คมนาคมอวดโฉม “สถานีกลางบางซื่อ” ใหญ่สุดในอาเซียนแซงหน้ามาเลเซีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 ก.ค.นี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมจัดงานนิทรรศการ “One Transport for All 2018 : On the Move” นำเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย (2558 – 2565) โดยโชว์ผลการดำเนินงานในครึ่งทางแรก ระหว่างปี 2558 – ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของแต่ละโครงการใน 4 โหมดการเดินทาง คือ ทางราง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ พร้อมกับโชว์แผนดำเนินงานในอนาคต โครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต่อจากนี้ จนถึงปี 2565 ที่จะพลิกโฉมการคมนาคมของประเทศไทย

ไฮไลต์คือโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยเฉพาะ “สถานีกลางบางซื่อ “ที่จะเปิดบริการในปี 2563 ที่จะพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของอาเซียน

โดยออกแบบให้รองรับรูปแบบระบบคมนาคมได้อย่างหลากหลายและเชื่อมต่อ เป็นศูนย์กลางระบบรางอย่างสมบูรณ์แบบ และยังมีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ได้กำหนดแนวคิดการพัฒนา คือ “ศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับ ASEAN” โดยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าในเมือง และรถไฟความเร็วสูง

และยังนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (Transit-oriented Development : TOD) มาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ เมื่อแล้วเสร็จสถานีกลางบางซื่อจะเป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีมาตรฐานเทียบเท่าสถานีกลางต่างๆ ทั่วโลก

ซึ่งจะโค่นแชมป์อย่างสถานี KL Sentral ของมาเลเซีย โดยอาคารสถานีกลางบางซื่อ กว้าง 244 เมตร ยาว 596.6 เมตร สูงประมาณ 43 เมตร มี 4 ชั้น รวมชั้นใต้ดินพื้นที่ใช้สอยประมาณ 300,000 ตารางเมตร

ตัวอาคารสถานีมีทั้งหมด 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นลานจอดรถที่สามารถรองรับได้กว่า 1,700 คัน ชั้น 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว พื้นที่พักคอยผู้โดยสาร เขตร้านค้า พื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และจุดเชื่อมต่อรถโดยสาร ขสมก. และ บขส. ชั้น 2 และชั้น 3 เป็นชานชาลาของรถไฟสายต่างๆ รวมทั้งหมด 24 ชานชาลา เป็นชั้นชานชาลารถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกลทุกเส้นทาง จำนวน 8 ชานชาลา และชั้น 3 เป็นชั้นชานชาลารถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทาง จำนวน 10 ชานชาลา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์ จำนวน 2 ชานชาลา

ขณะที่ “อาคารสถานี KL Sentral” มีรถไฟให้บริการทั้งหมด 7 สาย และมีชานชาลาทั้งหมด 12 ชานชาลา ทางรถไฟเกือบทั้งหมดอยู่ในระดับดิน และสร้างสถานีคร่อมลงไปยกเว้น LRT KelenaJaya Line ที่มีชานชาลาอยู่เหนือโถงกลางสถานี

โดยเริ่มแรกมีรถไฟให้บริการ 3 สายหลัก คือ KTM Komuter (รถไฟฟ้าชานเมือง) KTM Intercity (รถไฟทางไกล) และ LRT สาย KelanaJaya ปัจจุบันมีรถไฟให้บริการทั้งหมด 7 สาย และมีชานชาลาทั้งหมด 12 ชานชาลา เป็น KTM Komuter 4 ชานชาลา KTM Intercity 2 ชานชาลา KLIA Ekspres2 ชานชาลา (รถไฟเชื่อมสนามบิน) และ KLIA Transit 2 ชานชาลา โดย KLIA Ekspresยังเป็น City Air Terminal สามารถเช็กอินและโหลดกระเป๋าได้ที่สถานี

นอกจากนี้แนวคิดการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ไม่ได้จำกัดแค่การเป็นศูนย์กลางระบบรางเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางของเขตเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะในภาคพื้นดิน กับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) รวมถึงประเทศจีนและสิงคโปร์

นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานหลักของประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไปโดยปริยาย ทำให้ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า สถานีกลางบางซื่อจะเป็นสถานีที่มีผู้สัญจรทั้งการเดินทางในชีวิตประจำวัน ท่องเที่ยว และติดต่อธุรกิจ ประมาณ 2 ล้านคนต่อวัน

คล้ายกับการพัฒนา “สถานีกลางเบอร์ลิน” (Berlin Hauptbahnhof) ที่มีการพัฒนาและก่อสร้างที่มีเป้าหมายไม่ใช่การเป็นสถานีกลางของประเทศเยอรมนีเท่านั้น หากแต่ยังสามารถเชื่อมต่อกับประเทศในภาคพื้นยุโรป

รวมถึงการตั้งเป้าหมายให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจของยุโรป ซึ่งไม่เพียงเชื่อมต่อพื้นที่ของเยอรมนีตะวันออกและฝั่งตะวันตก แต่ยังเชื่อมต่อกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสไปยังกรุงมอสโค ประเทศรัสเซีย และเชื่อมกรุงสต๊อกโฮม ประเทศสวีเดน กับกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

และยังสามารถเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานหลักของประเทศ 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานเชินเนอเฟลด์ (Schönefeld Airport) ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่อยู่ใกล้ที่สุดและใช้เวลาเดินทางเพียง 30 นาที ท่าอากาศยานโคโลญบอนน์ (Köln Bonn Airport) เมืองโคโลญ ซึ่งนครบอนน์เคยเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตก และท่าอากาศยานแฟรงเฟิร์ต (Frankfurt Airport) เมืองแฟรงเฟิร์ต ซึ่งเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนี และเป็นอันดับ 3 ของยุโรป

นอกจากนี้ที่สถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถมาได้ทุกวัน เช่นเดียวกันกับ Tokyo Character Street ที่สถานีโตเกียว เพราะพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ จะถูกพัฒนาตามแนวคิด TOD คือ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน

เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานและดึงดูดผู้คนเข้าสู่พื้นที่โครงการโดยมีที่พักอาศัย ย่านการค้าสำนักงาน พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และอื่นๆ อยู่ในพื้นที่ ซึ่งหลังจากการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อแล้ว พื้นที่โดยรอบจะถูกพัฒนาขึ้น


มีตลาดนัดจตุจักร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาซื้อหาของมากมาย และเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ จะมีการพัฒนาต่อยอดจากตลาดนัดจตุจักร เป็นพื้นที่ค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่ที่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางไปจับจ่ายซื้อสินค้าในบริเวณโดยรอบ อาทิ เซ็นทรัล ลาดพร้าว