เปิดประตูการค้าเชื่อมไทย-อาเซียน CP ผนึกจีนสู้ BTS ชิงสัมปทาน 40 ปี เดินรถสินค้า “หนองคาย-แหลมฉบัง”

ถึงจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เอกชนทุนหนาให้ความสนใจไม่ใช่น้อย สำหรับโครงการให้เอกชนร่วม PPP net cost เดินรถขนส่งสินค้าด้วยระบบไฟฟ้าเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทาง 683 กม. เงินลงทุน 26,355 ล้านบาท

ยักษ์ธุรกิจสนใจเพียบ

ในวันจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน มียักษ์ใหญ่เข้าร่วมฟังคับคั่ง เช่น บจ.เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ บมจ.ไออาร์ พีซี บจ.อีสเทิร์น ซี แหลมฉบัง บมจ.ราช กรุ๊ป บจ.แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล บจ.นิ่มเอ็กซ์เพรส บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.ปตท.

บจ.มิตรผล บจ.ศรีตรังโลจิสติกส์ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ทีซีซี ภูมิพัฒน์ บจ.ทีซีซี ซินเนอร์จี้ บมจ.ทีพีไอ โพลีน บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เป็นต้น

ปฏิวัติเดินรถดีเซลสู่ระบบไฟฟ้า

หากโครงการนี้สำเร็จจะเป็นโปรเจ็กต์แรกที่ปฏิวัติการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จากดีเซลรางสู่ระบบไฟฟ้า และเป็นการเปิดหน้าการค้า-การลงทุนของไทยเชื่อมโลกด้วยระบบราง โดยมีท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าสำคัญ

ตรงกับธีมของคนรถไฟ “Change to the Future เปิด-ปรับ-เปลี่ยน : สู่อนาคตรถไฟไทย” ที่กำลังปลุกพลังองค์กรม้าเหล็กมีอายุ 123 ปี เป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียน ในปี 2570

รองรับทางคู่สายใหม่

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.กำลังสร้างทางคู่ในระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง ครอบคลุมทุกภาค ที่ใช้เงินลงทุนไปกว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้ในปี 2566 จะมีทางคู่เพิ่มประมาณ 1,000 กม.

และในปี 2568-2569 จะมีทางรถไฟสายไหม่เปิดใช้อีก 2 เส้นทาง คือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-นครพนม และยังมีทางคู่ในแผนระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง กำลังอนุมัติจากสภาพัฒน์ จะทำให้ ร.ฟ.ท.มีทางคู่มากที่สุดในอาเซียน แต่ปริมาณการขนส่งทางรถไฟยังไม่มากพอ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมใน 3 ปี ต้องเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% เพื่อสร้างรายได้จากปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ขาดทุนปีละ 5,000 ล้านบาท

ดึงเอกชนลงทุนลดภาระรถไฟ

“ปัจจุบันรถไฟไม่อยู่ในสภาพจะไปแข่งกับใครได้ เพราะถูกจำกัดการรับคนเพิ่ม ขณะที่ระยะทางเดินรถเพิ่มขึ้น จากทางคู่ที่จะสร้างเสร็จ จะมีความจุเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า คนรถไฟคงรับไม่ไหว ท่ามกลางการขนส่งที่แข่งขันกันสูง กำไรไม่ค่อยมี ที่ผ่านมามีเอกชนลงทุนซื้อหัวรถจักรเดินรถขนสินค้า เช่น ทีพีไอ ปตท. กำลังจะซื้อเพิ่ม ซึ่งต้นทุนการซื้อหัวรถจักรอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท/ขบวน”

ทั้งนี้ การเพิ่มบทบาทเอกชนในการเดินรถ เพื่อลดภาระของ ร.ฟ.ท. ซึ่งเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง เป็นเส้นยุทธศาสตร์ด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย เนื่องจากตัดผ่านพื้นที่ภาคอีสาน มีคนและสินค้าเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันกำลังสร้างทางคู่ ยังเหลือช่วงขอนแก่น-หนองคาย รอการอนุมัติจากสภาพัฒน์ เมื่อเสร็จและเดินรถด้วยระบบไฟฟ้าจะสามารถทำความเร็วได้มากขึ้น

รัฐอุดหนุนค่างานระบบ

“โครงการนี้จะดำเนินการ PPP net cost ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ให้เอกชนร่วมพัฒนาระบบเดินรถด้วยไฟฟ้า และบริหารจัดการขนส่งสินค้าทางรถไฟ มูลค่าลงทุน 30 ปี อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท”

ในระยะแรกลงทุน 26,355 ล้านบาท รัฐลงทุนระบบไฟฟ้ากว่า 2 หมื่นล้าน จะจ่ายคืนเอกชนภายหลัง ส่วนเอกชนลงทุนรถจักรไฟฟ้า แคร่ อู่จอด และซ่อมบํารุงกว่า 5 พันล้าน รถไฟจะได้ผลตอบแทนตลอดอายุสัญญา 30 ปี อยู่ที่ 16,000 ล้านบาท แต่ถ้า 50 ปี อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท จะประมูลปี 2564 ให้บริการปี 2569 คาดว่าจะมีความต้องการขนส่งสินค้าประมาณ 5.3 ล้านตันต่อปี และเพิ่มเป็น 17.6 ล้านตัน ในปี 2599 ยังไม่รวมสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

เพิ่มขนส่งทางราง 30%

นายสมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ความต้องการขนส่งสินค้าเส้นทางอีสานมีจำนวนมาก แต่ปัจจุบันขนส่งทางรถยนต์เป็นหลัก ทำให้ต้นทุนสูง หากผู้ประกอบการเปลี่ยนมาขนส่งทางรถไฟจะเปลี่ยนโฉมระบบโลจิสติกส์ของประเทศ จากปัจจุบัน 5% เพิ่มเป็น 30% ต้นทุนขนส่งจะถูกกว่าทางถนนเกือบ 50% เป็นจุดเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการมาขนส่งทางรางได้ ซึ่งแนวเส้นทางจะพาดผ่านพื้นที่ 8 จังหวัด ปัจจุบันกำลังพัฒนาเป็นทางคู่ตลอดสาย

“จะมีอู่จอดและศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่สุดที่เขาชีจรรย์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ประมาณ 500 ไร่ เป็นที่ดินรถไฟและอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี จะขอสิทธิ์พัฒนาเหมือนกับโครงการในอีอีซี ยังมีที่สถานีพระแก้ว-ชุมทางบ้านภาชี อยุธยา และชุมทางแก่งคอย นอกจากนี้จะมีศูนย์ซ่อมบำรุงทางและโรงจอดหัวรถจักรที่ชุมทางบัวใหญ่ ขนาด 50-75 ไร่ ส่วนสถานีนาทา จ.หนองคาย จะเป็นจุดเช็กอิน เพราะพื้นที่บางส่วนถูกใช้ไปกับรถไฟความเร็วสูงแล้ว”

นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุน เอกชนลงทุนก่อน รัฐจ่ายคืนงานระบบไฟฟ้า ประมาณ 21,000 ล้านบาท ซึ่งเอกชนจะต้องซื้อหัวรถจักรไฟฟ้า 30 คัน แคร่อีก 90 กว่าขบวน ถ้ารวม 30 ปี ประมาณ 6,950 ล้านบาท ส่วนระยะเวลาสัมปทานจะต้องมากกว่า 40 ปี และรถไฟได้ผลตอบแทนมากกว่า 26,000 ล้านบาท

ปีหน้าเริ่มเปิดประมูล

“ปีนี้จะทำรายละเอียด PPP ขออนุมัติรูปแบบลงทุนจาก สคร. ในปี 2564-2565 เริ่มคัดเลือกเอกชนและเสนอ ครม.อนุมัติ จะเป็นดีไซน์แอนด์บิลด์ เปิดเร็วสุดปี 2569 เอกชนจะได้ slot เดินรถที่ยังเหลือจากรถไฟ เพราะรถไฟยังมีเดินรถสินค้าเป็นดีเซลรางอยู่”

ส่วนความเสี่ยงของโครงการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและกิจกรรม แต่เส้นทางสายนี้ตอบโจทย์เรื่องดีมานด์ เพราะจะเป็นโปรเจ็กต์ที่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย จะเป็นของภูมิภาคด้วย เชื่อมไปยังลาว จีนตอนใต้ ทะลุไปยุโรป เกิดเศรษฐกิจที่จะตามมามหาศาล ซึ่งอาจจะขอสิทธิส่งเสริมการพัฒนาโครงการนี้เหมือนกับอีอีซี เพราะสามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมด้านระบบรางได้

สภาพัฒน์-BOI หนุนสุดตัว

นางธิดา พัทธธรรม ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการเดินรถสินค้าเชื่อมอิงแลนด์กับเกตเวย์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง นับว่าเป็นโครงการที่ดี และนโยบายของสภาพัฒน์ก็ยึดระบบรางเป็นพระเอกของการคมนาคมขนส่งระบบโลจิสติกส์ของประเทศอยู่แล้ว

นายปิยะ อุดมก้านตรง ผู้อำนวยการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน กองบริหารการลงทุน 4 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า BOI ส่งเสริมธุรกิจทางรางมา 30 ปี เช่น ได้รับการยกเว้นอากร ได้รับการค้ำประกัน ที่ผ่านมาขอส่งเสริมน้อยมาก มีส่งเสริมเคอรี่ที่ศรีราชา ส่วนการซ่อมรถจักร ผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้ายังไม่มีการขอ

คาดมี 3 ทุนใหญ่ลงแข่ง

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์กล่าวว่า ตอนนี้มี 3 กลุ่มใหญ่สนใจจะลงทุน คือ กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตรจากจีน ซึ่งมีการศึกษาโครงการอยู่แล้ว เนื่องจากต้องการจะขนสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนตอนใต้ ไปเมืองฉงชิ่ง ผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่กำลังก่อสร้าง จะรองรับทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ซึ่งเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบังจะไม่วิ่งเข้ากรุงเทพฯ จะทำให้การขนส่งรวดเร็วขึ้น

“ถ้า ซี.พี.ได้ จะมาเสริมกับไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินที่กลุ่ม ซี.พี.ได้ จะเน้นผู้โดยสารที่เส้นทางวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ที่สำคัญ อาจจะช่วยเรื่องระบบโลจิสติกส์ธุรกิจในเครือ ซี.พี.ได้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อีกกลุ่มที่สนใจคือกลุ่มบีทีเอส ซึ่งเคยศึกษาโครงการเดินรถขนส่งสินค้าจากขอนแก่น-แหลมฉบัง ด้วยหัวรถจักรไฟฟ้ามาแล้ว ซึ่งปัจจุบันบีทีเอสไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้า ยังเข้าไปถือหุ้นในเคอรี่ และยังมีกัลฟ์เป็นพันธมิตรร่วมลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์ ซึ่งกัลฟ์ก็ร่วมกับ ปตท.ชนะประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ก็น่าจะมาต่อยอดหรือร่วมกันได้ในอนาคต และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มทุนต่างประเทศเกี่ยวกับสายการเดินรถจากประเทศจีน และญี่ปุ่น

BTS-CP ทุ่มศึกษาโครงการ

ผู้แทนจากกลุ่ม ซี.พี.กล่าวว่า จากการฟังรายละเอียดของโครงการนับเป็นโครงการที่ดี ก่อนหน้านี้เคยทำผลการศึกษาเส้นทางเดินรถขนส่งสินค้าสายนี้แล้ว ในช่วงที่เปิดประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า เป็นโครงการที่น่าสนใจ เนื่องจากบีทีเอสอยู่ในธุรกิจด้านระบบรางอยู่แล้ว เมื่อรัฐเปิดประมูลโครงการใหม่ก็ต้องสนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้บีทีเอสช่วยกระทรวงคมนาคมศึกษาโครงการเดินรถขนส่งสินค้าด้วยระบบไฟฟ้าช่วงขอนแก่น-แหลมฉบัง

“ขอดูรายละเอียดผลการศึกษาโครงการก่อน แต่คาดว่าน่าจะเป็นโครงการที่ดี เพราะปัจจุบันการขนส่งสินค้าเป็นทางถนนเป็นหลัก ต่อไปเปลี่ยนเป็นระบบรางได้ คนน่าจะมีความต้องการ และยิ่งขนส่งทางเรือ เรื่องเวลาก็สำคัญเพราะจะต้องสอดรับกับตารางเวลาของการเดินเรือ จะมีความแม่นยำเรื่องเวลามากขึ้น จะประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนการขนส่งได้”


นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ในยุคธุรกิจโลจิสติกส์กำลังเฟื่องฟู