ซีพีสู้หวั่น “ไฮสปีด” หลุดมือ เดินเกมต่อรอง “BTS” รอเสียบ

แฟ้มภาพประกอบข่าว

ไฮสปีดติดเดดล็อก รัฐบาลสั่งปิดดีลสิ้น ก.พ. หวั่นลากยาว ล้มประมูล จับตาถอน-ไม่ถอนเงื่อนไขพิเศษ วงในเผยเจ้าสัวสู้เพื่อศักดิ์ศรี กลุ่ม ซี.พี.วุ่นเจรจาพันธมิตร “บีทีเอส” รอเสียบ “คณิศ” ย้ำต้องรอคุยให้สุดทาง ไม่ห่วงสุญญากาศเลือกตั้ง บอร์ด EEC ไฟเขียวแผน สวล. 1.3 หมื่นล้าน พัฒนาคนรับอนาคต 12 ปี กัลฟ์-พีทีที แทงค์ยื่นรายเดียวงานมาบตาพุด

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ยังไม่กำหนดวันประชุม เนื่องจากคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานยกร่างรายละเอียดในสัญญายังพิจารณาข้อเสนอของกลุ่ม ซี.พี.ไม่แล้วเสร็จ เพิ่งพิจารณาได้ 7 ข้อ จะประชุมต่อวันที่ 18 ก.พ.นี้

เดดไลน์สิ้น ก.พ.

หากผลเจรจามีแนวโน้มไปต่อไม่ได้ก็ต้องยุติการเจรจา หรือดูแล้วสามารถไปต่อได้ก็เดินหน้ากันต่อไป โดยตั้งเป้าให้เสร็จในเดือน ก.พ. และเซ็นสัญญาเดือน มี.ค.นี้ ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) กำหนดไว้

“11 ข้อเสนอในซอง 4 ที่ ซี.พี.ยื่นจบแล้ว รับ 3 ข้อ อีก 8 ข้อไม่รับ แต่ขั้นตอนเจรจายังไม่จบ เพราะ ซี.พี.มีข้อเสนอ 200 หน้า อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว 11 ข้อก็ได้ คณะอนุกรรมการจะใส่ในสัญญา เช่น ระยะเวลาสัมปทาน ส่งมอบพื้นที่ ระยะเวลาก่อสร้าง ข้อเสนอไหนที่ไม่ตรงทีโออาร์คงไม่พิจารณา จะให้จบโดยเร็ว เพราะรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เร่งให้เสร็จเดือนนี้” นายวรวุฒิกล่าวและว่า

โครงการยังไม่ล้มประมูล หากเจรจา กลุ่มซี.พี.ไม่สำเร็จ จะเชิญกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์-บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น-บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง) มาเจรจาซองที่ 4 ต่อไป ในเรื่องวงเงินที่ให้รัฐอุดหนุน เพราะบีเอสอาร์เสนอสูงถึง 169,934 ล้านบาท หากรัฐต้องอุดหนุนจะเป็นภาระด้านงบประมาณในอนาคต

คุยบีทีเอสลดเงินอุดหนุน

“การเจรจาคงขอปรับลดวงเงินที่เอกชนเสนอมาให้อยู่ในกรอบที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท ได้หรือไม่ หรือบีเอสอาร์มีข้อเสนอเพิ่มอะไรบ้าง ที่จะลดวงเงินนี้ได้ ก็ต้องคุยกัน แต่ต้องรอผลเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.ให้สุดทางก่อน” นายวรวุฒิกล่าวย้ำ

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อเสนอที่คณะอนุกรรมการเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.มี 34 ข้อ เจรจาแล้ว 7 ข้อ มีบางประเด็นพอจะเป็นไปได้ เช่น ให้ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบโครงการตามสัดส่วนการถือหุ้น หากโครงการมีปัญหาสร้างไม่เสร็จ, ยังไม่ขอเริ่มงานก่อสร้างหากยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) การส่งมอบพื้นที่, เพิ่มกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย, ขอเช่าช่วงที่ดินมักกะสัน-ศรีราชา ให้ บจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทลูกพัฒนา,ขอรัฐขยายเพดานเงินกู้ให้กับรายใหญ่ เป็นต้น

ข้อเสนออื่น ๆ ที่ไม่รับพิจารณา เช่น ขยายเวลาก่อสร้างอีก 6 เดือนจากเดิม 5 ปี, จ่ายค่าปรับแบบตายตัว, ให้รัฐรับประกันผลตอบแทนโครงการหากไม่ถึง 6.75%, ให้เจรจาบริษัทเป็นรายแรกขยายอายุสัมปทานหลังครบ 50 ปี อีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปีขอให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก,เลื่อนจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชาจนกว่าจะมีผลตอบแทนหรือได้รับส่งมอบพื้นที่ครบ, ขอจ่ายค่าสิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ปีที่ 6 เป็นต้นไป, ห้ามรัฐอนุมัติโครงการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโครงการที่ทำให้เกิดการแข่งขัน, ปรับรูปแบบเป็นทางระดับดิน

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่ข้อเสนอสร้างส่วนต่อขยายไประยอง ย้ายจุดที่ตั้งสถานีและสร้างสเปอร์ไลน์เชื่อม ยังไม่ถึงเวลาที่จะนำมาพิจารณาในขณะนี้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่สามารถขออนุญาตจากการรถไฟฯได้ตามปกติ

สะพัดกลุ่ม ซี.พี.ทิ้งทุ่น

“การที่ ซี.พี.มีเงื่อนไขมาก เป็นเพราะราคาที่เสนอประมูลนั้นต่ำเกินจริง ทำให้เดินหน้ายาก เพราะโครงการมีความเสี่ยงสูง ใช้เงินลงทุน 2 แสนล้าน ซึ่งแบงก์คงไม่ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำได้ง่ายๆ ตอนนี้เริ่มมีหลายกระแส เช่น ซี.พี.จะล้มประมูลเพื่อให้เปิดประมูลใหม่ อีกกระแสก็บอกว่า ทางเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ตั้งใจในโครงการนี้มาก จะขอสู้เพื่อศักดิ์ศรี” รายงานข่าวกล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้โครงการต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หากเจรจา ซี.พี.ไม่สำเร็จ จะเชิญกลุ่มบีเอสอาร์มาเจรจาต่อไป แต่ต้องลดวงเงินที่ให้รัฐอุดหนุนจากที่เสนอไว้ 169,934 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ากรอบ ครม.อนุมัติ

เปิดข้อเสนอบีทีเอส

“แม้กลุ่มบีเอสอาร์เสนอราคาแบบไม่มีเงื่อนไข แต่รัฐต้องควักเพิ่มกว่า 5 หมื่นล้าน ก็ต้องดูว่าเอกชนจะมีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อแลกกับการลดเงินอุดหนุนจากรัฐ” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ส่วนซองที่ 4 ของกลุ่มบีเอสอาร์ เสนอลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง สร้างส่วนต่อขยายจากอู่ตะเภา-ระยอง ออกไป 40 กม. นอกจากนี้ ยื่นขอใช้สถานีพญาไทเป็นสถานีจอดรถไฟความเร็วสูงด้วย เพื่อให้ผู้โดยสารต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสได้สะดวก

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการบอร์ดอีอีซี กล่าวว่า คณะกรรมการคงไม่สามารถพิจารณาข้อเสนอของกลุ่ม ซี.พี. ที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์และมติคณะรัฐมนตรีได้ เช่น ขยายอายุสัมปทานขอรัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก เป็นต้น

“แต่ก็ต้องหารือกับ ซี.พี.อีกครั้ง ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย รัฐยังเปิดให้เจรจากันจนกว่าจะได้ตามข้อตกลง เช่น เรื่องผลตอบแทนให้กับภาครัฐจนน่าพอใจ ตามระเบียบแล้ว หากรายแรกไม่สามารถตกลงกันได้ตามเงื่อนไข รัฐสามารถเจรจากับรายที่ 2 ได้ แต่ต้องเจรจากับรายที่ 1 จนจบก่อน ปลายเดือนนี้จะได้ข้อสรุปเรื่องผู้ชนะการประมูลครั้งนี้”

ไม่ห่วงสุญญากาศเลือกตั้ง

นายคณิศกล่าวว่า ทุกโครงการใน EEC Project List ทั้งไฮสปีด, ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3, สนามบินอู่ตะเภา, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน จะเสร็จสิ้นหาผู้ชนะประมูลได้ตามไทม์ไลน์ก่อนเลือกตั้งแน่นอน

“ช่วงระหว่างที่เลือกตั้งเดือน มี.ค. กับระยะเวลาจัดตั้งรัฐบาล คาดว่าหลังเดือน พ.ค.จะแล้วเสร็จ ทุกโครงการจะถูกเสนอเข้า ครม.พิจารณา ดังนั้น 5 โครงการลงทุนเลื่อนเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ชะลอหรือหยุดโครงการใด ๆ”

EEC ไฟเขียว 13,572 ล้าน บ.

นายคณิศเปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด EEC โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า เห็นชอบแผนสิ่งแวดล้อม ปี 2561-2564 จำนวน 86 โครงการ วงเงิน 13,572 ล้านบาท โดยให้เริ่มโครงการเร่งด่วน 14 โครงการ ปี 2562 จะใช้งบฯ 5,800 ล้านบาท แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน คือ เร่งจัดการมลพิษทั้งขยะและน้ำเสียเป็นอันดับแรก จากนั้นปี 2563 จะใช้งบฯ 1,879 ล้านบาท ปี 2564 ใช้งบฯอีก 660 ล้านบาท รองรับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและฟื้นคืนทรัพยากรธรรมชาติ จัดกิจกรรมส่งเสริมการฟื้นฟูการท่องเที่ยว

ต้องการแรงงาน 1 ล้านคน

บอร์ดยังเห็นชอบแผนพัฒนาบุคลากรโดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจากผลสำรวจพบว่า ใน EEC ขาดทั้งแรงงานและบุคลากรถึง 50,000 คน แผน 12 ปี (2562-2573) อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) 300,000 ล้านบาท/ปี ต้องการแรงงานและบุคลากร 1 ล้านคน อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล, หุ่นยนต์, การแพทย์และบริการสุขภาพ, การบินและชิ้นส่วน, โลจิสติกส์, ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, ท่องเที่ยว และการแปรรูปอาหาร

ซี.พี.ยืนยันสู้ประมูล

แหล่งข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่ม ซี.พี.มีความตั้งใจจริงที่จะดำเนินโครงการไฮสปีดเทรน เพราะเป็นโครงการสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก จึงพร้อมจะสู้เต็มที่ เพื่อให้ได้โครงการนี้ แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ จึงต้องหารือกับพันธมิตรต่างประเทศหลายราย ทำให้การเจรจาเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ กับภาครัฐต้องใช้เวลาเจรจาต่อรองพอสมควร แต่เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปตามกรอบเวลาที่รัฐกำหนดไว้ในเดือน ก.พ.นี้

“เราเชื่อว่าโครงการนี้ถ้าเกิดได้จะดีกับประเทศ อย่างที่ทราบกันว่าเป็นโครงการใหญ่มากที่ต้องใช้ทั้งเงินลงทุน, ความชำนาญและประสบการณ์เราจึงต้องอาศัยพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ ซึ่งพันธมิตรก็ต้องพิจารณาเรื่องผลตอบแทนในการลงทุนด้วย ทำให้การตัดสินใจอาจช้า เพราะต้องคุยกับพาร์ตเนอร์”

2 ยักษ์ยื่นประมูลมาบตาพุด

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด จับมือยื่นซองประมูลโครงการเพียงรายเดียวจาก 18 ราย ประกาศผลในเดือน พ.ค. 62

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!