รฟม.เวนคืนที่ดินกลางเมือง 3 หมื่นล. เปิดร่วมทุน 2 รถไฟฟ้าดึงเอกชนเหมาสร้าง-เดินรถสีส้ม

รฟม.จ่อเวนคืนกว่า 3 หมื่นล้าน สร้างรถไฟฟ้า 2 สาย เชื่อมกรุงเทพฯชั้นใน โซนตะวันตกและตะวันออก บอร์ดไฟเขียวสายสีส้มประมูล PPP net cost ดึงเอกชนลงทุน 1.28 แสนล้าน เหมาขุดอุโมงค์จาก “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” พ่วงเดินรถตลอดสายถึงมีนบุรี แลกสัมปทาน 30 ปี คาดสิ้นปีประกาศเชิญชวน ส่วนสายสีม่วงใต้ “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” รอ EIA และ พ.ร.ฎ.เวนคืน คาดแบ่งประมูล 3-4 สัญญา จ้างเดินรถยาว 30 ปี ปรับแผนใหม่ใช้เงินกู้ในประเทศแทน ADB

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. นัดพิเศษวันที่ 7 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา อนุมัติให้ รฟม.ดำเนินการเปิดประมูลสัญญาเดียวรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในส่วนก่อสร้างด้านตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. และคัดเลือกเอกชนเดินรถสายสีส้มตลอดเส้นทางจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ รวม 34.6 กม.

สีส้ม PPP 30 ปี 1.28 แสนล้าน

ขั้นตอนจากนี้ รฟม.จะเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมและให้คณะกรรมการ (บอร์ด) PPP เห็นชอบโครงการ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อยกร่างทีโออาร์ เปิดประมูลโครงการในปี 2562 ซึ่งโครงการนี้จะดำเนินการภายใต้มาตรการ PPP fast track จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 9 เดือน

นายภคพงศ์กล่าวว่า โครงการนี้ใช้วงเงินลงทุน 142,600 ล้านบาท แยกเป็น ค่าเวนคืนจากศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 14,600 ล้านบาท ค่างานโยธา 96,000 ล้านบาท และค่าระบบและขบวนรถ 32,000 ล้านบาท

โดยโครงการนี้จะใช้โมเดลการลงทุนเหมือนรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งรัฐเวนคืนที่ดินให้ ส่วนเอกชนลงทุนทั้งก่อสร้างและระบบเดินรถรวมวงเงิน 128,000 ล้านบาท และรัฐสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินเพดานค่างานโยธา 10 ปี

“ก่อนหน้านี้ บอร์ดให้ รฟม.ไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฉบับใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการทุกอย่างแล้ว โครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หรือ EIRR 19% ส่วนด้านการเงิน หรือ FIRR ติดลบ เป็นปกติการลงทุนอินฟราสตรักเจอร์”

ดึงเอกชนสร้างพ่วงเดินรถ

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การที่ รฟม.เสนอแบบ single one single package คือ ให้งานก่อสร้างและเดินรถไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เปิดบริการได้ตามแผน ซึ่งสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีก่อสร้างและคืบหน้าแล้วกว่า 16% มีกำหนดจะเปิดบริการปี 2566 จากเดิมเริ่มงานก่อสร้างแล้วถึงจะเปิดประมูลเดินรถ หากมีปัญหาจะทำให้การเปิดใช้ล่าช้าได้

“งานระบบจะใช้เวลาดำเนินการ 36 เดือนในการผลิต ติดตั้งและทดสอบระบบ หากหาเอกชนดำเนินการได้ในปี 2562-2563 ถือว่ายังอยู่ในแผนงาน”

แนวรถไฟฟ้าสายสีส้มมีจุดเริ่มต้นจากบางขุนนนท์ บริเวณจุดตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ ใช้แนวเขตรถไฟสายบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนินแล้วเบี่ยงใช้แนวถนนหลานหลวง ผ่านยมราชแล้วเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรีจากนั้นเลี้ยวเข้าถนนราชปรารภ ถึงดินแดงแล้วเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) ตัดตรงไปเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แล้วเบี่ยงเข้าแนวถนนพระรามเก้า ตัดผ่านถนนประดิษฐ์ธรรมนูญ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี แยกถนนกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี เป็นโครงสร้างใต้ดินตั้งแต่บางขุนนนท์-คลองบ้านม้า จากนั้นจะสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับจนถึงมีนบุรี มี 29 สถานี

สีม่วงใต้รอ พ.ร.ฎ.เวนคืน-EIA

ส่วนความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท ล่าสุดสรุปจะใช้เงินกู้ในประเทศทั้งโครงการ จากเดิมกระทรวงการคลังจะให้กู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) 10% รูปแบบการลงทุนจะแยกประมูลงานก่อสร้าง แบ่ง 3-4 สัญญา ส่วนการเดินรถเงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท จะเปิดให้เอกชนร่วมทุน PPP gross cost ระยะเวลา 30 ปี รูปแบบเดียวกับสายสีม่วง เตาปูน-คลองบางไผ่จ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เดินรถให้ 30 ปี ลงทุนกว่า 1 แสนล้าน

สำหรับค่าเวนคืนและก่อสร้างอยู่ที่ 101,112 ล้านบาท แยกเป็น ค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท สำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท งานโยธา 77,385 ล้านบาท สิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ1,335 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงาน 2,865 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดงานโยธา 3,582 ล้านบาท

นอกจากนี้ โครงการยังรออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ทำเสนอเพิ่มเติม ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แล้ว รอคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหญ่พิจารณา รวมถึงรออนุมัติการขอใช้ที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย จากนั้นถึงจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินได้

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นเป็นทางวิ่งยกระดับจากสถานีเตาปูน เชื่อมสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ) และสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ไปตามแนวถนนตัดใหม่ ง8 แล้วลดระดับเป็นใต้ดิน ผ่านกรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวเข้าถนนทหาร ถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนมหาไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

เมื่อลอดผ่านสี่แยกมไหสวรรย์ จะเปลี่ยนเป็นทางวิ่งยกระดับไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงข้างด่านเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก รวม 23.6 กม. เป็นทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และทางวิ่งยกระดับ 11 กม. มี 17 สถานี

เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี (สถานี 1-10) และยกระดับ 7 สถานี (สถานี 11-17)ได้แก่ สถานีรัฐสภา สถานีศรีย่าน สถานีสามเสน สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม สถานีผ่านฟ้า สถานีวังบูรพา สถานีสะพานพุทธ สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีสำเหร่ สถานีจอมทอง สถานีดาวคะนอง สถานีบางปะกอก สถานีประชาอุทิศ สถานีราษฎร์บูรณะ สถานีพระประแดง และ สถานีครุใน