แสนล้านจัดระเบียบสายสื่อสาร-ไฟฟ้า ดัน “กทม.” มหานครสวยไร้สาย

2 ปีนับจากนี้ “กรุงเทพมหานคร” จะเป็นเมืองไร้สาย หลัง “บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” พ่อเมืองประกาศความพร้อมเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา

พลันที่สะบัดปากกาเซ็นสัญญาใจกับ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะนำสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วเสร็จใน 2 ปี มี กทม.เป็นเจ้าภาพประมูลจัดหาผู้รับเหมาดำเนินการ และมี กสทช.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง

ผู้ว่าฯ กทม.ฉายภาพว่า กทม.มีแผนนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแผนพัฒนาก20 ปี (2556-2575) ให้เมืองสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้า และสายสื่อสาร เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DE) วันที่ 6 ก.ย. 2560

ที่ผ่านมา กทม.หารือร่วมกับ กสทช.และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม อาทิ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม รวมถึงการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่ง กทม.รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของ กทม.

รวมถึงขอใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ถูกต้อง และนำเสนอแผนโครงการต่อคณะกรรมการ DE คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐาน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามลำดับ

สำหรับการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน กทม.ได้แยกแผนดำเนินการออกจากแผนนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของ กฟน. เนื่องจาก เป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นอีกทั้งลักษณะการก่อสร้างวางท่อร้อยสายสื่อสาร และสายไฟฟ้า แตกต่างกัน

การนำสายสื่อสารลงใต้ดินจะขุดวางท่อร้อยสายบนทางเท้าลึก 80 เซนติเมตร ความกว้างไม่เกิน 40 เซนติเมตร ขณะที่ท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินจะขุดวางใต้ผิวจราจรลึก 4 เมตร ยุ่งยากกว่า

ทั้งนี้การก่อสร้างเพื่อวางท่อร้อยสายจะนำเทคโนโลยีท่อร้อยสาย มีความแข็งแรงทนทาน เป็นมาตรฐานเดียวกับมหานครอื่น ๆ ทั่วโลกมาใช้ในการดำเนินการบนถนนสายหลักและสายรอง รวมระยะทาง 2,450 กม. กระจาย 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ ตอนเหนือ กรุงเทพฯตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้

จะเริ่มก่อสร้างและติดตั้งโครงข่ายในเดือน พ.ค.นี้ คาดว่าจะนำสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วเสร็จทั้งโครงการภายใน 2 ปี โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างคัดเลือกผู้รับเหมามาดำเนินการ

ซึ่งกทม.จะไม่ใช้เงินงบประมาณมาดำเนินการ จะใช้เงินกู้และจากค่าเช่าที่จะเก็บจากผู้ประกอบการมาดำเนินการก่อสร้าง

เพื่อไปสู่เป้าหมายให้ภูมิทัศน์เมืองเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และเกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน ในอนาคตหากมีการสร้างถนนสายใหม่เพิ่ม กทม.จะก่อสร้างท่อร้อยสายใต้ดินไปพร้อม ๆ กัน

ฝั่ง กฟน.ก็ยังคงเร่งนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ตามแผนงาน 5 ปี (2560-2564) จะใช้เงินลงทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท

ล่าสุดขยายพื้นที่ไปยังแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยายช่วงถนนจรัญสนิทวงศ์

นายราเชนทร์ พฤทธิพงศ์พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ กฟน. กล่าวว่า ตามที่ กฟน.เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาลเร่งเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ล่าสุดจะดำเนินโครงการบนถนนจรัญสนิทวงศ์ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7-แยกท่าพระ รวมระยะทาง 11.4 กม. มูลค่ากว่า 2,200 ล้านบาท

สำหรับแนวรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ๆ ที่กำลังก่อสร้าง กฟน. ได้บูรณาการความร่วมมือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมกันก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้า และวางระบบรถไฟฟ้าในคราวเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบด้านการก่อสร้าง ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน ประหยัดงบประมาณ และทำให้โครงการสำเร็จรวดเร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ ในแผนปี 2562 จะใช้งบฯกว่า 20,000 ล้านบาท ดำเนินการใน 114.9 กม. อาทิ พื้นที่เมืองชั้นใน แนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ