงการสาธารณสุขไทยและระบบสุขภาพระดับโลก
4.เป็นแหล่งรายได้ให้กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อไปสนับสนุนพันธกิจที่สำคัญอย่างยั่งยืน
หนุนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
แหล่งข่าวระบุว่า นอกจากนี้ในแง่เศรษฐกิจและสังคม โครงการดังกล่าวยังจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านบริการทางการแพทย์ ส่งผลต่อเนื่องในการสร้างเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกระตุ้นกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งสามารถพัฒนาโครงการและกิจกรรมให้เอกชนและประชาชนมีส่วนร่วม เป็นจุดขายของประเทศไทย
ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการรักษาพยาบาลกับนานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมชื่อเสียงของประเทศไทยให้สู่ระดับสากลมากขึ้น ด้วยการแพทย์แบบครบวงจรและบริการแห่งอนาคตจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทย
พร้อมกันนี้ สถาบันการแพทย์ศิริราชระดับนานาชาติ ยังถือเป็นศูนย์บริการการแพทย์แบบเบ็ดเสร็จและครบวงจรที่อำนวยความสะดวกต่อผู้เข้ารับบริการ ด้วยการเดินทางโดยรถไฟฟ้า ทางบก และทางน้ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้ป่วย
นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาทางการแพทย์ โดยพัฒนาหลักสูตรแพทย์ในระดับนานาชาติและหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชีย พร้อมสร้างเครือข่ายร่วมกับสถาบันการแพทย์ชั้นนำระดับโลก
ปลุกทำเลใหม่ริมแม่น้ำ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่จะมีการก่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชแห่งใหม่ที่ย่านบางโพ มูลค่าเกือบ 17,000 ล้านบาท โดยมีข้อสังเกตว่า โครงการนี้อาจมีลักษณะคล้ายโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ที่ให้บริการสำหรับผู้มีรายได้สูง ซึ่งอาจไม่มีผลต่อการพัฒนาชุมชนโดยรวม ซึ่งแตกต่างจากกรณีโรงพยาบาลศิริราช ที่มีประชาชนมาใช้บริการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน
สำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทโครงการที่อยู่อาศัยในโซนบางโพ ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งของโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชแห่งใหม่พบว่า ลักษณะเฉพาะของพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมการอยู่อาศัยแบบหนาแน่นในลักษณะชุมชนดั้งเดิม โอกาสที่จะพัฒนาใหม่จึงมีจำกัดเพราะหาพื้นที่โล่งแทบไม่ได้
อย่างไรก็ตาม พบว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จะเป็นไปได้สูงอาจเป็นโครงการคอนโดมิเนียมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้มาพักอาศัยที่เป็นญาติผู้ป่วย และผู้รักษาตัวในระยะยาว โดยเป็นกลุ่มกำลังซื้อของผู้มีรายได้สูง
ในด้านทำเลการพัฒนาโครงการใหม่สามารถทำได้ทั้งในฝั่งเขตดุสิตและฝั่งเขตบางพลัด ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนประการหนึ่งว่า การมีโรงพยาบาลศิริราช บางโพ จะส่งผลให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำที่มีบรรยากาศที่ดีเกิดขึ้นได้มากขึ้น
คอนโดฯบูม 3 หมื่นล้าน
ดร.โสภณกล่าวถึงตัวเลขเชิงสถิติด้วยว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้เป็นอาคารชุด โดยภาพรวมมีจำนวน 7,841 หน่วย ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 3.892 ล้านบาท เท่ากับมีมูลค่าตลาด 30,517 ล้านบาท โดยขายไปได้แล้ว 1,912 หน่วย (มูลค่า 7,441 ล้านบาท) เหลือขาย 5,708 หน่วย คิดเป็นมูลค่าเหลือขาย 22,215 ล้านบาท
โดยอาคารชุดที่เปิดขายย่านนี้ส่วนใหญ่ราคา 3-5 ล้านบาท เนื่องจากเป็นห้องชุดในบริเวณใกล้เคียงแนวรถไฟฟ้า โดยเฉพาะย่านบางซื่อกับบางซ่อน และใกล้โรงพยาบาลโดยตรงในชุมชนเดิมและเขตทหาร
ขณะที่โครงการบ้านแนวราบพบว่ามีจำนวนเพียงเล็กน้อย โดย “บ้านเดี่ยว” มีเพียง 19 หน่วย เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องชุมชนหนาแน่นและที่ดินมีราคาแพง มีราคาเฉลี่ย 22.97 ล้านบาท “บ้านแฝด” มีจำนวน 27 หน่วย ราคาเฉลี่ย 8.47 ล้านบาท และ “ทาวน์เฮาส์” มีจำนวน 174 หน่วย ราคาเฉลี่ย 4.04 ล้านบาท
สำหรับสาธารณูปโภคที่มีในพื้นที่ แวดล้อมไปด้วยอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมามีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ความคืบหน้างานโยธา 47.95% ส่วนระบบรถไฟฟ้าคืบหน้า 38.14% คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2571 รวมทั้งเป็นทำเลที่เชื่อมแบบไร้รอยต่อไปยังสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือฮับบางซื่อ ที่เปิดให้บริการแล้ว การพักอาศัยในพื้นที่จึงเป็นทำเลแห่งอนาคตที่มีการเดินทางเข้าเมืองได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น