35 องค์กรวอน “บิ๊กตู่” เบรก “ทางเลียบเจ้าพระยา” ชี้ทำลายประวัติศาสตร์

35 องค์กรในนาม “สมัชชาแม่น้ำ” แถลงการณ์ถึง “บิ๊กตู่” เบรกโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ของ กทม. ซัดศึกษาไม่รอบคอบ หวั่นทำลายประวัติศาสตร์ – ทำแม่น้ำแคบลง 20 เมตร – เสี่ยงน้ำท่วม “สมาคมผังเมือง” ร่วมด้วยเกรงเป็นแหล่งมั่วสุม แนะใช้พื้นที่รัฐนำร่องได้

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรม​แห่ง​กรุงเทพ​มหานคร​ (BACC) นายอัชชพล ดุสิตานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ในฐานะตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร เป็นตัวแทนกล่าวแถลงการณ์คัดค้านการเดินหน้าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

โดยนายอัชชพลกล่าวว่า ทางสมัชชาเห็นว่า การเร่งรัดผลักดันโครงการดังกล่าวของ กทม.จะสร้าความเสียหายแก่บ้านเมือง จึงขอแถลงจุดยืนคัดค้าน 5 ข้อ

@ฝั่งแม่น้ำแคบลง 20 เมตร ศึกษาไม่รอบคอบ

1. ทางสมัชชาเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างทางสัญจรที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา

2. ที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้ใช้อำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ในการจัดการปัญหารุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเลย แต่เลือกทำทางเลียบในลักษณะคอนกรีตขนาดใหญ่รุกล้ำแม่น้ำเสียเอง ซึ่งจะทำให้พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแคบลงร่วม 20 เมตร

3. การทำทางเลียบล้ำลงไปในแม่น้ำ จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ ทำให้การอนุรักษ์ เพื่อยกระดับเป็นมรดกโลกในอนาคต เป็นไปได้ยาก

4. การทำทางเลียบอ่อนไหวในกรณีเกิดเหตุอุทกภัย แม้ในภาวะปกติ การไหลของน้ำจะเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่จะส่งผลต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเซาะชายฝั่ง และการตกตะกอนในลำน้ำ รวมถึงการกักก็บขยะมูลฝอย ซึ่ง กทม.ควรศึกษาผลกระทบให้รอบคอบก่อน

และ 5. จากการที่ กทม.ตัดพื้นที่บางส่วนจากเดิม 14 กม. คงเหลือ 12.45 กม. เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสิทร์นั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังมีการศึกษาไม่รอบคอบ และไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ดังนั้น สมัชชาแม่น้ำรวม 35 องค์กร จึงเรียนไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งยุติโครงการ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง และขอออกตัวว่า การคัดค้านครั้งนี้ไม่ได้แสดงตัวเพื่อเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลหรือ กทม. แต่คัดค้านเพราะอยากเห็นสิ่งที่ดีที่สุดส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

@โต้แย้งข้อมูลกลาง ม.ค.ปีหน้า

ส่วนการยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยุติโครงการนี้ อยู่ระหว่างการทำข้อมูลโต้แย้งข้อมูลฝ่ายจำเลย ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) กทม. และคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย โดยจะยื่นข้อมูลต่อศาลภายในเดือน ม.ค. 2563 นี้

@แนะใช้พื้นที่รัฐทำได้

ด้าน รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย กล่าวว่า ขอคัดค้านโครงการดังกล่าวด้วย 6 เหตผลด้วยกัน

1. รูปแบบทางเดินทางจักรยาน ที่อยู่สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.25 เมตร และต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในปัจจุบันประมาณ 1.00 เมตร จะทำลายความเป็นชุมชนและความเป็นส่วนตัวของบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา

2. ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าถึงพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดแนวแม่น้ำ สามารถเลือกเฉพาะพื้นที่บางส่วนที่มีศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ของรัฐเป็นจำนวนมากที่สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อยใจสาธารณะริมน้ำขนาดเล็ก หรือ Pocket Parkได้ พื้นทีีที่เหมาะสม เช่น ที่ทำการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด หรือ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด เป็นต้น

3. โครงการดังกล่าว ไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานในช่วงเวลากลางคืน จะกลายเป็นพื้นที่มั่วสุมหรือทำกิจกรรมอันไม่พึงประสงค์ของสังคม นำมาซึ่งงบประมาณในการบำรุงรักษาเป็นจำนวนมาก

4. จะทำให้ลดความสามารถในการป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยต่อชุมชนริมน้ำ เช่น การลำเลียงผู้ป่วยในกรณีฉุกฌเฉิน เดิมสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้โดยตรง ก็จะต้องข้ามบริเวณทางเลียบก่อนที่จะไปถึงพื้นที่เกิดเหตุ เป็นต้น

5. ภาพจำของพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยถูกเปลี่ยนแปลงไป

และ 6. ไม่เชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ และไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทอื่น ๆ แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ที่คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ในปี 2563 มิได้แนวเส้นทางเดินทางจักรยานดังกล่าวไว้ในร่างผังเมืองรวม