“ตั๋วร่วมแมงมุม” สะดุดตอ BTS นโยบายไม่นิ่งฤาเอกชนไม่พร้อม

หลัง “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ใช้เวลา 5 ปีเซตระบบตั๋วร่วมเวอร์ชั่น “บัตรแมงมุม” แม้การเปิดใช้จะเลื่อนมาหลายครั้ง ในที่สุดรัฐบาลทหารก็คิกออฟบัตรแมงมุม 2 แสนใบที่ผลิตไปก่อนหน้านี้ให้ใช้งานได้จริง ถึงจะเป็นได้แค่ “ตั๋วต่อ” ยังไม่ใช้ “ตั๋วร่วม” อย่างที่ตั้งเป้าไว้ก็ตาม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ระบบตั๋วร่วมแมงมุม ที่เริ่มใช้ 23 มิ.ย. 2561 จะใช้กับรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สีน้ำเงินกับสีม่วง จากนั้นเดือน ต.ค.จะใช้กับแอร์พอร์ต ลิงก์ และรถเมล์ขณะนี้กำลังประสานเรือด่วนเจ้าพระยา ทางด่วนและมอเตอร์เวย์ให้เข้าระบบแมงมุมด้วย รวมถึงร้านค้าพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่อใช้บัตรได้ครอบคลุมมากขึ้น

“อนาคตจะเชื่อมบัตร Easy Pass ของทางด่วนและ M Pass ของมอเตอร์เวย์ รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ และเรือแสนแสบด้วย แต่เอกชนจะต้องเป็นผู้จัดการเอง”

ส่วนการจัดทำระบบตั๋วร่วมให้มีอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง หรือ common fair ต้องรอ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้ จากนั้นต้องเจรจากับเอกชนที่รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้า กำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

“บัตรแมงมุมที่ใช้เป็นเวอร์ชั่นแรก ยังเป็นระบบปิด กำลังจะอัพเกรดให้เป็นเวอร์ชั่น 2 เป็นระบบเปิดEMV ที่ใช้ได้บัตรเครดิต เดบิต และโทรศัพท์มือถือสแกนจ่ายค่าโดยสารแทนบัตรโดยสารได้ อีก 10-12 เดือนจะเสร็จจะสะดวกขึ้น ไม่ต้องพกบัตรหลายใบ”

“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า บัตรแมงมุม 2 แสนใบที่ทยอยแจก สามารถเติมเงินได้สูงสุด 2,000 บาท ต่ำสุด 150 บาท มีค่ามัดจำบัตร 50 บาท ส่วนการใช้ร่วมกับรถเมล์นั้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ระหว่างออกแบบระบบ อาจใช้วิธีเก็บค่าโดยสาร 2 รูปแบบ คือ ให้กระเป๋ารถเมล์มีเครื่องสแกนเก็บค่าโดยสารติดตัวไว้ และติดตั้งเครื่องอ่านบัตรไว้บนรถเมล์ จะใช้เวลาอ่านไม่เกินครึ่งวินาทีต่อ 1 ใบ จะชัดเจนในเดือน ต.ค.นี้

นอกจากนี้ รฟม.กำลังจะพัฒนาระบบตั๋วร่วมเป็นระบบเปิด EMV เป็นการอัพเกรดระบบตั๋วร่วมแมงมุมที่ สนข.ศึกษามาให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเร็วมาก ปัจจุบันมีการพิสูจน์แล้วว่าระบบ EMV มีความเสถียรและใช้แพร่หลายใน 127 ประเทศ โดย รฟม.จะเป็นผู้ลงทุนระบบ ใช้เวลา 18 เดือนจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2562

“ช่วงที่ สนข.ศึกษาระบบตั๋วร่วมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ระบบ EMV ยังไม่เป็นที่ยอมรับ จึงเสนอเป็นระบบตั๋วแมงมุม ข้อดีคือผู้ถือบัตรสมาร์ทการ์ดที่ติดระบบ EMV ที่ออกโดยสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ ใช้ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิตแทนบัตรโดยสารได้โดยไม่ต้องออกใหม่ แค่แตะบัตรก็เข้าไปในระบบได้ ส่วนค่าเดินทางจะเรียกเก็บภายหลัง ในปี 2563 ทางมาสเตอร์การ์ดและวีซ่าจะบังคับให้ใช้ระบบนี้ทั้งหมด”

ส่วนระบบตั๋วร่วมแมงมุมผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า จะแปลงสภาพเป็นระบบหลังบ้านเคลียร์ค่าโดยสารของแต่ละระบบ และส่งข้อมูลให้แต่ละธนาคารเพื่อหักบัญชีผู้ถือบัตร

ด้าน “ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย” ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.กล่าวว่า เร่งรฟม.ใช้ระบบตั๋วร่วมที่ใช้เทคโนโลยี EMV Contactless Smart Card เร็วขึ้นจากเดิมเดือนธ.ค. 2562 ซึ่งสามารถใช้บัตรเครดิตและเดบิตของทุกแบงก์มาชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าสินค้าและบริการ โดยไม่ต้องเติมเงินในบัตรล่วงหน้า เป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางให้ผู้โดยสาร

“กำลังเจรจาบีทีเอสให้เข้าร่วมระบบตั๋วร่วม EMV เพราะบัตรแรบบิทเป็นระบบปิด แต่ระบบ EMV เป็นระบบเปิด ซึ่งจะเชื่อมต่อระบบกันได้ เรียกว่า common ticket ส่วน common fair ต้องมีเจ้ามือคือรัฐ ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น ส่วนการเคลียริ่งเฮ้าส์ จะเจรจากับแบงก์กรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการให้”

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่ “ตั๋วร่วมแมงมุม” ใช้ไม่ได้กับบีทีเอส”ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อธิบายว่า บีทีเอสยังไม่เข้าร่วม เพราะอยู่ระหว่างการเจรจา ต้องให้เวลาบริษัทพิจารณาและเตรียมตัว ยังติดปัญหาเทคนิคบางอย่าง ยังไม่รู้ว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้เมื่อใด

ฟาก “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ที่ยังไม่ปรับระบบให้รองรับบัตรแมงมุม เพราะกำลังเจรจากับคมนาคม จะปรับเป็นระบบ EMV ตามที่มีนโยบาย จะนำมาใช้ในปี 2562

“เรากำลังศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งมีนโยบายเปลี่ยนแปลง และต้องดูค่าทรานเช็กชั่นฟีของแต่ละสถาบันการเงินด้วย หากเป็นระบบเดิม จะคล้ายกับบัตรแรบบิทของบีทีเอส” บิ๊กบีทีเอสย้ำ

ทั้งนี้การที่เอกชนยังไม่ตัดสินใจลงทุนในทันที อาจจะเป็นเพราะความไม่แน่ไม่นอนของนโยบายรัฐที่ปรับเปลี่ยนไว เพราะเมื่อปีที่แล้ว ยังมี “บัตรแมงมุม” เป็นไฮไลต์ แต่เพียงระยะไม่นาน ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบ EMV พลันที่เปลี่ยนบอร์ด รฟม.ชุดใหม่


ส่วนจะผลักดันให้ฉลุยในปีหน้าตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน กว่าจะหาจุดลงตัวที่ “วิน-วิน” คงจะใช้เวลานานพอสมควร