พ.ค.วิ่งฟรีมอเตอร์เวย์พัทยา-อู่ตะเภา เชื่อมนิคมมาบตาพุด-ผุดถนนใหม่รับEECหมื่นล้าน

มอเตอร์เวย์สายใหม่ - หลังกรมทางหลวงเร่งเครื่องมอเตอร์เวย์ "พัทยา-มาบตาพุด" จนแล้วเสร็จ เตรียมจะเปิดทดลองใช้ฟรีในเดือน พ.ค.นี้ ก่อนเก็บค่าผ่านทาง 130 บาทในเดือน ส.ค. อนาคตมีแผนจะขยายจากอู่ตะเภาเข้าไปในนิคมมาบตาพุด หนุนการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวภาคตะวันออก

ดีเดย์ พ.ค.นี้ กรมทางหลวงเปิดทดลองใช้ฟรีมอเตอร์เวย์ “พัทยา-มาบตาพุด” เริ่มเก็บค่าผ่านทาง ส.ค. วิ่งจาก กทม.ยาวถึงด่านอู่ตะเภา จ่าย 130 บาท อัดงบฯปี’63 อีก 1 หมื่นล้าน เพิ่มโครงข่ายถนน 8 โครงการ เชื่อมคมนาคมขนส่ง การค้า การท่องเที่ยว ชายทะเลภาคตะวันออก หนุนเขตพัฒนาพิเศษอีอีซี อนาคตจ่อขยายเส้นทางจากอู่ตะเภาเข้านิคมมาบตาพุด

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน พ.ค. 2563 กรมจะเปิดทดลองวิ่งมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด (ด่านอู่ตะเภา) จากนั้นในเดือน ส.ค.จะเปิดเต็มระบบ และเก็บค่าผ่านทางครบทั้ง 3 ด่าน ได้แก่ ด่านห้วยใหญ่ ด่านเขาชีโอน และด่านอู่ตะเภา หากใช้บริการตั้งแต่กรุงเทพฯมายังปลายทางที่อู่ตะเภา เสียค่าผ่านทางอยู่ที่ 130 บาท โดยด่านสุดท้าย คือ ด่านอู่ตะเภา ถ้าเลี้ยวซ้ายก็ไปมาบตาพุด ถ้าเลี้ยวขวาก็ไปสนามบินอู่ตะเภา

“ความก้าวหน้าของโครงการยังเป็นไปตามแผน งานโยธาคืบหน้ากว่า 99% สัญญางานระบบคืบหน้าแล้ว 48% จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 2563 จากนั้นจะทำการทดสอบระบบ ก่อนเปิดเต็มรูปแบบในเดือน ส.ค.นี้”

นายสราวุธกล่าวอีกว่า มอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุดมีระยะทาง 32 กม. ใช้เงินเวนคืนและก่อสร้าง 20,200 ล้านบาท โดยกรมจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ทั้งจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษาโครงการ เนื่องจากใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มาก่อสร้าง

เมื่อเปิดบริการจะเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่ง ระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกได้อย่างสมบูรณ์ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวชายทะเลภาคตะวันออก

เนื่องจากแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคตะวันออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน

สำหรับแนวเส้นทางเป็นเส้นทางตัดใหม่พาดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด มีจุดเริ่มต้นที่ กม.2+300 เชื่อมกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ผ่าน อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี สิ้นสุดที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง บริเวณ กม.34+400 และในอนาคตจะมีสร้างทางไปเชื่อมกับพื้นที่นิคมมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 16 กม. อยู่ระหว่างออกแบบก่อสร้าง และเคลียร์พื้นที่โครงการ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องของพื้นที่จะใช้ก่อสร้าง

นายสราวุธกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมยังมีแผนงานโครงการพัฒนาโครงข่ายใหม่รองรับเขตพัฒนาพิเศษพื้นที่อีอีซีใน 3 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 63 โครงการ ระยะทางรวม 746 กม. ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 18.5% อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 51.5% ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 12% และรอรับการจัดสรรงบประมาณอีก 18% หรือ 29,750 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับงบประมาณครบทุกโครงการภายในปี 2566

สำหรับโครงการในปี 2563 ที่กรมได้รับจัดสรรงบประมาณ มี 8 โครงการ ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 10,510 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทางหลวงและยกระดับความปลอดภัยในเส้นทาง อาทิ ทางหลวงหมายเลข 3 บ้านฉาง-ระยอง ขยายจาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร ระยะทาง 17.036 กม. วงเงิน 1,850 ล้านบาท

โครงการทางหลวงหมายเลข 304 สายฉะเชิงเทรา-ต.เขาหินซ้อน ตอน อ.บางคล้า-อ.พนมสารคาม รวมสะพานข้ามแยกทางหลวงหมายเลข 3551ขยายจาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร ระยะทาง 12.8 กม. วงเงิน 2,200 ล้านบาท โครงการปรับปรุงต่างระดับเขาไม้แก้ว จ.ฉะเชิงเทรา วงเงิน 600 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างสายทางบางบุตร-ชุมแสง จ.ระยอง ระยะทาง 30.416 กม. วงเงิน 1,120 ล้านบาท โครงการก่อสร้างสะพานต่างระดับถนนสุขุมวิทแยกเมืองใหม่ จ.ชลบุรี วงเงิน 240 ล้านบาท เป็นต้น