เปิดเมกะโปรเจ็กต์รับ รมต.ใหม่ เซ็นประมูลทันที 9 แสนล้านจับตารื้องบปี’63

การจัดโผคณะรัฐมนตรีร่วมนาวา “บิ๊กตู่ 2/1” ใกล้ลงตัว บรรยากาศต่อรองเก้าอี้ฝุ่นเริ่มจาง โดยเฉพาะโควตาของ 2 พรรคร่วมรัฐบาล “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ได้ครองกระทรวงเกรดเอ-เกรดบีสมใจ

ในห้วงเวลานี้นอกจากเรื่องปากท้องชาวบ้านร้านตลาดที่รัฐบาลบิ๊กตู่ที่คัมแบ็กสมัยที่ 2 ต้องเร่งแก้ไข้ให้สมศักดิ์ศรีแล้ว

อีกหนึ่งไฮไลต์คือการขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลทหารเข็นมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

มี “กระทรวงคมนาคม” เป็นโต้โผหลัก เพราะกุมเม็ดเงินการลงทุนโปรเจ็กต์ระบบขนส่งครบทุกโหมด “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” มูลค่ารวมกว่า 2.8 ล้านล้านบาท

3 พรรคแบ่งเค้กคุมคมนาคม

ถึงจะมี “นายกฯและขุนพลเศรษฐกิจหน้าเดิม” แต่ผู้คุมกระทรวงเปลี่ยน มาจาก 3 พรรค 3 สไตล์ มี “ภูมิใจไทย” มี “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นหัวหน้าพรรค นั่งเป็นเบอร์หนึ่ง และมี “ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ” เป็นระนาบรอง ส่วนพรรคไหนจะตีตราจองโหมดไหน คงรู้กันเร็ว ๆ นี้

แต่ที่แน่ ๆ “ภูมิใจไทย” น่าจะมีกรมการขนส่งทางบกไว้ในมือ ลุย “แกร็บถูกกฎหมาย” ตามที่ได้หารอบเมกะโปรเจ็กต์เสียงไว้

แม้ตลอด 5 ปีของรัฐบาล คสช.จะโหมตีปี๊บการลงทุนสารพัดโปรเจ็กต์คมนาคมอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยปัญหาขั้นตอนต่าง ๆ ทำให้หลายโครงการล่าช้าจากแผน จนตกทอดมาถึงรัฐบาลชุดใหม่-รัฐมนตรีขั้วใหม่

จับตารื้อสัมปทาน-งบฯปี’63

น่าจับตางบประมาณ 2563 กว่า 4.2 แสนล้านบาท ที่สำนักงบประมาณกำลังพิจารณา อาจจะต้องถูกรื้อทั้งยวง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างและบูรณะถนนในพื้นที่ต่าง ๆ ของ 2 กรมถนน “กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท” ถึงมีกรอบวงเงิน แต่ยังไม่ลงรายละเอียดแต่ละพื้นที่ มีสิทธิ์ที่จะโยกสลับไปมาได้

รวมทั้งโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 31 โครงการ วงเงิน 57,597 ล้านบาท ที่ “ครม.บิ๊กตู่” ประทับตราไปแล้ว ก็มีสิทธิ์จะถูกรื้อเช่นกัน

ขณะที่บรรดาสัมปทานคาบเกี่ยวรัฐบาลเก่า-รัฐบาลใหม่ ทั้ง “ทางด่วน” และ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” หากเคลียร์ไม่จบก่อนจะหมดวาระรัฐบาลทหาร อาจจะมีสิทธิ์ถูกรื้อสูง

ไม่งั้นคงไม่มีข่าวปล่อยออกมาเขย่าขวัญ “บิ๊ก ช.การช่าง” ให้สะดุ้งตั้งแต่ไก่โห่ ก็ไม่รู้สัมปทานทางด่วนที่ขออนุมัติขยายสัญญาออกไปอีก 30 ปี ใน 3 โครงการ แลกกับการยุติข้อพิพาทมูลค่าเฉียด 6 หมื่นล้านบาท จะออกหัวหรือก้อย

อย่างไรก็ตาม เหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อมีคนใหม่เข้ามา ในส่วนของข้าราชการประจำจะต้องเตรียมข้อมูลไว้นำเสนอ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้สั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำข้อมูลภาพรวมความคืบหน้าการลงทุนโครงการในบัญชีไว้รอแล้ว

สั่งสแกนบิ๊กโปรเจ็กต์รอรับ

“ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมกะโปรเจ็กต์สำคัญที่ยังรออนุมัติก็จัดเตรียมไว้ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยในปี 2558-2565 หรือแผน 8 ปีตามเดิม ที่จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (action plan) แต่ทั้งนี้ จะต้องรอนโยบายจากรัฐมนตรีคนใหม่ก่อนว่า จะผลักดันโครงการใดเป็นพิเศษ

เมื่อเปิดโครงการตามแผนเร่งด่วน 2562 จำนวน 41 โครงการ มีรอคณะรัฐมนตรี 21 โครงการ รวมมูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท และอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคาหาตัวเอกชนร่วมลงทุนอีก 17 โครงการ รวมมูลค่า 386,119 ล้านบาท

เช็กสถานะล่าสุด “รถไฟทางคู่เฟส 2” อีก 6 เส้นทาง ระยะทาง 1,128 กม. วงเงิน 206,539 ล้านบาท รอเสนอ ครม. รถไฟความเร็วสูง 3 สายสำคัญที่ยังปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง

ได้แก่ ไทย-จีนเฟสแรก 253 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท อยู่ระหว่างประมูลร่วม 1 แสนล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย 350 กม. วงเงิน 276,000 ล้านบาท กำลังศึกษา, ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 210 กม. วงเงิน 100,125 ล้านบาท ศึกษาต่อขยายไปถึงสุราษฎร์ธานี และไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. เงินลงทุน 508,637 ล้านบาท กำลังเจรจาญี่ปุ่นร่วมลงทุนเฟสแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลก

ชงเคาะรถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์

รถไฟฟ้ามี 2 เส้นทางรอประมูล สายสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ 13.4 กม. จะเปิด PPP ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและเดินรถตลอดเส้นทางบางขุนนนท์-มีนบุรี กว่า 1 แสนล้านบาท และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท

โครงการถนนของกรมทางหลวง (ทล.) งานด่วนขอเงินค่าเวนคืน 8,000 ล้านบาท ปิดมหากาพย์มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ล่าสุดรอบรรจุวาระเข้า ครม.แล้ว เช่นเดียวกับสายนครปฐม-ชะอำ 109 กม. วงเงิน 79,006 ล้านบาท รอเสนอ ครม.อนุมัติเปิด PPP

สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 62.59 กม. วงเงิน 57,022 ล้านบาท และส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. วงเงิน 30,538 ล้านบาท รอผลศึกษารูปแบบ PPP

เปิดยื่นซองประมูลวันที่ 27 มิ.ย. งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง 2 มอเตอร์เวย์ใหม่สายบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี เงินลงทุน 61,086 ล้านบาท

เร่งถนนริเวียร่าบูม 55 เมืองรอง

ด้านกรมทางหลวงชนบท “อธิบดีกฤชเทพ สิมลี” กล่าวว่า งานด่วนมีเร่งก่อสร้างถนน 28 เส้นทางเชื่อมโครงการพระราชดำริในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และเชียงราย เดินหน้าโครงการไทยแลนด์ริเวียร่าระยะที่ 2 ชุมพร-สงขลา 500 กม. และถนนบูมการท่องเที่ยว 55 เมืองรอง กว่า 500 โครงการ วงเงินประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท

“งานอื่น ๆ เป็นไปตามแผนงบประมาณประจำปีและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในปี 2563 กรมยื่นเสนอของบฯกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าจะได้ใกล้เคียงกับปีนี้อยู่ที่กว่า 4.7 หมื่นล้านบาท”

ลุ้นเซ็นสร้างทางด่วน 3 หมื่นล้าน

ฝั่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มี 3 โครงการรออนุมัติและเซ็นสัญญา ได้แก่ ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก 18.7 กม. เงินลงทุน 31,244 ล้านบาท เปิดประมูลได้ผู้เสนอราคาต่ำสุดงานโยธาทั้ง 4 สัญญาไปแล้ว แต่ติดข้อร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติผู้ได้งาน จะเสนอคณะกรรมการ กทพ. เคาะวันที่ 27 มิ.ย.นี้ พร้อมกับร่างสัญญาทางด่วน 3 โครงการที่ขยายสัญญาให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ระยะเวลา 30 ปี

ยังมี 2 โครงการตั้งแท่นเสนอ ครม. คือ ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต 3.98 กม. เงินลงทุน 13,917 ล้านบาท รอบอร์ด PPP ไฟเขียว และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ระยะที่ 1 ช่วงแยกเกษตร-วงแหวนรอบนอก เงินลงทุน 17,000 ล้านบาท

ลงทุนสนามบินอีกหลายแห่ง

ด้านอากาศในส่วนของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หลังปิดดีลสัมปทานดิวตี้ฟรีและเชิงพาณิชย์ 4 สนามบิน สุวรรณภูมิ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ สำเร็จไปแล้ว

มีลุ้นโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ 35,377.19 ล้านบาท รอการพิจารณาจากสภาพัฒน์ รวมถึงรันเวย์ 3 วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท และขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตก 6,942 ล้านบาท

ด้าน “อัมพวัน วรรณโก” อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า เตรียมสรุปข้อมูลการพัฒนาและการดำเนินงานของกรมต่อรัฐมนตรีคนใหม่ มีความคืบหน้าการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินสนามบินเบตงจะเปิดปี 2563 กระบี่และขอนแก่น จะเปิดปี 2564 เร่งปรับปรุงและขยายอาคารสนามบินนครพนม สกลนคร บุรีรัมย์

“จะเซ็นสัญญาเดือน ก.ค.นี้ มีโครงการพัฒนาสนามบินนครศรีธรรมราช 1,800 ล้านบาท และตรัง 2,000 ล้านบาท จะเปิดปี 2565”

มีโครงการในอนาคตตามแผนการพัฒนา 5 ปี วงเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 ขอจัดสรรงบประมาณ มีโครงการใหม่ เช่น ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารสนามบินร้อยเอ็ด, ขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร ส่วนระหว่างประเทศ สนามบินสุราษฎร์ธานี, งานขยายลานจอดอากาศยาน ที่สนามบินสุราษฎร์ธานี และขอนแก่น และออกแบบอาคารผู้โดยสารสนามบินบุรีรัมย์

ยังมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการมีสนามบินแห่งใหม่ ที่บึงกาฬ มุกดาหาร สตูล และการศึกษาเอกชนร่วมลงทุน ที่สนามบินสำหรับ general aviation ที่นครปฐม

พร้อมกับยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย จากการปรับปรุงกายภาพสนามบิน อาทิ ก่อสร้างเขตปลอดภัยทางวิ่งตามมาตรฐาน ICAO จัดหารถดับเพลิง รถกู้ภัย ให้ครบและเป็นไปตามมาตรฐาน ร่วมกับการจัดหาเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และมาตรฐานอำนวยความสะดวกและบริการ ปรับปรุงร้านค้าเชิงพาณิชย์ภายในให้ทันสมัย และส่งเสริมชุมชนให้มีโอกาสเข้าถึงพื้นที่ เช่น แม่สอด และอุบลราชธานี จะทำเป็นโมเดลต้นแบบ

เป็นแค่บางส่วน ยังมีโครงการสร้างท่าเรือ จัดซื้อรถ บขส. และรถเมล์ของ ขสมก.ที่ตั้งแถวรอ 3 รัฐมนตรีกดปุ่มเดินหน้าอีกเพียบ