ต.ค.คิกออฟ “ระบบตั๋วร่วม” แค่แตะเชื่อมรถไฟฟ้า BTS-MRT-สีม่วง

ยังคงไม่สะเด็ดน้ำเหมือนทุกปีที่ผ่านมา การพัฒนา “ระบบตั๋วร่วม” ของประเทศไทย ที่รัฐบาลปรารถนาให้ประชาชนพกบัตรใบเดียวใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้ทุกรูปแบบ รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร ทางด่วน มอเตอร์เวย์

ในเมื่อระบบเป็นเรื่องใหม่ จึงต้องใช้เวลาในการพัฒนากว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง เนื่องจากยังมีปัญหาอุปสรรคทั้งข้อกฎหมายและข้อมูลที่เอกชนยังเก็บเป็นความลับทางธุรกิจ

แต่เพื่อให้โครงการเดินหน้า “คมนาคม” หัวขบวนขับเคลื่อน แบ่งการพัฒนา “ระบบตั๋วร่วม” เป็น 2 ระยะ โดยระยะเร่งด่วนต้องทำให้สำเร็จในปี 2563 พัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) ของระบบรถไฟฟ้าให้สามารถใช้บัตรโดยสารข้ามระบบหรือ interoperable

ต.ค.คิกออฟตั๋วข้ามระบบ 3 สาย

นำร่องสายสีน้ำเงิน สีม่วง และสีเขียว รองรับการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ บัตรแมงมุม 2 แสนใบ บัตร MRT Plus และบัตร MRT 2 ล้านใบ และบัตรแรบบิท 12 ล้านใบ

ล่าสุด “คมนาคม” โดย “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) ระยะเวลา 1 ปี กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นที่เรียบร้อยแล้ววันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนระยะยาว ใช้เวลาดำเนินการ 18-24 เดือน หรือภายในปี 2565 โดย “รฟม.” จะดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ account based ticketing (ABT) เป็นระบบเปิด เป็นการใช้บัตรผ่านระบบบัญชีบัตร ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร ทางด่วน ร้านสะดวกซื้อ ด้วยบัตรใบเดียว

เร่งเจรจาค่าธรรมเนียมใช้บัตร

“พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน” รองปลัด กระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากการติดตามความก้าวหน้าระบบตั๋วร่วมระยะเร่งด่วน พัฒนาเป็นการใช้ข้ามระบบในสายสีน้ำเงิน สีม่วง และสีเขียว จะเลื่อนจากเดิมในเดือน มิ.ย.เป็นในเดือน ต.ค.นี้ เนื่องจากบริษัทผู้ออกแบบและพัฒนาระบบของ BTS และ BEM ที่ประเทศสิงคโปร์ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และอาจจะใช้เวลาดำเนินการถึงปลายปีนี้ แต่กำชับให้เสร็จตามแผนที่ปรับใหม่

“ยังมีเรื่องข้อตกลงเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บัตรข้ามระบบที่ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน โดย รฟม.เสนอให้เก็บในอัตรา 0.3% สำหรับผู้ออกบัตร โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการชำระบัญชี”

ด้าน “เผด็จ ประดิษฐเพชร” ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข. กล่าวว่า การใช้บัตรโดยสารข้ามระบบเดือน ก.ค.นี้ ใช้ได้แค่สายสีน้ำเงิน สีม่วง และสีเขียวของบีทีเอส ยังไม่รวมแอร์พอร์ตลิงก์ เนื่องจากติดปัญหาผู้พัฒนาระบบ ทราบว่าจะเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ และรองรับได้แค่บัตรแมงมุม 2.5 และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หากจะรับระบบอื่นเพิ่มต้องลงทุนเพิ่มอีก 40 ล้านบาท

“บัตรโดยสารแตะเข้าข้ามระบบ เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทาง ซึ่งผู้ใช้บริการยังจ่ายค่าแรกเข้าและค่าโดยสารตามเดิม ก่อนจะพัฒนาเป็นค่าโดยสารร่วม โดยจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวในอนาคต”

นายเผด็จกล่าวอีกว่า สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรแมงมุม 2.5) ซึ่งกรมบัญชีกลางออกสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันมีกว่า 1.35 ล้านใบ สามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT BTS แอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้ จะหมดอายุในเดือน ต.ค. 2565 จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน (บัตรแมงมุม 4.0) เป็นระบบเปิด EMV ผ่านบัตรเครดิต ระบบเดียวกับที่ รฟม.กำลังพัฒนา

“กรมการขนส่งทางบกขอให้เพิ่มสิทธิใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กับรถโดยสารเอกชน 14 เส้นทางที่ บขส.ไม่ได้วิ่งบริการ ส่วน ขสมก.ขอให้ใช้กับรถร่วมเอกชนได้ ซึ่งกรมบัญชีกลางให้รวบรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมพิจารณาต่อไป”

วงเงินบัตรสวัสดิการซ้ำซ้อน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีปัญหาซ้ำซ้อนการใช้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ถือบัตรแมงมุม 2.5 จำนวน 3,858 ใบ หรือ 9.56% นำบัตรไปใช้บริการรถเมล์ ขสมก. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีม่วง BTS และแอร์พอร์ตลิงก์ ทำให้เกิดปัญหาการใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐเกินวงเงินที่ได้รับ 500 บาทต่อเดือน

เป็นผลมาจากระบบการหักบัญชีและการชำระดุลต่างกัน โดย รฟม.หักเงินในชิปการ์ดก่อนส่งข้อมูลให้แบงก์กรุงไทยเบิกค่าโดยสารในวันถัดไป ส่วนระบบของกรุงไทยที่พัฒนาให้กับ ขสมก. BTS และแอร์พอร์ตลิงก์ ตัดวงเงินจากบัญชีออนไลน์ ทำให้เกิดวงเงินซ้ำซ้อนเป็นเหตุให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้ได้เกินวงเงินที่กำหนด โดยเป็นบัตรแมงมุมของ รฟม. 500 บาท และขสมก. BTS และแอร์พอร์ตลิงก์อีก 500 บาท เกิดภาระงบประมาณซ้ำซ้อน

นโยบายไม่นิ่งหวั่นงบฯบานปลาย

อีกปัญหาที่มีการ “สะท้อน” ในที่ประชุม โดยผู้แทน”สคร.-สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ” และ “สศช.-สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ให้คำนึงถึง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณของรัฐและรัฐวิสาหกิจ