กฎเหล็กคุมสายสื่อสาร กทม.บี้ทุกค่ายมุดใต้ดิน ‘ทรู’คว้าสัมปทานท่อ30ปี

กทม.ทุ่ม 2.7 หมื่นล้าน เร่งวางท่อร้อยสายใต้ดิน จัดระเบียบสายสื่อสารเมืองกรุง ถนนสายหลักสายรอง 2,450 กม. ออกกฎเข้มห้ามพาดสายสื่อสารบนเสา บี้ทุกโครงข่ายมุดลงดิน ดัน “กรุงเทพธนาคม” บริษัทลูกลงทุน ก่อนดึงเอกชนบริหาร ชี้ผลตอบแทนตลอดอายุสัมปทาน 5-6 หมื่นล้าน เร่งปิดดีลเจรจา “ทรู อินเตอร์เน็ต” คว้าสัญญาเช่า 30 ปี เปิดช่องให้จัดการเบ็ดเสร็จ ดึงผู้ประกอบการโทรคมนาคมร่วมเช่ารายเดือน ยักษ์สื่อสารโอดต้องจ่ายแพงร้อง กสทช.คุมราคา

นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อจัดระเบียบเมืองให้สวยงามตามนโยบายรัฐบาล กทม.มอบให้เคทีดำเนินการโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม.ระยะทาง 2,450 กม. วงเงินก่อสร้างไม่เกิน 27,000 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564

ลงทุน 2.7 หมื่นล้าน 4 โซน

โดยเคทีจะลงทุนสร้างท่อร้อยสาย (micro duct) กว่า 20,000 ล้านบาท และให้ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารมาเช่าใช้บริการ เงินลงทุนจะมาจากเงินกู้ 30% และรายได้จากค่าเช่าที่เอกชนจ่ายให้แต่ละปี ตลอด 30 ปี คาดว่าจะมีผลตอบแทน 50,000-60,000 ล้านบาท หักค่าลงทุน 20,000-30,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้ที่เคทีจะได้รับ สำหรับพื้นที่เป็น 4 โซน ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ ตอนเหนือ 2.กรุงเทพฯตะวันออก 3.กรุงธนเหนือ และ 4.กรุงธนใต้ ครอบคลุมถนนสายหลักสายรองของทั้ง 50 เขต โดยเคทีเปิดประมูลแบบนานาชาติคัดเลือกผู้รับจ้างมาดำเนินการรูปแบบ EPC หรือจ้างเหมา คือสำรวจ ออกแบบด้านวิศวกรรม จัดหาอุปกรณ์ และก่อสร้าง ขณะนี้ได้ผู้รับจ้างแล้วทั้ง 4 โซน ผู้รับจ้างเสนอราคาไม่เกินกรอบราคากลาง 5,142 ล้านบาท

โซน 1 และโซน 4 แม่น้ำเจ้าพระยา คลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ถนนพระรามที่ 1 พญาไท เพชรบุรี พิษณุโลก วิภาวดีรังสิต ลาดพร้าว ฯลฯ กิจการร่วมค้าเอสซี, แอลเอสทีซีและฟอสส์ ประกอบด้วย บจ.ซิโนไฮโดรฯ จากจีนร่วมกับบริษัท ฟอสส์ เทเลคอม ดำเนินการ

โซน 2 คลองสามวา คลองแสนแสบ ลาดพร้าว วิภาวดีรังสิต ทางรถไฟเลียบถนนดวงพิทักษ์ พระราม 4 สุขุมวิท คลองพระโขนง ฯลฯ กิจการร่วมค้าเอดับบลิวดี ประกอบด้วยบริษัท เด็มโก้ กับบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) ดำเนินการ

และโซน 3 ถนนเอกชัย คลองดาวคะนอง แม่น้ำเจ้าพระยา คลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ถนนพระรามที่ 4 สุขุมวิท ฯลฯ กิจการร่วมค้าจีเคอี แอนด์เอฟอีซี ประกอบด้วยบริษัท กันกุล เอนจิเนียริ่ง ดำเนินการ

ทรูคว้าสัญญาเช่า 30 ปี

นายกิติศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการคัดเลือกผู้ประกอบการมาบริหารจัดการ หลังเปิดให้ผู้ประกอบการทุกรายมีใบอนุญาตจาก กสทช.ยื่นข้อเสนอ มี บจ.ทรู อินเตอร์เน็ต คอปอเรชั่น ยื่นรายเดียวและผ่านการพิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขสัญญา เช่น ระยะเวลาเช่าจะให้สูงสุด 30 ปี ต่อได้อีก 15 ปี อัตราค่าเช่า เบื้องต้น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กำหนดไว้ไม่เกิน 7,000-8,000 บาท/ท่อย่อย/กม./เดือน ถูกกว่าของ กสทช.ที่ 10,000 บาท/ท่อย่อย/กม./เดือน ทั้งนี้จะเจรจาให้ได้ข้อยุติและเซ็นสัญญาภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

“การเจรจาที่ยังไม่ยุติ ทางทรูกำลังประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน เพราะต้องลงทุนสายไฟเบอร์รูปแบบใหม่ ต้องมาติดตั้งในท่อร้อยสายที่เราสร้าง ใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท เมื่อทรูได้สัญญาเช่าไป สามารถนำไปบริหารและประกอบกิจการต่อได้ โดยให้ผู้ประกอบการรายอื่นเช่าต่อท่อ หรือสายไฟเบอร์ไม่ว่า AIS 3BB หลังเซ็นสัญญาทรูจะต้องจ่ายเงินก้อนแรก 10-15% ของค่าก่อสร้างกว่า 20,000 ล้านบาท ให้เคทีเพื่อนำไปจ่ายค่าก่อสร้าง”

การลงทุนโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนก่อสร้างท่อร้อยสายเอง และในอนาคตจะไม่มีใครไปลงทุนเอง สามารถแชร์ร่วมกันได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีทันสมัย แข็งแรงทนทานนาน 30-50 ปี มีขนาดเล็กความกว้างไม่เกิน 40 ซม. สามารถขุดวางท่อร้อยสายบนทางเท้าลึก 80 เซนติเมตร กระทบการจราจรน้อยสร้างเสร็จเร็ว

18 มิ.ย.คิกออฟหน้าเดอะสตรีท 

“เริ่มนำร่องพื้นที่ชั้นในก่อน ก่อสร้างพร้อมกันทั้ง 4 โซน เช่น รัชดาภิเษก สาทร พระราม 3 รวมถึงรอบเกาะรัตนโกสินทร์ วันที่ 18 มิ.ย.นี้จะเปิดตัวโครงการนำร่องบนถนนรัชดาภิเษกทั้ง 2 ฝั่งถนน จากบริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะสตรีท ไปทางแยกห้วยขวาง ระยะทาง 1 กม.”

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการเคที กล่าวว่า วันที่ 18 มิ.ย.นี้จะเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่ง กสทช.จะเป็นพี่เลี้ยงเคที เช่น คำนวณค่าเช่า การลดหย่อนภาษี และให้ผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เป็นต้น โครงการนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DE) วันที่ 6 ก.ย. 2560 ที่มอบให้ กทม.ดำเนินการ

จี้ทุกรายต้องมุดดิน 

หากผู้ประกอบการรายใดไม่นำสายสื่อสารลงดินถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม.ออกประกาศการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 39 ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 คือ 1.ขอความร่วมือเอกชนไม่ให้มีการติดตั้ง ตาก วางหรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนปรับ 2,000 บาท 2.สายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจะต้องปลดหรือรื้อถอนออก และ 3.สายสื่อสารที่ติดตั้ง วาง หรือแขวนในที่สาธารณะและยังใช้งานอยู่ เมื่อมีท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ให้ปลดหรือรื้อถอนออก

แหล่งข่าวจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า หลังประกาศผลว่า ทรู อินเตอร์เน็ตฯ ได้รับการคัดเลือก บริษัทได้เจรจากับทรู อินเตอร์เน็ต ถึงรายละเอียดต่าง ๆ มา 3 ครั้ง จนวันที่ 14 มิ.ย.ยังไม่ได้ข้อสรุป และทรู อินเตอร์เน็ต ยังไม่เสนอราคาค่าตอบแทนมาแต่อย่างใด

“สิ่งที่กังวลตอนนี้คือ หากไม่สามารถเจรจากับทรู อินเตอร์เน็ตได้ กรุงเทพธนาคมควรจะล้มหรือยกเลิกการประมูลครั้งนี้ และเปิดประมูลใหม่ ไม่ควรรีบเร่ง เพราะสุ่มเสี่ยงจะผิดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และแม้จะล่าช้าบ้างแต่ดีกว่ามานั่งแก้ปัญหาภายหลัง หรือหากผิดอะไรเกิดขึ้น คนที่จะได้รับผลกระทบมากก็คือคนทำงาน”

ลดค่าฟีดึงธุรกิจใช้บริการ

ก่อนหน้านี้ (6 พฤษภาคม) พล.ต.อ.อัศวิน พร้อมด้วยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ร่วมแถลงข่าวการดำเนินโครงการบริหารการจัดการนำสายสื่อสารลงใต้ดินใน กทม. โดยยืนยันว่า จะดำเนินการโครงการนี้ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย 2 ปี จะเริ่มดำเนินการปลายเดือนพฤษภาคม 2562

ขณะที่นายฐากรระบุว่า เพื่อให้การนำสายสื่อสารลงใต้ดินเป็นไปอย่างรวดเร็ว จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 4 เฟสเมื่อมีความคืบหน้าของการวางท่อร้อยสายสื่อสารในแต่ละเฟสในระยะ 100 กิโลเมตรจะให้ผู้ประกอบการเจ้าของสายสื่อสารต่าง ๆ ทยอยนำสายสื่อสารเข้าในระบบทันที รวมทั้งหามาตรการกระตุ้น เช่น การลดค่าธรรมเนียมสร้างแรงจูงใจ นอกจากนี้จะพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียม กทม.ในการให้บริการดังกล่าวด้วย โดย กทม.ยืนยันว่าทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชนและสาธารณะ ไม่คิดค่าบริการแบบมุ่งหวังผลกำไรจากผู้ประกอบการ

ร้องภาครัฐกำกับราคา

แหล่งข่าวจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า บริษัทกรุงเทพธนาคมได้ส่งหนังสือเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ 2-3 รายให้เข้าเสนอราคาโครงการนี้ แต่พิจารณาเงื่อนไขการลงทุนแล้ว ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะกระทบกับธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัท โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านราคาที่จะต้องประกาศเป็นอัตราค่าเช่าที่ผู้ประกอบการรายอื่นต้องจ่ายซึ่งสูงมาก อาจไม่คุ้ม จึงไม่เข้าร่วมเสนอราคา

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะหารือกันภายในสมาชิกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ เพื่อหาทางออกปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายของ กทม. ที่จะนำสายสื่อสารทั้งหมดลงใต้ดิน และให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้บริหารท่อร้อยสายทั้งหมด ที่มีลักษณะผูกขาดและกำหนดค่าบริการในอัตราที่สูงมาก สูงกว่าที่ บมจ.ทีโอทีให้บริการท่อร้อยสายอยู่ในขณะนี้

“จริง ๆ การนำสายโทรคมนาคมลงใต้ดินมีประโยชน์มาก แต่ กทม.ไม่อนุญาตให้เอกชนขุดวางท่อเอง อนุญาตเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง บมจ.ทีโอทีมีให้บริการค่อนข้างครอบคลุมพื้นที่ใน กทม. แต่คิดค่าเช่าแพงกว่าที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะลงทุนวางท่อเอง จึงเสนอสมาคมฯว่า จะรวมตัวลงขันวางท่อร้อยสายเองให้สมาคมฯ เจรจากับ กทม.เพื่อขออนุญาตขุดท่อ แต่เมื่อกรุงเทพธนาคมเข้ามาดำเนินการ และให้ทรูฯทำ คงต้องหารือว่า จะทำอย่างไรต่อ เพราะตอนนี้ไม่มีทางเลือกที่จะต้องนำสายลงดินด้วยต้นทุนที่สูงมากอาจต้องหารือ กสทช.ด้วย”

นอกจากนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งเริ่มมีแนวคิดจะเข้ามาผูกขาดการวางท่อร้อยสาย เพื่อหารายได้จากค่าบริการเช่นกัน เป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแลการกำหนดราคาที่เป็นธรรม

ทีโอทีพร้อมเป็นทางเลือก

ด้านแหล่งข่าวจาก บมจ.ทีโอทีเปิดเผยว่า ปัจจุบันทีโอทีมีโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใน กทม. 20,000 กิโลเมตร (จำนวนท่อคูณความยาวของสาย) กว่า 50% ของพื้นที่ ซึ่งเปิดให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นเข้ามาเช่าใช้ได้ โดยมีรายได้ต่อปีราว 400-500 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับอนุญาตจาก กทม.ให้ขุดวางท่อใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว

“เชื่อว่าทีโอทียังเป็นทางเลือกให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นเข้ามาใช้ท่อร้อยสายได้ ที่ผ่านมาได้ปรับลดราคาลง 30-40% แล้ว และหากไม่สามารถขุดท่อใหม่ได้ ทีโอทียังได้รับการคุ้มครองตามหลัก right of way ที่จะปักเสาโทรคมนาคมเองได้”

กสทช.พร้อมออกกฎคุมราคา

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า กสทช.สนับสนุนนโยบายการทำสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและทัศนียภาพที่ดีของเมือง โดยผู้ประกอบการที่ย้ายสายสื่อสารลงใต้ดินสามารถนำค่าใช้จ่ายในการย้ายสายมาหักออกจากเงินสมทบเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้ ปัจจุบันอนุญาตให้เฉพาะบริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทลูกวางท่อและให้บริการเช่าท่อเพียงรายเดียว

“หากมีปัญหาค่าเช่าแพง กสทช.จะเปิดให้แต่ละฝ่ายเข้าไปเจรจาตกลงกันเองก่อน หากไม่สามารถตกลงกันได้จะออกประกาศควบคุมราคาด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการกลาง เหมือนก่อนหน้านี้ค่ายโทรคมนาคมไม่สามารถตกลงค่าเชื่อมต่อ (IC) กันได้”

 

คลิกอ่าน >>> 2 ปีเกลี้ยง! ทุ่ม2หมื่นล้านคิกออฟนำ “สายสื่อสารลงใต้ดิน” พลิกโฉมกทม.สู่มหานครไร้สายแห่งอาเซียน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!