ปิดจ็อบ 12 ปี “สายสีแดง” รัฐถมเพิ่ม 1.3 หมื่นล้าน-อุดขาดทุน 5 ปี

เป็นรถไฟฟ้าอีก 1 สายทางที่คนกรุงเทพฯและปริมณฑลตั้งตารอกันมานาน สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิตของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ได้รับการอนุมัติจาก “ครม.-คณะรัฐมนตรี” ตั้งแต่ 22 พ.ค. 2550 จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 12 ปีแล้วที่รอวันเปิดหวูดใช้บริการ

ปลายปี’63 ทดลองเดินรถ

แม้ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. วงเงินก่อสร้าง 8,749 ล้านบาท จะสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2555 แต่การเปิดบริการต้องรอช่วงบางซื่อ-รังสิต พร้อมเปิดในเดือน ม.ค. 2564 ขณะนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมของบฯกว่า 140 ล้านบาท บูรณะโครงสร้างรอรับระบบรถไฟ ไม่ว่าตอม่อ สถานี ลิฟต์ บันไดเลื่อนที่ทรุดโทรม

หลังนำไปผูกไว้กับงานสัญญาที่ 3 ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่มีกิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd. บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) เป็นคู่สัญญา วงเงิน 32,399.99 ล้านบาท โดยรถขบวนแรกจะเดินทางจากญี่ปุ่นมาถึงประเทศไทยในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นปลายปีนี้ถึงปี 2563 จะนำขบวนรถมาทดสอบระบบ เนื่องจากจะต้องมีการทดสอบระบบเสมือนจริงอย่างน้อย 6 เดือนถึงจะเปิดให้บริการได้ คาดว่าจะเปิดทดลองเดินรถปลายปี 2563 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. 2564

ขอ ครม.เพิ่มงบฯ 9.6 พันล้าน

กว่าจะไปถึงวันนั้น ตอนนี้ ร.ฟ.ท.กำลังมึนกับค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นประมาณ 9,600 ล้านบาท ที่จะต้องขอขยายกรอบวงเงินกู้เพิ่มจาก ครม. ซึ่งสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สั่งให้กระทรวงคมนาคมรีวิวแต่ละรายการอีกรอบ

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. กล่าวว่า วงเงินที่ขอเพิ่มเป็นกรอบที่ตั้งไว้ แต่เมื่อถึงเวลาเบิกจริงอาจจะไม่ถึงก็ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายละเอียดที่ชัดเจน มีหลายสาเหตุ เช่น ปรับแบบสร้างรางเพิ่มจาก 3 ราง เป็น 4 ราง ผู้รับเหมาขอค่าชดเชยขยายเวลา ภาษีนำเข้ารถ เป็นต้น มากที่สุดเป็นงานสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุงของกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ยูนิคฯ) ที่ขอขยายเวลาก่อสร้างถึง ก.พ. 2563 เพราะมีงานเพิ่มโดยขอค่าชดเชย 4,600 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง และถนนเลียบทางรถไฟ ถนนทางข้ามทาง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้รับเหมาก่อสร้างขอขยายถึงเดือน ต.ค.นี้ เพราะติดสร้างสกายวอล์ก

และสัญญาที่ 3 ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ตามสัญญาจะเสร็จวันที่ 6 มิ.ย. 2563 เนื่องจากมีเรื่องภาษี ซึ่งที่ปรึกษาไม่คิดไว้แต่แรกเพราะคิดว่าไม่จำเป็น ขณะที่กฎขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ที่ปล่อยกู้ให้กับสายสีแดงไม่ให้นำเงินที่ให้กู้ไปจ่ายภาษี อยู่ระหว่างหารือกระทรวงการคลังจะนำเงินจากไหนมาจ่าย เช่น งบประมาณ หรือเงินกู้ประเทศ

“ก.ย.ต้องส่งให้คมนาคมและ ครม.พิจารณา หากได้รับอนุมัติเท่ากับโครงการของบฯเพิ่ม 5 ครั้ง เป็นทั้งโครงการจะใช้เงินก่อสร้าง 104,222 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 95,222 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

ศักดิ์สยามสั่งศึกษา PPP

ขณะที่งานก่อสร้างกำลังนับถอยหลังปิดจ็อบ ในส่วนของการเดินรถล่าสุด “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคนใหม่จากพรรคภูมิใจไทย ขายไอเดียให้ ร.ฟ.ท.ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างให้บริษัทลูกบริหารเองกับนำโครงการเปิดประมูล PPP ให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบไหนจะทำให้โครงการมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน และไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐ

“ให้เวลา 2 เดือนให้ ร.ฟ.ท.เร่งสรุปข้อเปรียบเทียบ ผมเกรงว่าสายสีแดงจะเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่รัฐต้องอุดหนุนโครงการมาตลอด ตอนนี้งบประมาณรัฐมีจำกัด หากให้เอกชนเข้ามาบริหารในรูปแบบ PPP โดยคำนวณการลงทุนจากส่วนที่รัฐได้ลงทุนไป เช่น ค่าก่อสร้าง ระบบรถไฟฟ้า ให้เอกชนเข้ามารับบริหารโครงการและแบ่งรายได้ให้รัฐ คิดค่าโดยสารที่เป็นธรรม ให้นำข้อมูล ตัวเลขแต่ละแนวทางมาเปรียบเทียบ”

เป็นแนวคิดใหม่ที่แทรกขึ้นมา แม้ว่าจะเตรียมวางผู้ที่จะมาบริหารจัดการโครงการไว้แล้ว โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัทลูก ร.ฟ.ท.บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้งระบบหลังโอนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้ ซี.พี.ที่ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินรับช่วงบริหารต่อ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงได้หารือการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถสายสีแดง เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนเสนอ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินเริ่มต้นโครงการในช่วง 5 ปีแรก วงเงิน 3,311 ล้านบาท

เปิดปีแรกคนนั่งไม่ถึง 8 หมื่น

ปีแรกที่เปิดบริการในปี 2564 จะขอให้ก่อน 980 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในส่วนของค่าอะไหล่และชดเชยการขาดทุน ซึ่งประเมินว่าในปีแรกที่เปิดให้บริการจะขาดทุน 300 ล้านบาท มาจากจำนวนผู้โดยสารใช้บริการไม่ถึงยอดที่ตั้งไว้ 80,000 เที่ยวคน/วัน และค่าจ้างพนักงานที่ต้องมีเพิ่มขึ้น 806 คนส่วนปีที่ 2-5 ยังไม่กำหนด

ด้านการหารายได้ นอกจากค่าโดยสารจะมีบริหารพื้นที่สถานีเชิงพาณิชย์ จะอนุมัติให้ดำเนินการได้ทุกสถานียกเว้นสถานีบางซื่อ และสถานีดอนเมือง เนื่องจากบางซื่ออยู่ในขอบข่ายการดูแลรวมของสถานีกลางบางซื่อ ส่วนดอนเมืองต้องไปกำหนดส่วนชานชาลาร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเพราะมีบางส่วนคาบเกี่ยวกันอยู่ นอกจากนี้ ยังให้อำนาจบริหารแบบอิสระและเป็นรูปแบบ net cost (จัดเก็บรายได้) ไม่รับจ้างเดินรถเหมือนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพื่อเกิดความคล่องตัวและเลี้ยงตัวเองได้

สายสีแดงกำไรปีที่ 16

เมื่อย้อนดูข้อมูลแผนการเงินและรายได้ของสายสีแดง พบว่าเงินทุนหมุนเวียนที่ขอ ครม. 3,311 ล้านบาท ส่วนหนึ่งนำมาจัดซื้ออะไหล่เริ่มต้น 2,164 ล้านบาท ที่เหลือเป็นกระแสเงินสดใช้ดำเนินงานทั้งก่อนและหลังเปิด เช่น การตลาด ประชาสัมพันธ์ จ้างพนักงานชั่วคราวในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านเร่งด่วน

ในระยะเวลา 30 ปี จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เป็นบวกในปีที่ 11 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิเป็นบวกในปีที่ 16 โดยปี 2564 เปิดบริการปีแรกจะมีรายได้จากการดำเนินงาน 1,019 ล้านบาท

ชง ครม.เห็นชอบ ก.ย.

ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คาดว่าในเดือน ก.ย.กระทรวงคมนาคมจะเสนอเรื่องการเพิ่มภารกิจบริษัทให้เดินรถสายสีแดงเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณา หากได้รับอนุมัติจะดำเนินการตามแผนทันที

กรอบวงเงิน 3,311 ล้านบาท ลดจากเดิม 3,400 ล้านบาท ตัดรายการที่ไม่จำเป็นบางส่วนออกไป มี ร.ฟ.ท.เป็นผู้ของบประมาณกับสำนักงบประมาณ ส่วนการชำระหนี้ ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้ชำระเงินต้น ส่วนบริษัทจะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ย

เปิดให้บริการปี 2564 จะได้รับ 938 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าอะไหล่และงานซ่อมบำรุง 600 ล้านบาท อีก 338 ล้านบาท จะใช้ในการทำให้กำไรจากการดำเนินกิจการ (EBITDA) ไม่ติดลบ ส่วนปีอื่น ๆ อีก 4 ปียังต้องรอพิจารณาหลังเปิดก่อน

“การบริหารกิจการจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เดินรถให้แอร์พอร์ตเรลลิงก์ ร.ฟ.ท.เป็นผู้จ้างเราเดินรถเหมือนสายสีม่วง อาจจะเรียกว่าเป็นแบบ gross cross ก็จะเปลี่ยนเป็น net cross แทน โดยเราเป็นผู้บริหารสายสีแดงเองทั้งระบบ แล้วจ่ายผลตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.กลับไปให้ แต่ยังอยู่ระหว่างตกลงกันจะคิดสูตรหารายได้ส่งให้ ร.ฟ.ท.อย่างไร”

สำหรับพนักงานที่ได้รับอนุมัติ 806 คน ถือว่าเพียงพอกับการเดินรถสายสีแดง ส่วนอัตรากำลังที่ขอไว้ 1,300 คนเผื่อช่วงเปลี่ยนถ่ายระบบจากแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ก็ให้จ้างพนักงานแบบชั่วคราว (outsource) ไปก่อน โดยจะจัดหาทั้ง 1,300 คนให้ได้ก่อนเดือน ส.ค. 2563 ที่คาดหมายว่าจะเริ่มทดสอบระบบสายสีแดง

ภาระหนักเดินรถ 2 ระบบ

หากการส่งมอบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ไม่เป็นตามนัด นายสุเทพระบุว่า ช่วงเปลี่ยนถ่ายระบบจากแอร์พอร์ตเรลลิงก์มาสายสีแดงมีความกังวลระยะเวลาต้องเดินรถทั้ง 2 ระบบ เพราะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่เซ็นสัญญากับ ซี.พี. จะทำให้ระยะเวลาเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์และสายสีแดงยาวขึ้นอย่างน้อย 9 เดือน

โดยคำนวณจากวันกำหนดเปิดใช้สายสีแดงในเดือน ม.ค. 2564 กับคาดคะเนว่าหากเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงได้ในเดือน ก.ย.นี้ กำหนดเวลาส่งมอบสิทธิการบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะอยู่ที่เดือน ก.ย. 2564 แต่ถ้ายังไม่มีวันเวลาที่แน่นอนคาดว่าอาจจะต้องเดินรถทั้ง 2 ระบบนานถึง 1 ปี