Beyond Experience เศรษฐา ทวีสิน แสนสิริสไตล์ “Work Hard และเรียนรู้จากความผิดพลาด”

เวทีสัมมนาใหญ่แห่งปี “Beyond Experience พลิกประสบการณ์ พลิกเกมธุรกิจ” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันอังคาร 3 กันยายน 2562 และเป็นอีกครั้งที่ผู้บริหารสูงสุด “เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) รับเชิญเสวนาปิดท้ายในช่วงฟินาเล่ โดยมี “หนุ่มเมืองจันทน์-สรกล อดุลย์ยานนท์” รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

“ประชาชาติธุรกิจ” ถ่ายทอดแบบคำต่อคำในช่วงทอล์กเสวนาภายใต้หัวข้อ “แสนสิริสไตล์” ครบทุกอรรถรสจากประสบการณ์พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับลักเซอรี่ 30 กว่าปีของ “เศรษฐา” ผู้บริหารที่บินดูงานต่างประเทศกับตรวจไซต์โครงการอยู่ตลอดเวลา

สรกล : แต่ละโปรเจ็กต์ที่แสนสิริมีวิธีคิดมีที่มาอย่างไร

เศรษฐา : เริ่มต้นจากทำอสังหาริมทรัพย์ราคาแพง เริ่มมา 30 ปีแล้ว การทำของแพงมันต้องไปดูและไปเห็นด้วยตัวเอง ดีไซเนอร์หรือที่ทำงานด้าน product development ต้องส่งไปดูงานเมืองนอก ไม่ว่าโรงแรมตั้งแต่ก้าวแรกต้องดูเลยว่าประตูเป็นอย่างไร พื้นที่รีเซปชั่นเป็นยังไง สุขภัณฑ์ใช้อะไร

วันนี้คุณประไพ (ทยานุวัฒน์) ของแกรนด์โฮมมาด้วยก็เป็นพยานได้ว่าเวลาผมไปเลือกไปดูหรือเลือกของ ผมทำยังไง อีก 2 สัปดาห์ต้องไปโบโลญญ่า มีงานกระเบื้องใหญ่จัดที่นั่น เราทำการบ้านมาดีว่าจะใช้กระเบื้องอะไรกับโครงการระดับไหนบ้าง ซึ่งต้องให้ความสำคัญอย่างมาก

ถ้าทำของแพง ต้องดูว่าลูกค้าในชีวิตประจำวันนอกจากเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว ต้องดูว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง ไม่ว่าเรื่องการแต่งกาย เขาช็อปปิ้งร้านอะไร ซื้อรองเท้าร้านอะไร ซื้อกระโปรงร้านอะไร ซึ่งคงหนีไม่พ้นร้านดัง เช่น ชาแนล, ดิออร์ แอร์แมส เป็นต้น ดังนั้น เวลาเราดีไซน์ต้องดูเรื่องรสนิยมแบบนี้ด้วย

สรกล : มันเกี่ยวพันยังไง

เศรษฐา : ดูง่าย ๆ ถ้าดูไปถึงวิธีแต่งร้านของแบรนด์เหล่านี้ ถ้าเป็น 10 ปีก่อนจะใช้ของราคาแพงในการตกแต่ง แต่ปัจจุบันเห็น shop ของวาเลนติโน่ แอร์แมส กระเบื้องเปลี่ยนจากหินอ่อนเป็นเทอร์ลาซโซ เพราะกระแสเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติ การระเบิดหินมาทำของตกแต่ง ผมเชื่อว่าลูกค้าแคร์เรื่องพวกนี้มาก

หรือเช่น เฟอร์นิเจอร์แบบลักเซอรี่ที่ใช้พวก exotic skin เช่น หนังจระเข้ หนังตะกวด จะได้รับความนิยมต่อไปหรือเปล่า อย่างชาแนลเขาเลิกขายกระเป๋าหนังจระเข้ไปตั้งแต่ 30 พ.ค. 62 ที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือเขาก็จะเอาไปทิ้ง

ผมเชื่อว่านี่เป็นการเซตเทรนด์บางอย่าง ซึ่งเราต้องทราบเพราะแสนสิริมีลูกค้าหลายระดับ มีทั้ง old luxury กับ new luxury ต้องบาลานซ์ให้ดีและต้องรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไรบ้าง

สรกล : คุณเศรษฐาเริ่มต้นจากรสนิยมตัวเองหรือรสนิยมของผู้บริโภค

เศรษฐา : เรื่องนี้เริ่มต้นที่ตัวเองไม่ได้เพราะเราไม่ได้สร้างบ้านให้ตัวเอง เราสร้างบ้านให้ผู้บริโภค ยกตัวอย่างกระเป๋าหลุยส์ที่เดิมมีแค่ตัวอักษรและมีสีน้ำตาล แต่ปัจจุบันมีรูปงู ยีราฟ มาติด ซึ่งเรามองว่ามันไม่สวย แต่พบว่ามันขายได้แถมราคาแพงด้วย

แสนสิริ 30 ปีที่ผ่านมา เราเอาความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก วันนี้เราก็ยังเอาความต้องการของลูกค้าเป็นหลักเหมือนเดิม แต่เราสามารถใส่ความเป็นรสนิยมของแสนสิริลงไปชี้นำได้ในจุดหนึ่ง อาจไม่ถึงขนาดแบบหลุยส์ วิตตอง แต่ความแข็งแกร่งของแบรนด์เรามี

สรกล : เคยได้ยินว่า ตอนมาแรก ๆ จูนกับลูกค้าไม่ได้ จึงต้องส่งลูกน้องไปอังกฤษพักหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจ หรือการดูงาน จะต้องคุยกับทีมงานว่า อะไรที่ทำให้โรงแรมดี กลิ่น ที่พัก

เศรษฐา : หน้าที่ของผมคือการบริหาร 4 เสาหลักของบริษัท ได้แก่ ลูกค้า พนักงาน สังคม และผู้ถือหุ้น ถ้าเป็นผู้ถือหุ้นแล้วได้ยินว่าส่งพนักงานไปอังกฤษ ผู้ถือหุ้นก็อาจจะค้อนนิดหน่อยว่าให้พนักงานไปเยอะไปหรือเปล่า

ผมต้องบาลานซ์ความต้องการของทุกฝ่าย ผู้ถือหุ้นก็ต้องการกำไร ลูกน้องก็ต้องมีโบนัสหรือผลตอบแทนที่ดี ลูกค้าเป็นหัวใจของการทำธุรกิ ก็ต้องได้ของที่ดี การส่งพนักงานไปดูของต่างประเทศ ก็เพื่อให้เขาซึมทราบความเจริญของตะวันตกที่เขามีมาก่อน จึงเป็นความลำบากใจของผู้บริหารองค์กรที่ต้องบาลานซ์ 4 เสานี้

เป็นอะไรที่บริษัทมหาชนหลาย ๆ บริษัท ควรคำนึงถึง ไม่ใช่แค่ผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น

สรกล : ออกแบบประสบการณ์ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อยังไง

เศรษฐา : เริ่มจากลูกค้าก่อนว่า มี target แบบไหน 3 ล้าน 30 ล้าน 300 ล้าน จุดหมาย รายละเอียดก็ต่างออกไป แต่ไม่ว่าจะมาด้วย 3 ล้าน หรือ 30 ล้าน ล้วนต้องคาดหวังกับสินค้าและการให้บริการของผู้ประกอบการต้องเหมาะสม

หลายอย่างอธิบายให้ฟังตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าไปในโครงการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกายของเซลส์ หรือการเสิร์ฟ ซึ่งลูกค้าเริ่มใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเสิร์ฟน้ำด้วยภาชนะพลาสติกอาจโดนมองไม่ดีได้ เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นเสาอันหนึ่งของสังคมที่เราต้องคิดถึงเหมือนกัน

มันไม่ง่ายที่จะต้องทำ แต่ท้าทายและต้องบาลานซ์อีกเช่นกัน เพราะถ้าทำตรงนี้มากไป ผู้ถือหุ้นก็ค้อนอีกหาว่าทำเพื่อลูกค้ามากไป

สรกล : การเล่าเรื่องสำคัญไหม ที่มาของความคิดการออกแบบเป็นอย่างไร

เศรษฐา : เป็นแค่ส่วนหนึ่งและหลายบริษัทให้ความสำคัญมากไป ในโซเชียลมีเดียมีเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว มันต้องการรายละเอียดที่มากกว่านั้น บังเอิญการซื้อบ้านเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิต เพราะใช้เงินก้อนใหญ่มาก เราต้อง make sure ว่าไม่ใช่พอขายให้ได้แล้วก็ทิ้ง after sale service สำคัญมาก

วันนี้หลายท่านไม่ต้องสร้างภาพหรอก ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไม่ดีแน่นอน การเปิดตัวของหลายบริษัทก็ถดถอยไป

เราก็กลับมาถามตัวเองว่า มีพนักงาน มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง เราได้ทำประโยชน์อะไรให้ลูกค้าที่เรามีบ้าง ลูกค้าที่ซื้อไปแล้ว ลูกค้าที่จะซื้อเพื่อจุดประสงค์เรื่องเช่าต่อ ขายต่อ อยู่เอง ที่อยากให้มีบริการเสริมต่าง ๆ เยอะ ๆ เช่น drone service เป็นอะไรที่เราต้องลงทุนและกลับมาดูแลเขาต่อ

เราขายบ้านได้ ไม่ใช่เพราะเราประมูลที่ดิน แต่มาจากปากต่อปากมากกว่า เพราะฉะนั้น ผมมองว่าของเหล่านี้ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา เพราะสภาพเศรษฐกิจมีขึ้นต้องมีลง

ซึ่งในการทดลองโดรนต้องคิดถึงการใช้งานของเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วย เทคโนโลยีเป็นอะไรที่เท่ เก๋ และนำมาซึ่งความสะดวก แต่ในเชิงสังคมไม่แน่ใจ เช่น พอบอกว่าจะทดลองเรื่องโดรน ในทวิตเตอร์บอกแล้วว่า ดี เท่ เก๋ แต่อยากให้ดูเรื่องความเป็นส่วนตัวของลูกบ้านด้วยนะ บางบ้านไม่อยากให้มีอะไรบินผ่านแล้วรบกวน ถ้าส่งสินค้าลงไปเอาเองก็ได้

หรือการทดลองรถยนต์ไร้คนขับ ในแง่ของแบรนด์มันดูดี เรามีนวัตกรรม ทันสมัย แต่เรื่องความปลอดภัยทำยังไง เกิดชนอะไรไปใครรับผิดชอบ มันทดลองได้

แต่เทคโนโลยีจะมาได้ รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต้องมีบทบาท อย่างเช่น เรื่อง AirBNB ในประเทศเรามีและได้รับการยอมรับแล้ว แต่ต่างประเทศมีกฎเกณฑ์รองรับเรื่องนี้แล้วแต่มีความแตกต่างกัน บริษัทที่แสนสิริเข้าไปลงทุน AirBNB ชื่อโฮสต์เมกเกอร์ (hostmaker) ดูแลให้บริการเรื่องห้องเช่าผ่าน AirBNB ซึ่งเราพยายามเข้าไปทำเพื่อมีมาตรฐานในเรื่องนี้ชัดเจน

แน่นอน มีการถกเถียงกันเยอะว่าเหมาะสมไหม เข้าข่ายปล่อยเช่ารายวันหรือเปล่า หรือเรื่องการเอาห้องมาปล่อยเช่า 2-3 วัน ลูกบ้านคนอื่นอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะออกกฎชัดเจน

คือต้องหามาตรฐานให้ได้ เราหยุดนิ่งไม่ได้หรอกครับ

สรกล : แสนสิริลงทุนหลายอย่างมากช่วงหลังนี้ ทั้งโรงแรม นิตยสาร

เศรษฐา : เป็นเรื่องธรรมดา โลกเปลี่ยนไปเยอะ จะยึดติดกับของเดิม ๆ ไม่ได้ แต่หลาย ๆ อย่างมันมีความเสี่ยงเพราะยังเป็นเรื่องใหม่ ถ้าไม่ลงทุนเลยก็ไม่ได้ แต่เมื่อลงทุนแล้วความเสี่ยงก็สูง อย่างโฮสต์เมกเกอร์ต้องเพิ่มทุนเข้าไปเพราะเขาก็ต้องการขยาย และเป็นทางที่เราจับตาดูอยู่

ธุรกิจ coworking space เราก็มี Justco ตอนนี้ก็อยากหาวิธีทำงานใหม่ ๆ และคล่องตัวสูง หรือนิตยสาร Monocle ที่เข้าไปถือหุ้นเอง เป็นนิตยสารที่เน้นการสัมมนาและบุกเบิกไปตามเมืองต่าง ๆ ทำให้ได้ความรู้

โรงแรมก็เหมือนกัน เราลงทุนในโรงแรม Standard ถือหุ้นประมาณ 10% ถือว่าเป็นโรงแรมที่นำเรื่องไลฟ์สไตล์และมีมาตรฐาน โรงแรมดี ๆ ใหญ่ ๆ

หลัง ๆ มีมิชลินสตาร์มา เชยมาก ล้าสมัยแล้ว ที่เขามาไทยเพราะเขาต้องมาหาตลาดในนี้ เป็นไปได้ยังไง ให้คนสองคนมาชิมอาหารแล้วให้ดาว ผมว่าแอปวงในที่เรามีดีกว่า หรือ trip adviser ที่อาศัยสถิติมาเป็นตัววัดจะดีกว่า

สรกล : พฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เป็นยังไง

เศรษฐา : คำว่าคนรุ่นใหม่ใช้กันเฝือมาก ไม่มีใครอยากเป็นคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่คือคนที่ไม่ยึดติดกับของเก่า ๆ คนที่ต้องการหาสิ่งใหม่ ๆ และแตกต่าง เช่น คุณไปยิม ยิมที่ไปเหมือนกับที่อื่นหรือเปล่า มี interactive หรือเปล่า มีการขี่จักรยานอะไรหรือเปล่า หรือมี coworking space หรือเปล่า

สรกล : เห็นว่ามีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป เช่น คอนโดมิเนียมชั้นล่างสุดหรือห้องรับพัสดุจะเล็ก ๆ ตอนนี้กระแสคนซื้อของออนไลน์มากขึ้น ห้องที่ว่าต้องใหญ่ขึ้น อันนี้คือความเปลี่ยนแปลง

เศรษฐา : จริงครับ ตอนนี้คนซื้อของออนไลน์เยอะ ถ้าสร้างคอนโดฯ แล้วสร้างห้องข้างล่างไว้ไม่พอ จะเกิด iogistics problem ทันที ไหนจะของที่มา เราเองก็ต้องมีคนไปส่ง

เราจึงให้การใช้หุ่นยนต์ไปส่ง ใช้งานได้จริงและได้รับการยอมรับ ไม่ได้มีแค่เก๋เท่ เช่น คุณสั่งพิซซ่า หุ่นยนต์ของเราก็เอาขึ้นไปส่งให้ได้เลย แต่ยังมีข้อจำกัดถ้าสั่งถาดใหญ่ก็อาจจะใส่ในหุ่นไม่ได้ แต่มีการพัฒนาปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง เราทำมาปีกว่าแล้ว

สรกล : เรื่องให้ปลูกผักในคอนโดฯ

เศรษฐา : ต้องให้เครดิตทีมงานที่บริหารจัดการ เรามีบริษัทชื่อ  “พลัส พร็อพเพอร์ตี้” บริหารจัดการคอนโดฯ 200 กว่าแห่ง พบว่า บนดาดฟ้ามีที่ว่างก็เอามาปลูกผัก แชริ่งกัน ปลูกด้วยกัน เก็บเกี่ยวด้วยกัน ตอนนี้ขยายไปทุกโครงการ เชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดการแชริ่งกันระหว่างลูกบ้าน ทำให้มี hapiness image ขึ้นมาหน่อยในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

สรกล : เป็นคนทำงานที่ลงรายละเอียดมากนะครับ

เศรษฐา : ผมจะ 60 ปีแล้ว ทำอะไรก็อยากทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ถ้าทำสิ่งที่ชอบจะลงรายละเอียดเยอะ ถ้าทำสิ่งที่ไม่ชอบก็มีพนักงานที่จะต้องทำ…

สรกล : แต่คุณก็ยังตรวจไซต์งานทุกเสาร์-อาทิตย์

เศรษฐา : อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมชอบแต่เป็นหน้าที่ เหมือนมานั่งพูดวันนี้ก็เป็นหน้าที่ (หัวเราะ) ถ้าไม่ไปแล้วใครจะตรวจ และผมจะไปสั่งงานได้ยังไง

สรกล : ในความเป็นซีอีโอไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น แล้วในความเป็นซีอีโอต้องทำอะไร

เศรษฐา : เดี๋ยวคุณอภิชาติ (จูตระกูล) จะโกรธเอา เพราะเขาเป็นซีอีโอ ส่วนผมเป็น president ถ้าไม่ทำแล้วใครจะทำ

สรกล : ก็ง่ายดีนะครับให้ลูกน้องทำ

เศรษฐา : ก็ง่ายแต่มันไม่ effective…แล้วจะรู้ได้ไงว่าทำไม่ทัน

สรกล : ทราบว่าตรวจงานละเอียดถึงขนาดกำหนดว่าหญ้าตรงสำนักงานขายควรตัดวันไหน

เศรษฐา : มันเป็น commom sense ครับ จะเปิดตัวโครงการวันเสาร์ ควรตัดหญ้าตั้งแต่วันจันทร์ เพื่อให้หญ้าโตและฟูเขียว ถ้าวันศุกร์หญ้ามันจะเหลือง รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ เชื่อว่าเป็นความแตกต่างของแสนสิริที่เราเหนือกว่าคนอื่น

แต่คงไม่ใช่แล้วล่ะ เพราะไปเวทีไหนก็ถามเรื่องนี้ตลอด ก็คงโดนก๊อบปี้แล้ว แต่ไม่แปลกเพราะก็มีการก๊อบปี้หลายครั้งแล้ว

สรกล : ไปตรวจงานบอกล่วงหน้าไหม

เศรษฐา : ไม่บอกครับ รถผมยังไม่ติดตราแสนสิริเลย ไปตรวจจะได้รู้ ผมไปเสาร์-อาทิตย์ตรวจทั้งเก่าและใหม่ อย่างโครงการเก่าถ้ายังบริหารอยู่ อยากดูว่าวัสดุที่เลือกไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้วเมื่อผ่านการใช้งานแล้วมันมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง จะได้ไม่เอามาใช้อีก

เช่น หินสีดำที่ใช้กับสระน้ำ มันมีคราบสีขาวเมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็จะโน้ตแล้วบอกว่าอย่าไปใช้อีกเลย หรือสระว่ายน้ำที่เป็นไม้มักจะชอบเอาสีมาทา ถ้าใช้ไม้ธรรมชาติมันเก่าและสวยแบบธรรมชาติ แต่พอเอาสีไปทามันจะลอกออกมาเหมือนหนังลอก ซึ่งไม่สวย ก็ต้องไปบอกเขา

คืองานอสังหาฯ เป็นงานกรรมกร แต่แปลกใจว่าลูกท่านหลานเธออยากทำเหลือเกิน บางคนทำเทเลคอมมา ทำเครื่องเพชรมา ทุกคนอยากทำอสังหาฯหมด ผมไม่ค่อยเข้าใจ

ผมจะบอกว่าอย่ามาเลย เพราะคุณสู้ผมไม่ได้หรอก (เสียงฮือฮา) เพราะว่าบ้านคุณทำเรื่องเพชรอยู่ พ่อแม่คุณก็ให้ดูเครื่องเพชรครึ่งวัน อีกครึ่งวันดูอสังหาฯ

แต่ผมดูอสังหาฯตลอดแบบ 24/7 (24 ชั่วโมง 7 วัน) ผมคิดแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว โฟกัสเรื่องเดียว แต่ถ้าเก่งจริงแล้วทำแบบผมได้ผมชอบนะ เพราะถือว่าผมมีคู่แข่ง คุณจะเก่งขึ้นได้เมื่อมีคู่แขง ถ้าไม่มีคู่แข่งก็ไม่พัฒนา เมื่อไม่พัฒนา ผู้บริโภคก็ไม่ได้สิ่งที่ควรจะได้

สรกล : คิดยังไงกับแบรนด์ของโปรดักต์ ประสบการณ์ของลูกค้า

เศรษฐา : คำว่าแบรนด์คนใช้เยอะและหาคำจำกัดความลำบาก แบรนด์คือความพอใจของลูกค้าที่ลูกค้าอยากมีส่วนร่วม ว่าเขาเป็นสาวกของแบรนด์นี้ คุณซื้อโปรดักต์กับบริการอย่างที่อยู่อาศัยไม่ใช่ปูน อิฐ หลังคา แต่มีบริการด้วย ก็ต้องปกป้องไว้ให้ได้ โดย 2 ตัวหลักเนี่ยเราหยิบยื่นให้ลูกค้าได้หรือเปล่า

ถ้าทำไม่ได้แบรนด์มีปัญหา เช่น บริการ คุณทำโครงการเสร็จมี after service ให้เขาหรือเปล่า เพราะฉะนั้นแบรนด์คือการนำโปรดักต์กับเซอร์วิสให้เขา

สรกล : คุณเคยบอกว่าเกลียดอาชีพนี้ เพราะมันเหนื่อย

เศรษฐา : เราก็ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร ก็เอาอันนี้ดีแล้ว แก่แล้ว ตอนจบใหม่ ๆ อายุ 30 ปีแข่งกันอวดนาฬิกา รถ…ว่ากันไป แต่สมัยนี้เขาไม่อวดของแบบนั้นกันแล้ว เขาอวดที่อยู่อาศัย คุณอยู่ที่ไหน ที่อยู่เป็นยังไง ใครเป็นดีเวลอปเปอร์ ผมสอนโครงการ Next Real ก็เจอคนอยากทำอสังหาฯ ซึ่งผมไม่เข้าใจ แต่ผมว่ามันมีเสน่ห์ของมัน

สรกล : เสน่ห์ของอสังหาฯ คือกำไรเยอะ

เศรษฐา : คุณทำกำไรดี แล้วอีก 3 เสาที่ผมว่าไว้ เขาว่าไงล่ะ ลูกค้า พนักงาน กำไรดีแสดงว่าโบนัสพนักงานไม่ดี ที่อยู่ให้ลูกค้าก็ไม่ดี เร่งก่อสร้างเร็วเกินไปหรือเปล่า สร้างเร็วส่งมอบเร็วเพื่อนบ้านเดือดร้อนหรือเปล่า คุณคำนึงถึง 3 เสานี้หรือเปล่า

ทุกวันนี้ผมกินไม่ได้นอนหลับไม่ค่อยมีความสุข เพราะบริหาร 4 เสานี้ไม่ลงตัวสักที ถ้าจะรีไทร์ก็เพราะเหตุผลนี้

สรกล : เดินทางบ่อย เห็นอะไรในต่างประเทศบ้าง

เศรษฐา : ที่ไปเพราะไปดูโรงแรม Standard มากกว่า ลงทุนไปอีก 5 โรงแรม ตอนนี้มี 17 โรงแรมแล้วจากเมืองต่าง ๆ ริชมอนด์ ปารีส มิลาน แม็กซิโกซิตี เป็นต้น

เทรนด์ที่กำลังมาต้องแบ่งเป็น old กับ new luxury ซึ่ง old luxury ไม่ใช่หัวโบราณ แต่เขามีรสนิยมแบบหนึ่ง ชอบของที่หรูหรา เช่น หินอ่อนต้องอิตาลี แบรนด์เนมต้องแพง มีที่มาที่ไปให้คนยอมรับ ปัจจุบันแสนสิริก็มีโครงการจับลูกค้าประเภทนี้

แต่มีคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดกับของลักเซอรี่แบบนี้ เช่น ต้องการห้องน้ำที่มี ice cold shower เป็นต้น ก็เป็นความแตกต่างของลูกค้าที่เราต้องเทกแคร์และพยายามตอบสนอง

สรกล : แฟชั่นตอนหลังไปแอฟริกา-เอเชีย

เศรษฐา : ไม่เชิงครับ แต่ว่าเป็นในลักษณะทั่วโลกว่าง งานน้อย ประเทศเจริญแล้วต้องการแรงงานสูงมาก เกิดการไหลของแรงงานจากอินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า แอฟริกา ไปอยู่ในประเทศเหล่านั้นเยอะ

ได้ไปฟังงานที่กรุงลิสบอนมา เขาบอกว่าอีก 20 ปี ประชากรโลก 75% มีเชื้อสายเอเชียหรือแอฟริกาจากการโยกย้ายถิ่นฐาน และหากไปดูแบรนด์เนมต่าง ๆ จะพบว่าสีสันที่เขาใช้ สมัยก่อนเป็นสีเรียบ ๆ เช่น น้ำตาล ขาวดำ สีเนื้อ แต่ไปดูกุชชี่หรือโคเซ่คาบาน่าตอนนี้ มีสีเขียว เหลือง แสด แดง ม่วง เป็นสีที่คนอเชียและแอฟริกาใช้เยอะ

เป็นการเปลี่ยนแปลงช้าแต่ต้องคิด ซึ่งเราต้องมอนิเตอร์ต่อไป แต่ต้องทำใจเพราะถ้าทำก่อนถูกก๊อบปี้ก่อน ก็ต้องหาทางหนีฉีกออกไปอีก

สรกล : เป็นนักธุรกิจเงินเยอะ ทำไมไม่ซื้อสโมสรฟุตบอล

เศรษฐา : นักกินไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของร้านอาหาร เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลก็ได้ดูแค่ทีมเดียว เคยถามเจ้าของทีมฟุตบอล เวลาเขาดูการแข่งขันไม่ค่อยมีความสุข จะหาว่าทุกคนโกงทีมตัวเองหมด

ผมว่าคนเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลต้อง genius หรือไม่ก็โง่ กับต้องรวย genius ก็เช่นคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา โง่มีเยอะแยะ ผมไม่รวยและไม่โง่ นอกจากนี้ ผมไม่ genius จึงไม่เหมาะกับการมีทีมฟุตบอล

สรกล : เราจะเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำยังไง

เศรษฐา : คนเราเกิดมาพ่อแม่ให้สมองคุณมา แต่คุณต้องมีวินัยและ work hard ผมว่าเด็กสมัยใหม่ไม่มี 2 อย่างหลัง สมองมี แต่วินัยกับ work hard ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ คุณจะตามเทรนด์ให้ได้ keep up กับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ผมว่าคุณต้องมีวินัยและ work hard

คนรุ่นเก่าอย่างผมเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้ เรื่องวินัยหรือ work hard เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรมา replace ได้ การไปตรวจไซต์งานวันเสาร์-อาทิตย์ของผมคืออะไร คือ work hard ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการไปต่างประเทศเลย

เด็กสมัยนี้มีฝันอยากด็อกเตอร์ชั้นดี startup ทำนวัตกรรมต่าง ๆ แต่ผมบอกนะว่าทำยังไงจะประสบความสำเร็จได้ คุณต้องตื่นแล้วไปทำงานตอนเช้า คุณไม่ต้องฟังผมตรงนี้หรอก ตื่นแล้วไปทำงานเถอะ ทำเอง ผิดถูกทำไปเถอะ ลงมือทำ เรียนรู้จากความผิดพลาด

สรกล : คุณเศรษฐาพลาดบ่อยไหม

เศรษฐา : 49 จาก 100 ที่ผมพลาด กล้าทำกล้าชกหน่อย ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เคยสอนผมว่าลูกคุณเรียนหนังสือเก่ง ๆ กลับมา อย่าให้ชกลม ให้ขึ้นชกจริงไปเลย ให้เจ็บให้น็อกบ้าง

คุณอยากเป็นเจ้าของ startup คุณก็ต้องลงไปทำงานจริง ๆ ลงทุนเอาเงินตัวเองลงจริง ๆ จะได้เจ็บจะได้เจ๊งจะได้จำ คุณจะรู้รายละเอียดเป็นธรรมดา