ผังเมืองปลดล็อกคลองเตย-ท่าเรือฟื้น”พอร์ตซิตี้”

ผังเมือง กทม.ปลดล็อกที่ดิน 2,353 ไร่ จากสีน้ำเงินเป็นพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรม ยกชั้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ การท่าเรือเฮ ! เดินหน้ามาสเตอร์แพลนที่ดินคลองเตยกว่า 1 แสนล้าน ตัดแบ่ง 3 โซน เนรมิตการค้า พัฒนาธุรกิจหลัก และพัฒนาเมือง สร้างแลนด์มาร์กมหึมาริมน้ำเจ้าพระยา

แหล่งข่าวจากสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผังเมืองรวม กทม.ฉบับที่กำลังปรับปรุงใหม่ จะปรับสีการใช้ประโยชน์ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บริเวณย่านคลองเตย จากสีน้ำเงินกำหนดเป็นที่ดินประเภทราชการ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ เป็นพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรมตามที่การท่าเรือฯขอให้ปรับปรุง เพื่อจะนำที่ดินบริเวณดังกล่าวจำนวนกว่า 2,353 ไร่ พัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์

“จะทำให้การพัฒนาย่านคลองเตยต่อไปในอนาคตจะเป็นย่านพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ของ กทม. ที่รองรับการขยายตัวมาจากใจกลางเมือง”

รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้จัดทำแผนแม่บท (master plan) การพัฒนาที่ดินท่าเรือกรุงเทพ 2,353 ไร่ ทั้งในเขตรั้วศุลกากรและนอกเขตรั้วศุลกากร คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อมากำหนดแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use) ภายใต้กรอบแนวคิดที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทให้มีความเหมาะสมกับศักยภาพและสอดคล้องกับสภาพความต้องการของตลาดปัจจุบัน ก่อนที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

โดยแบ่งพื้นที่การพัฒนาเป็น 3 โซนประกอบด้วย 1.โซนพื้นที่พัฒนาด้านการค้า พัฒนาธุรกิจหลักการให้บริการของท่าเรือ และพื้นที่พัฒนาเมือง มูลค่าการลงทุน 23,853 ล้านบาท โดยพื้นที่ด้านการค้าจะมีอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี เนื้อที่ 17 ไร่ ด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบัน ภายในอาคารประกอบด้วย สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การประชุม พื้นที่ค้าปลีกและธนาคาร

มีศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า เนื้อที่ 54 ไร่ ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าแนวสูงและแนวราบ สถานีพักรถบรรทุกสินค้า รวมถึงมีอาคารสำนักงาน เนื้อที่ 126 ไร่ (ไม่รวมตลาดคลองเตย) อยู่ในทำเลศักยภาพพัฒนากิจกรรมที่มีความหลากหลาย และสนับสนุนกิจการของท่าเรือและชุมชนโดยรอบ อาทิ ศูนย์กลางการค้าและพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก อาคารพาณิชย์ อพาร์ตเมนต์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ สถาบันการเงินและศูนย์การประชุม

นอกจากนี้ มีศูนย์การค้าธุรกิจทันสมัยครบวงจร พื้นที่ 15 ไร่ เช่น ศูนย์แสดงสินค้าเกี่ยวกับกิจการท่าเรือ และจะนำที่ดินบริเวณโรงฟอกหนัง กระทรวงกลาโหม เนื้อที่ 123 ไร่ พัฒนาสมาร์ทคอมมิวนิตี้ ก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่รองรับชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ

2.โซนพัฒนาธุรกิจ หลักการให้บริการท่าเรือกรุงเทพ จะปรับพื้นที่จากปัจจุบัน 943 ไร่ เหลือ 534 ไร่ พัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกและบูรณาการพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี พื้นที่ปฏิบัติการสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ เช่น คลังสินค้าห้องเย็น ฮาลาล ลานบริหารจัดการรถบรรทุก และจุดบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ

ยังมีท่าเทียบเรือตู้สินค้าบริเวณเขื่อนตะวันตกติดคลองพระโขนง จะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือแห่งใหม่ ลานกองเก็บตู้สินค้าและอาคารสำนักงาน ปรับปรุงท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออกให้ทันสมัยรองรับเรือลำเลียงชายฝั่ง และมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือและทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ เป็นการระบายรถบรรทุกขาออกที่มุ่งหน้าไปยังบางนา-ตราด และขาเข้ามายังท่าเรือกรุงเทพ


และ 3.โซนพื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Modern City) ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะเน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ รวมถึงพัฒนาเป็นอาคารมิกซ์ยูสครบวงจร ที่ประกอบด้วยช็อปปิ้งมอลล์ พื้นที่จอดรถและโรงแรม