ทุ่มแสนล้านปฎิวัติเดินรถไฟไทย จากระบบ “ดีเซล” สู่ “ไฟฟ้า”

แฟ้มภาพ

แผนฟื้นฟูกิจการล้างหนี้เฉียด 2 แสนล้านบาทของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อายุ 129 ปี นอกจากจะเร่งแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่ปูพรมเฟสแรก 1,681 กม. ครอบคลุมเหนือจดใต้ให้เสร็จปี 2562-2566 ดันรถไฟชานเมืองสายสีแดงเปิดบริการในเดือน ม.ค. 2564 เปิดกรุที่ดินเปิดประมูล PPP พัฒนาเชิงพาณิชย์สร้างรายได้เข้าองค์กรในระยะยาว

หนึ่งในนั้นมีแผนจะเปลี่ยนการเดินรถไฟ จากปัจจุบันขับเคลื่อนด้วย “ระบบดีเซล” เป็น “ระบบไฟฟ้า” หวังลดการซ่อมบำรุงและมลพิษในอนาคต

“วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ ฉายภาพให้ฟังว่า ทั่วโลกจะเลิกใช้ดีเซลแล้ว การรถไฟฯต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ โดยมีแผนจะเปลี่ยนการเดินรถรถไฟทาง 1 เมตร จากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นระบบไฟฟ้า เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากระบบไฟฟ้าจะมีต้นทุนถูกกว่าดีเซล 25-30% และลดค่าซ่อมบำรุงรางประมาณ 2-5%

ที่ผ่านมาศึกษาไว้ 4 เส้นทาง ใช้เงินลงทุนรวม 100,907 ล้านบาท ได้แก่ ชุมทางบางซื่อ-บ้านภาชี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 252 กม. วงเงิน 28,720.24 ล้านบาท, ชุมทางบางซื่อ-บ้านภาชี-แก่งคอย-จิระ

ระยะทาง 243 กม. วงเงิน 23,682.12 ล้านบาท, ชุมทางบางซื่อ-หนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 209 กม. วงเงิน 33,572.42 ล้านบาท และชุมทางบางซื่อ-มักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-พัทยา ระยะทาง 160 กม. วงเงิน 10,127.29 ล้านบาท

“แนวคิดการพัฒนาจะขีดรัศมีไว้รอบกรุงเทพฯ ระยะแรก 100 กม. เป็นแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟสายสีแดง จากบางซื่อไปนครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา จะเร่งให้เสร็จในปี 2563-2564 เป็นแนวเส้นทางเดียวกับสายสีแดงก่อน คือบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ที่จะมีทั้งระบบรถไฟฟ้าและดีเซลวิ่งเข้าที่สถานีกลางบางซื่อ จะต้องทยอยลดดีเซลที่จะวิ่งเข้ามาในเมืองและบทบาทของสถานีหัวลำโพง ที่ยกเลิกการใช้งานในอนาคต โดยจะเร่งจัดซื้อรถจักรไฟฟ้าและรถชุดไฟฟ้า EMU”

ส่วนระยะที่ 2 รัศมี 250 กม. ไปหัวหิน ปากน้ำโพ ชุมทางจิระ และระยะที่ 3 รัศมี 500 กม. ครอบคลุมถึงพิษณุโลก ชุมพร ขอนแก่น

นายวรวุฒิกล่าวย้ำว่า การเปลี่ยนเดินรถเป็นระบบไฟฟ้า จะทำให้สามารถแข่งขันด้านความเร็วได้ เนื่องจากสามารถทำให้การเดินรถวิ่งได้เร็วขึ้น เช่น ไปพิษณุโลก ใช้เวลาต่ำกว่า 3 ชั่วโมง เป็นต้น จะทำให้คนหันมาใช้บริการรถไฟมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ฝ่ายการตลาดจะต้องหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เจาะกำลังซื้อในช่วงสถานีปลายทาง จะต่อยอดการเดินทางของผู้โดยสารให้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ยังไง ซึ่งตลาดในอนาคตของรถไฟจะอยู่ช่วงตรงกลาง คือ รัศมี 250 กม. จากกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รถไฟ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมารับทราบแผนจากนี้จะต้องจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายละเอียด และจัดลำดับความสำคัญของ 4 เส้นทางใหม่ให้สอดรับกับสภาพปัจจุบัน จากเดิมผลการศึกษาจะเริ่มจากเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากบางซื่อ-บ้านภาชี-แก่งคอย-จิระก่อนเป็นลำดับแรก แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนต้องกลับมาพิจารณาแผนแม่บทที่ทำใหม่ โดยจะเริ่มเส้นทางรถไฟทางไกลช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชันก่อน โดยติดสายไฟฟ้าวงเงิน 1,700 ล้านบาท เพื่อให้โครงการเกิดได้เร็ว รับเปิดสถานีกลางบางซื่อในปี 2564

ขณะที่แผนโดยภาพรวมจะเร่งศึกษารายละเอียดให้เสร็จปี 2563 ประมูลปี 2564 และเดินรถปี 2566