
แผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ที่มีจุดศูนย์กลางในสหภาพพม่า ส่งแรงเขย่ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
ปรากกฏว่าวงการตึกสูงในกรุงเทพฯ ที่มีการก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้อาคารแล้ว ไม่มีตึกใดพังทลายลงมาแม้แต่ตึกเดียว ในขณะที่มีเพียง 1 ตึกที่เป็นโครงการสำนักงานใหม่ของ “สตง.-สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน” ที่กำลังก่อสร้างแล้วมีภาพตึกถล่ม และแทบจะกลายเป็นภาพเดียวที่สื่อต่างประเทศนำไปใช้นำเสนอข่าว จนกลบข้อเท็จจริงของตึกสูงในกรุงเทพฯ ทุกตึกยังอยู่ครบถ้วน แสดงถึงมาตรฐานการก่อสร้างของไทยสูงมาก ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายต้านแผ่นดินไหวที่ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550
ดังนั้น แผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ครั้งนี้ จึงถือเป็นบททดสอบอันสำคัญสำหรับวงการตึกสูงของไทย ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม ออฟฟิศบิลดิ้ง โรงแรม จะสามารถดึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและประชาชนให้กลับมาใช้ชีวิตทั้งการพักอาศัยและทำงานในตึกสูงได้ปกติดังเดิมหรือไม่
ตึกสูง 5,994 แห่งปลอดภัย 100%
เปิดประเด็นด้วย “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์แผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ ซึ่งมีผลกระทบในเขตกรุงเทพฯ หนักที่สุดในรอบ 10 กว่าปี
โดยพบว่า อาคารส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่ประชาชนอาจจะยังกังวล หน้าที่ กทม.คือต้องสร้างความมั่นใจ ว่าอาคารมีความปลอดภัย มีการส่งวิศวกรอาสา 130 คน เข้าไปตรวจสอบอาคาร
คาดว่าสถานการณ์น่าจะค่อย ๆ คลี่คลายลง
กทม.พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนตามหลักวิทยาศาสตร์และให้ตั้งสติ เพราะภาพตึกที่พังถล่มเป็นเพียงตึกเดียว และเป็นตึกที่มีการก่อสร้างซึ่งมีหลายปัจจัยให้มีการถล่ม
แต่ในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี เพราะนอกจากนี้อาคารทั้งหมดไม่มีการพังทลาย และกฎหมายควบคุมอาคารเราก็มีการกําหนดให้ออกแบบรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว
“ต้องบอกว่า สถานการณ์ทั่วไปเริ่มคลี่คลายขึ้นแล้ว เป็นหน้าที่ของ กทม.พยายามนำความเชื่อมั่นกลับมา ต้องยืนยันว่าแผ่นดินไหวรุนแรงมากในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา แต่ว่าอาคารที่พังทลายมีอยู่แค่ 1 อาคาร และเป็นอาคารที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ อาคารที่เหลือ 100% ไม่มีการพังทลาย”
สอดคล้องกับ “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า ตึกสูงในไทยที่มีการขออนุญาตก่อสร้างตั้งแต่ปี 2550-2567 รวมกัน 5,994 อาคาร แบ่งเป็นตึกเตี้ย (สูง 8 ชั้น พื้นที่ไม่เกิน 10,000 ตร.ม. 3,196 อาคาร และตึกสูง 20 กว่าชั้นขึ้นไป 2,798 อาคาร) พบว่ามาตรฐานอาคารสูงของไทยรองรับแผ่นดินไหว
โดยการก่อสร้างอาคารสูงทุกอาคารในประเทศไทยหลังปี 2550 ต้องก่อสร้างตามมาตรฐานการก่อสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ทำให้อาคารสูงทั้งคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงาน ไม่พังทลายลงเป็นอันตรายต่อชีวิตคนในอาคาร และมีแต่ความเสียหายในวงจำกัด เช่น กระเบื้อง/หินอ่อนหลุดร่อนออกมา หรือผนังแตกร้าวจากแผ่นดินไหว, ฝ้าบางจุดหลุดหล่น หรือความเสียหายกับโครงสร้างอาคารบางส่วน แต่ไม่ถึงขั้นร้ายแรงวิบัติพังทลายลงมา
“แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดนี้ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แสดงถึงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงของไทย จากบททดสอบแผ่นดินไหวสูงถึง 8.2 ริกเตอร์ เป็นระดับสูงสุดที่มีผลกระทบมาในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างตึกสูงของไทยได้มาตรฐานจริง ๆ โดยไม่มีตึกใดเลยที่เปิดใช้อาคารแล้ว พังทลายลงมากระทบต่อชีวิตผู้ใช้อาคารแม้แต่ตึกเดียวในครั้งนี้”
ศุภาลัยตรวจทันที 89 โครงการ
พลันที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดช่วง 13.26 น.ของวันศุกร์ 28 มีนาคม ปฏิบัติการเชิงรุกของดีเวลอปเปอร์จัดส่งทีมวิศวกรออกตรวจสอบอาคารโดยทันที และหลายค่ายมีการสำรวจครบ 80-90 โครงการ ภายในวันเสาร์ 29 มีนาคม และทยอยตรวจสอบให้ครบทุกโครงการในเครือโดยเร็วที่สุด
เริ่มจาก “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ศุภาลัยตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้าง คอนโดมิเนียมในเบื้องต้นครบ 89 โครงการ ในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา สรุปผลพบว่า โครงการส่วนใหญ่ไม่มีความเสียหายที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของอาคาร จึงมีความปลอดภัยและแข็งแรงต่อการอยู่อาศัย แต่มีความเสียหายในด้านสถาปัตย์ (ความสวยงาม) ของอาคารตั้งแต่น้อยไปจนถึงปานกลางในเกือบทุกโครงการ
ลิฟต์โดยสารบางโครงการ บางตัวยังไม่สามารถใช้งานได้ มีการประสานงานให้บริษัทลิฟต์เข้ามาแก้ไขโดยด่วน, สระว่ายน้ำบางโครงการมีความเสียหาย ซึ่งอยู่ในระดับที่ซ่อมแซมได้ รวมทั้งตรวจเจอบางโครงการที่มีความเสียหายในลักษณะที่ต้องได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยละเอียดอีกบางจุด โดยศุภาลัยจะดำเนินการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้าสำรวจในจุดดังกล่าวโดยเร็ว หากได้รับการวินิจฉัยว่าจุดดังกล่าวจำเป็นที่จะได้รับการซ่อมแซม บริษัทจะรีบดำเนินการประสานงานกับนิติบุคคลของโครงการนั้น ๆ เพื่อให้เกิดการซ่อมแซมโดยเร็วที่สุด

ขณะที่คอนโดฯ ศุภาลัย มอนเต้@เวียง เชียงใหม่ และศุภาลัย มอนเต้ 2 ทาง “นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ “วิรัช ตั้งมั่นคงวรกูล” โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ นำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบความแข็งแรงปลอดภัยอาคาร ให้การยืนยันว่า มีความปลอดภัยแข็งแรง ดังนั้น ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับความเสียหาย จึงยืนยันได้ว่า ไม่เป็นความจริง
แสนสิริยืนยันตึกปลอดภัย 100%
“อุทัย อุทัยแสงสุข” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แสนสิริตอกย้ำชัดเจนว่าได้เร่งดำเนินการตรวจสอบโครงการคอนโดมิเนียมทั้งหมดให้ครบ 100% โดยเร็วที่สุด จากจำนวนกว่า 250 โครงการทั่วประเทศ พบว่าโครงสร้างอาคารทุกโครงการอยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยสำหรับการพักอาศัย ใช้งานได้ตามปกติ
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของทีมวิศวกรโครงสร้างและทีมตรวจสอบระบบอาคาร โดยเน้นการตรวจสอบ 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.งานโครงสร้าง 2.งานสถาปัตยกรรม 3.งานป้องกันอัคคีภัย (งานระบบ) 4.งานลิฟต์โดยสารภายใน (งานระบบ) 5.งานระบบไฟฟ้าประปา (งานระบบ)

ยิ่งไปกว่านั้น โครงการที่แสนสิริพัฒนาแม้อยู่นอกประกัน แสนสิริจะประสานงานขอเข้าตรวจทุกโครงการ ขอทุกท่านโปรดติดตามข่าว
“เราตระหนักถึงเวลาอันมีค่าของทุกท่าน จึงได้ระดมทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญและพาร์ตเนอร์ ประกอบไปด้วยงานโครงสร้าง (สี่พระยา, CPanel, P.D.C, DPM, PEC), ระบบลิฟต์ (KONE, Mitsubishi, Jardine, Fujitec) และระบบต่าง ๆ (Esteem, M.B.L, NET) ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบ”
ASW จัด 4 มาตรการดูแลลูกบ้าน
“กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW-Asset Wise เปิดเผยว่า บริษัทออกแนวทางปฏิบัติ “4 มาตรการเร่งด่วน” เพื่อดูแลความปลอดภัยลูกบ้าน แนวทางปฏิบัติสำหรับการแจ้งซ่อม สิทธิการรับประกัน เพื่อให้ทุกท่านได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สะดวก และรวดเร็ว
เริ่มตั้งแต่จัดส่งทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เข้าตรวจสอบโครงการในเครือ โดยโครงสร้างอาคารทุกโครงการมีความแข็งแรงปลอดภัย 100% ตามมาตรฐานวิศวกรรม และตามข้อบังคับอาคาร กฎกระทรวง ปี 2550 และมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง 1301/1302 รวมทั้งเร่งตรวจสอบวิเคราะห์สถาปัตยกรรมอาคารเชิงลึกในทุกโครงการให้แล้วเสร็จ 100% ภายใน 1 เมษายน 2568
2.กรณีหากพบร่องรอยความเสียหายภายในห้องพัก เช่น รอยร้าว ผนังหลุดร่อน สามารถแจ้งขอรับบริการตรวจสอบและซ่อมแซมได้ 3.ลูกบ้านสามารถใช้สิทธิการรับประกันงานซ่อมแซมตามเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนด 4. หากต้องการแจ้งปัญหา หรือต้องการสอบถามข้อมูล สามารถติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line นิติบุคคล, Application Jenie, Line: AssetWiseClub และ Contact Center 02-168-0000
“แอสเซทไวส์ ขอยืนยันว่า เราจะมุ่งมั่นดูแลลูกบ้านทุกท่านอย่างเต็มความสามารถด้วยความรับผิดชอบสูงสุด เพราะความปลอดภัยจากการอยู่อาศัย และความสุขของลูกบ้าน คือสิ่งสำคัญที่สุดที่เรายึดมั่นเสมอมา”
SC คลุกพื้นที่สร้างเชื่อมั่นผู้อยู่อาศัย
“ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC Asset เปิดเผยว่า SC ส่งทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบทุกโครงการทั้งแนวราบและอาคารสูง โดยได้รับความร่วมมือจากทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญของบริษัท รวมถึงทีมบริหารนิติบุคคล SC ABLE ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการบริหารจัดการหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมในเครือ SC Asset
การตรวจสอบมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับลูกบ้าน ทั้งในด้านความมั่นคงของโครงสร้าง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การดูแลอาคารสถานที่ให้พร้อมใช้งานในทุกสถานการณ์ ทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง โครงการที่เปิดขาย และโครงการที่อยู่ในช่วงระยะเวลาการรับประกัน
“ชาว SC ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบก่อสร้างที่ยึดตามมาตรฐานวิศวกรรม การตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ไปจนถึงการดูแลหลังการขาย เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ ไร้กังวลในทุกสถานการณ์”

ออริจิ้นฯ ตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกค้า
CEO อีกรายที่เทกแอ็กชั่นอย่างรวดเร็ว “พีระพงศ์ จรูญเอก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เปิดเผยว่า ตนเป็นสามัญวิศวกรด้วยได้นำทีมวิศวกรและผู้รับเหมาเข้าตรวจสอบสะพานทางเชื่อมอาคารโครงการ พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ ที่เสียหายจากแผ่นดินไหวด้วยตนเอง เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า โครงสร้างอาคารแต่ละส่วนยังคงแข็งแรงและใช้งานได้ตามปกติ
รวมทั้งสะพานทางเชื่อมอาคารที่ออกแบบให้สามารถเคลื่อนที่จากอาคารได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยโครงสร้างไม่ได้เสียหายถึงขั้นวิบัติแต่อย่างใด มีเพียงความเสียหายด้านงานสถาปัตยกรรมที่จะรีบดำเนินการวางแผนซ่อมแซมโดยเร่งด่วน

ทั้งนี้ ออริจิ้นฯ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกค้าไว้เพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกและเข้าช่วยเหลือลูกค้าทุกโครงการ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างเต็มกำลัง โดยวางแผนตรวจสอบความปลอดภัยคอนโดมิเนียมในเครือครบทั้ง 87 โครงการ ตั้งแต่ 29 มีนาคม 2568
SENA ปรับใช้ประสบการณ์ญี่ปุ่น
“ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา บริษัทจัดทีมวิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารสูงทุกโครงการอย่างเร่งด่วน โดยกระบวนการตรวจสอบแล้วเสร็จภายในเวลา 23.00 น. ของวันเดียวกัน
พร้อมกันนี้ เสนาฯ ได้นำแนวทางการรับมือภัยพิบัติตามแนวคิด Geo fit+ ของบริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้การรับมือครั้งนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด แบ่งเป็น 3 เฟส เริ่มจาก 1.การตรวจสอบและสื่อสารเชิงรุกเพื่อสร้างความมั่นใจ 2.การแก้ไขและให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน และ 3.การเตรียมความพร้อมระยะยาวเพื่ออนาคตที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ เสนาฯ ยังให้การสนับสนุนและช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ สร้างความมั่นใจให้กับลูกบ้านและสังคม ว่าบริษัทยังคงยืนหยัดในการให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของลูกบ้าน และเพื่อให้ทุกท่านมั่นใจในการอยู่อาศัยภายใต้การดูแลของเรา

LPN ขานรับนโยบาย กทม.
“นางสาวดารณี ฉัตรพิริยะพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวว่า LPN ร่วมกับ LPP (บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จํากัด) ตรวจสอบอาคารแบบ Visual In-spection โดยไม่พบความเสียหายที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างหลัก มีเพียงผนังแตกร้าวบางส่วนเท่านั้น จึงมีความปลอดภัยและแข็งแรงต่อการอยู่อาศัยในคอนโดฯ และวางแนวทางต่อเนื่อง 3 ด้านต่อจากนี้ คือ 1.ทีมวิศวกรตรวจสอบคอนโดฯ ทั้งโครงการที่ขายหมดแล้วและที่อยู่ระหว่างขาย
2.จัดตั้งทีมวิศวกรจากบริษัทในเครือ เพื่อตรวจสอบทุกโครงการอย่างละเอียดอีกครั้ง และออกใบรับรองความปลอดภัยอาคารโดยวิศวกรที่มีความน่าเชื่อถือ 3.ทีมนิติบุคคลรายงานความคืบหน้าการเข้าตรวจสอบอาคารให้กับลูกค้าเป็นระยะ พร้อมประสานงานรับเรื่องแจ้งซ่อมภายในห้องพักอาศัยผ่าน Line นิติบุคคลแต่ละโครงการ

ล่าสุด ทาง กทม. ขอความร่วมมือให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร ติดต่อผู้ตรวจสอบอาคารเข้าประเมินความปลอดภัย และขอให้รายงานผลภายใน 2 สัปดาห์ ทาง LPN เดินหน้าตรวจสอบและประเมินเบื้องต้น รวมทั้งเร่งประสานกับนิติบุคคลเพื่อนัดหมายผู้ตรวจสอบอาคารต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถตรวจเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ ตามที่กรุงเทพมหานคร กำหนดไว้
FPT พร้อมรับมือเหตุไม่คาดฝัน
ด้าน “ธนพล ศิริธนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT กล่าวว่า บริษัทส่งวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการเรียบร้อยแล้ว ไม่พบผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร และสามารถใช้งานอาคารได้ตามปกติ
แบ่งเป็นธุรกิจที่อยู่อาศัย ทุกโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมมีความปลอดภัย ลูกบ้านสามารถกลับเข้าพักอาศัยได้ คอนโดฯ แบรนด์ โคลส (KLOS) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีโครงสร้างแข็งแรง และไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด, ธุรกิจอุตสาหกรรม ทยอยตรวจสอบความปลอดภัยอาคาร พร้อมกับสื่อสาร และส่งวิธีตรวจสอบอาคารในเบื้องต้นให้กับลูกค้า รวมถึงมีเบอร์ติดต่อที่ลูกค้าสามารถติดต่อได้ทันทีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

และธุรกิจพาณิชยกรรม ทั้งอาคารสำนักงานและพื้นที่รีเทล ได้แก่ Samyan Mitrtown, Silom Edge, FYI Center, Sathorn Square, Park Ventures รวมถึงโรงแรม W Bangkok, Ascott Sathorn, Modena by Fraser Bangkok และ Triple Y มีความแข็งแรงและปลอดภัยทุกประการ
“FPT เดินหน้าติดตามผลและงานซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง สื่อสารและดูแลลูกบ้าน ลูกค้า ผู้ใช้อาคารอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน จะอัพเดตแผนป้องกันผลกระทบจากแผ่นดินไหวให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะบริษัทเชื่อว่าความปลอดภัยของลูกบ้าน ลูกค้า และผู้ใช้อาคารคือสิ่งที่สำคัญสูงสุด”
อนันดาฯ ตรวจเชิงรุกสร้างความมั่นใจ
“ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) นำทีมผู้บริหารและวิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารอย่างเข้มข้น 14 โครงการ ได้แก่ แอชตัน อโศก, แอชตัน สีลม, แอชตัน 41, ไอดีโอ คิว สุขุมวิท 36, โคโค่ พาร์ค, ไอดีโอ โมบิ, สุขุมวิท 40, ไอดีโอ สุขุมวิท-พระราม 4, ไอดีโอ จรัญฯ 70-ริเวอร์วิว, ไอดีโอ พระราม 9-อโศก, เอลลิโอ เดล เนสท์, เอลลิโอ สาทร-วุฒากาศ, ไอดีโอ รามคำแหง-ลำสาลี สเตชั่น, คัลเจอร์ ทองหล่อ และคัลเจอร์ จุฬา
“อนันดาฯ เดินหน้าตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าทุกโครงการภายใต้การดูแลของอนันดา ยังคงแข็งแรง ปลอดภัย และเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยในระยะยาว รวมทั้งให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย พร้อมรายงานผลการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจ ทุกโครงการที่อยู่อาศัยของอนันดา คือพื้นที่ที่คุณไว้วางใจได้ในทุกสถานการณ์”

AP เสริมทัพ 7 ทีมวิศวกรทรงคุณวุฒิ
“วิทการ จันทวิมล” ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และการสื่อสาร บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ AP อัพเดตแผนดูแลความปลอดภัยคอนโดมิเนียมเครือเอพี โดยวางแผน 2 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นตอนที่ 1 สรุปผลตรวจสอบเบื้องต้นคอนโดเอพีทั้งสิ้น 83 โครงการ (โครงการที่ขายหมดแล้วและที่อยู่ระหว่างการขาย) พบว่า 82 โครงการไม่พบความเสียหายที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างหลัก จึงมีความปลอดภัยและแข็งแรงต่อการอยู่อาศัย แต่มีความเสียหายในด้านสถาปัตยกรรมและการตกแต่ง ซึ่งได้แนะนำให้นิติบุคคลฯ จัดการเศษวัสดุและเคลียร์พื้นที่เพื่อการกลับเข้าอยู่อาศัยโดยเร็วที่สุด
ขั้นตอนที่ 2 สร้างความมั่นใจและความปลอดภัยสูงสุดให้กับลูกบ้าน จึงได้ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญจัดตั้งคณะทำงาน 7 ทีม ประกอบด้วยวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิ และบริษัทผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดำเนินการตรวจสอบทุกโครงการอย่างละเอียด และออกใบรับรองรับประกันความปลอดภัยอาคารโดยวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิ
ได้แก่ 1.ผศ.ดร.อาทิตย์ เพชรศศิธร ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 2.ว่าที่ ร.ต.ดร.ศุภชัย สินถาวร รองศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 3.นายชาย แสงไสว วุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา (วย.2190) ที่ปรึกษาวิศวกรโครงสร้างอาวุโส บริษัท ซี เอส 2190 จำกัด และทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวน 6 ทีม
เข้าดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด เริ่มต้นตั้งแต่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา มีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนครบทั้ง 83 โครงการ ภายในวันที่ 1 เมษายน 2568 และคาดว่าจะดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด และออกเอกสารรับรองครบทุกโครงการภายใน 4 เมษายน 2568 นี้