2 เจ้าพ่อรถไฟฟ้า “BTS-BEM” ชิงสัมปทานสายสีส้ม ระดมพันธมิตรแข่งดุ

กำลังเป็นที่จับตาการชิงไหวชิงพริบของ 2 บิ๊กรถไฟฟ้า ระหว่าง “BTS-บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ของเจ้าพ่อรถไฟฟ้า “คีรี กาญจนพาสน์” ที่กำลังมือขึ้นคว้าสัมปทานงานใหญ่ และ “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” ธุรกิจในเครือ ช.การช่างของ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ผู้กุมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หลังปิดดีลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โปรเจ็กต์ร่วมทุนกลุ่ม ซี.พี. และก่อสร้างสะพานขึงของทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตกยังรองานใหญ่เข้ามาเพิ่มในพอร์ต

ว่ากันว่าเวลานี้ “BTS-BEM” หลังเสร็จศึกสนามประมูลงานระบบและบริหารเก็บเงินมอเตอร์เวย์ 2 สายใหม่ “บางปะอิน-โคราชและบางใหญ่-กาญจนบุรี” ที่ BTS ผนึกกัลฟ์ฯ-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป ดัมพ์ราคาทั้ง 2 สายลงกว่า 2 หมื่นล้านบาท ชนะ BEM ขาดลอย รอเซ็นปิดดีลสัญญามูลค่า 39,138 ล้านบาท ก.ค.นี้

BEM ตีกันต่อขยายสีเหลือง

กำลังเปิดศึกคุกรุ่นปม “สายสีเหลืองส่วนต่อขยาย” ที่ BTS ผู้รับสัมปทานสายหลักช่วง “ลาดพร้าว-สำโรง” ควักอีก 3,779 ล้านบาท ขยายเส้นทางเพิ่ม 2.6 กม.จากสถานีลาดพร้าวเลาะไปตามถนนรัชดาฯ ผ่านศาลอาญา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ไปเชื่อมแยกรัชโยธิน ระหว่างสถานีพหลโยธิน 24 กับสถานีรัชโยธินของสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

ขณะที่ “BEM” หวั่นใจหากสายสีเหลืองต่อขยายเปิดหวูด จะกระทบผู้โดยสารสายสีน้ำเงิน หากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารเปลี่ยนไป ไม่ต้องมาต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน สามารถนั่งสายสีเหลืองต่อบีทีเอสเข้าเมืองไปได้ทันที จึงทำหนังสือถึง “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เคลียร์ BTS ให้เด็ดขาดถึงผลกระทบ-การชดเชย แบบมีลายลักษณ์อักษรยืนยัน ก่อนที่จะลงเสาเข็ม

โดยอ้างอิงสัญญาข้อ 21 ข้อตกลงกระทำการและงดเว้นกระทำการของ รฟม. ใน “ข้อ ข” ระบุว่า ภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขของสัญญานี้ รฟม.รับว่าจะไม่กระทำและจะต้องงดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่อาจขัดขวางหรือกระทบกระเทือนต่องานหรือการดำเนินการหรือการไหลเวียนของผู้โดยสารเข้าสู่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือการจัดเก็บค่าโดยสารหรืออัตราค่าโดยสารตามสัญญานี้

ล่าสุดเรื่องนี้ติดหล่มอยู่ที่ “รฟม.” ในฐานะคนกลาง ยังไม่รู้จะหาทางลงเรื่องนี้แบบไหนไม่ให้กระทบต่อคู่สัญญาทั้ง 2 บริษัท ทำให้สถานะสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย จึงยังลูกผีลูกคนจะ “สร้าง-ไม่สร้าง” ทั้งที่การเจรจาผลตอบแทนและรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เคลียร์จบแล้ว

โปรเจ็กต์วัดใจบิ๊ก รฟม.

“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สายสีชมพูส่วนต่อขยายจากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. ที่กลุ่ม BTS ลงทุนเพิ่มอีก 3,379 ล้านบาท ขณะนี้ส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว คาดว่าจะเซ็นสัญญาเพิ่มเติมและเริ่มก่อสร้างในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนสายสีเหลืองต่อขยายยังอยู่ระหว่างการเจรจา 3 ฝ่าย คือ รฟม. BTS และ BEM เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารสายสีน้ำเงิน

“รฟม.และ BEM มองว่า BTS ต้องเยียวยาให้ BEM อย่างเหมาะสม แต่คงไม่ถึงขั้นเต็ม 100% และต้องกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในสัญญาสายสีเหลืองส่วนต่อขยายว่า BTS และ BEM ต้องมีเจรจากัน ภายหลังการเปิดให้บริการสายสีเหลืองส่วนต่อขยายแล้ว แต่ BTS ยังไม่ตอบรับเงื่อนไข จะรายงานให้บอร์ด รฟม.ทราบ และเป็นไปได้จะไม่มีอนุมัติให้ต่อขยายสายสีเหลือง เพื่อมิให้เกิดข้อพิพาทกันภายหลัง”

จากผลศึกษากรณีต่อขยายสายสีเหลือง จะทำให้ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินหายไป 6,000 เที่ยวคน/วัน แต่เป็นสิ่งที่คาดการณ์ ทาง BEM ต้องพิสูจน์ผลกระทบอีกครั้งหลังเปิดบริการไปแล้ว เนื่องจากการที่ผู้โดยสารลดลงอาจจะมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองและการเปิดรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมมากขึ้น อาจจะมีผู้โดยสารทั้งลดและเพิ่มได้ในบางสถานี

BTS ลั่นไม่เยียวยาผลกระทบ

ด้าน “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ออกมาตอบโต้ไม่เห็นด้วยกับ รฟม.จะให้ชดเชยรายได้ให้ BEM เพราะทำให้ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินลดลง

“การชดเชยไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ BEM เป็นหน้าที่ของ รฟม.ในฐานะคู่สัญญา ต้องพิจารณาเอง เราได้ตอบยืนยันไปยัง รฟม.แล้ว”

“สุรพงษ์” ย้ำว่า BTS ทำได้ดีที่สุด ลงทุนส่วนต่อขยายทั้งหมด รวมถึงการเวนคืนและแบ่งรายได้ให้ รฟม.มากขึ้นจากส่วนต่อขยายที่ยาวขึ้น ในระยะยาวจะมีประโยชน์กับประชาชน เพราะจะเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่รัชโยธิน ซึ่งออกแบบเสร็จแล้ว และ EIA ได้รับอนุมัติแล้วด้วย

“หาก รฟม.จะไม่ให้ทำส่วนต่อขยาย เพราะอาจจะขัดแย้ง BEM อยู่ที่การชั่งน้ำหนักของ รฟม.ว่าคุ้มหรือไม่ แต่เรามองว่ามีประโยชน์กับประชาชน ถ้าเราไม่ได้ทำก็ไม่มีผลอะไรกับสายสีเหลืองแต่อย่างใด”

ระเบิดศึกประมูลสายสีส้ม

ปมแย่งผู้โดยสารยังไม่ยุติ ปัจจุบัน “BTS-BEM” กำลังเปิดศึกรอบใหม่ทั้งบนดิน-ใต้ดิน แบบไม่มีใครยอมใคร ชิงเค้ก “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” มูลค่า 142,789 ล้านบาทงานใหญ่ส่งท้ายปี 2563

ถึงขั้นเดินสายล็อบบี้ล็อกสเป็ก รวบ “เทคนิค-ราคา” เป็นซองเดียวกัน เพราะงานนี้ขาใหญ่ทำธุรกิจทั้งรับเหมาและเดินรถไฟฟ้า กำลังหวั่นไหวและกลัวใจคู่แข่งจะดัมพ์ราคาลงมาต่ำเหมือน “งานระบบมอเตอร์เวย์”

จึงหวังจะใช้คะแนนด้านเทคนิคผลงานอุโมงค์มาเป็นตัวชูธงเข้าเส้นชัย แต่งานนี้ “บิ๊กคมนาคม-รัฐบาล” ไม่เปิดไฟเขียว ให้เดินหน้าตามเส้นทางเดิม ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง คือ คุณสมบัติ เทคนิค การลงทุนและผลตอบแทน และข้อเสนออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ

รัฐปล่อยแข่งเสรี

หวังให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ประเทศชาติได้ประโยชน์เหมือนงานระบบมอเตอร์เวย์ที่รัฐประหยัดเงินได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท และเมืองการบินอู่ตะเภาที่รัฐได้ผลตอบแทนสูงสุดถึง 305,555 ล้านบาท

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม “รฟม.” เปิดประมูลนานาชาติให้เอกชนทั่วโลก ร่วมลงทุน PPP net cost ก่อสร้างช่วงตะวันตก “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” และรับสัมปทานเดิน 30 ปีตลอดสายบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินลงทุน 128,128 ล้านบาท

รัฐจะร่วมลงทุนค่าเวนคืน 14,611 ล้านบาท และสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท ผ่อนชำระเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

ขายซองประมูล 10-24 ก.ค.นี้

ตามไทม์ไลน์จะประกาศเชิญชวนวันที่ 3-9 ก.ค. ขายทีโออาร์วันที่ 10-24 ก.ค. เปิดยื่นข้อเสนอภายในเดือน ก.ย. และเซ็นสัญญาในเดือน ธ.ค.นี้

“จุดชี้ขาดสายสีส้มอยู่ที่ใครให้รัฐสนับสนุนค่างานโยธาน้อยที่สุด และจ่ายผลตอบแทนให้รัฐมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ เพราะรัฐออกเงินก่อสร้างให้แล้วช่วงตะวันออก รัฐคาดหวังเอกชนจะแบ่งรายได้จากสัมปทานให้รัฐได้มาก” แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวและว่า

คาดว่าจะมีบริษัทเอกชนไทยและต่างชาติมาซื้อเอกสารประมูล โดยประเมินว่ามี 2 กลุ่มเข้าร่วมประมูลแน่ คือ กลุ่ม BTS และกลุ่ม BEM หากจะมีรายที่ 3 น่าจะเป็นต่างชาติที่ร่วมกับผู้รับเหมาไทย

คีรี-พันธมิตรพร้อมเต็มที่

ขณะที่ “คีรี” บอสใหญ่บีทีเอสย้ำ “รอดู TOR พร้อมเข้าประมูล จะร่วมกับพันธมิตรเดิม”

ด้าน “สุรพงษ์” ประสานเสียงได้ฟอร์มทีมมาเป็นปีเพื่อเข้าประมูล มีคนสนใจจะร่วมหลายราย ทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ลงทุนกว่า 1 แสนล้าน จะร่วมกับพันธมิตรเดิม เช่น บมจ.ซิโน-ไทยฯ และมีรายใหม่ด้วย

ช.การช่างมั่นใจ 100%

ฟาก “สมบัติ กิจจาลักษณ์” เอ็มดี BEM กล่าวว่า จะร่วมกับ ช.การช่างยื่นประมูลสายสีส้ม และมีความมั่นใจ เพราะมีประสบการณ์ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน รู้ต้นทุนดี เป็นข้อได้เปรียบคู่แข่ง ทำการบ้านไว้แล้ว แหล่งเงินทุนและพันธมิตรด้านซัพพลายเออร์

“เป็นงานใหญ่ปีนี้ ต้องสู้กันเต็มที่ ใครบริหารต้นทุนการเงินดี มีโอกาสชนะสูง”

สะพัด BTS ดึงรับเหมาจีนแจม

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า ประมูลสายสีส้มน่าจะแข่งขันราคากันดุเดือด โดยเฉพาะกลุ่มบีทีเอส นอกจากจะร่วมกับซิโน-ไทยฯแล้ว คาดว่าจะมี บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ส่วน บมจ.ราชกรุ๊ปยังไม่แน่ และอาจจะมียักษ์รับเหมาจากจีนคือ บจ.ไชน่าฮาร์เบอร์ร่วมแจมด้วย

“บีทีเอสน่าจะมีแต้มต่อเรื่องราคา ดูได้จากการประมูลมอเตอร์เวย์ที่ผ่านมา ส่วน BEM และ ช.การช่าง ด้วยสไตล์แล้วไม่ค่อยจะลงมาเล่นราคาเท่าไหร่ แต่อะไรก็ไม่แน่นอน ต้องรอดู”

การที่ทุนใหญ่สู้ยิบตาช่วงชิงเค้กสายสีส้ม เพราะเป็นรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ สร้างผ่าเมืองเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก

เพราะมีจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าอีกหลายสาย ทั้งบีทีเอส สายสีน้ำเงิน สายสีเหลือง สายสีชมพูที่มีนบุรี แอร์พอร์ตลิงก์

งานนี้วัดบารมี กำลังภายในคงไม่พอ ต้องสวมบทป๋าใจถึงด้วยถึงจะเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ

ผู้โดยสาร "รถไฟฟ้า" ยกมือเชียร์ ต่อขยายสายสีเหลืองเชื่อมรัชโยธิน

ยังลุ้นกันอยู่จะได้ไปต่อหรือหยุดอยู่แค่แยกรัชดา-ลาดพร้าว สำหรับ “ส่วนต่อขยายสายสีเหลือง” ที่เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส “คีรี กาญจนพาสน์” ผู้รับสัมปทานลงทุนสายสีเหลืองเส้นทางหลัก “ลาดพร้าว-สำโรง” ยื่นข้อเสนอลงทุนสร้างเพิ่มไปเชื่อมสายสีเขียวที่แยกรัชโยธิน

หลังถูก “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” คู่สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ออกมาขย่มจะเป็นทางแข่งขันแย่งผู้โดยสารในระบบ

ล่าสุดจากท่าที “รฟม.” อาจจะแตะเบรกส่วนต่อขยายนี้ไว้ก่อน หลัง “BTS” ไม่ยอมรับเงื่อนไขเยียวยาผลกระทบให้ BEM

“ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สถานีลาดพร้าว ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่าง “สายสีเหลือง-สีน้ำเงิน” โดยสอบถามความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้บริการ

รายแรกเป็นข้าราชการประจำ ซึ่งพักอาศัยอยู่แถวสถานี MRT ลาดพร้าว ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการก่อสร้างส่วนต่อขยายดังกล่าว เพราะเดินทางไปเมเจอร์ รัชโยธินสะดวกขึ้น ไม่ต้องนั่งหลายต่อ แต่อยากให้รัฐช่วยดูเรื่องค่าโดยสารที่จะเชื่อมระหว่าง 2 ระบบ อาจจะแพงขึ้น เพราะเป็นคนละระบบ และต้องเสียค่าโดยสาร 2 ต่อ

ด้านพนักงานออฟฟิศย่านลาดพร้าว แสดงความคิดห็นว่า ควรจะก่อสร้าง เพราะประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น เข้าเมืองสะดวกขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ทราบว่าการก่อสร้างดังกล่าวจะทำให้ประชาชนต้องแบกภาระอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งภาครัฐควรกำกับไม่ให้มีภาระดังกล่าวเกิดขึ้นกับประชาชน

ปิดท้ายที่นักเรียนที่เรียนในย่านลาดพร้าวกล่าวว่า ควรจะก่อสร้างเช่นกัน เพราะคิดว่าจะได้รับความสะดวกมากขึ้น และหากอนาคตสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ จะยิ่งได้รับความสะดวกมากขึ้นไปอีก ส่วนเรื่องอื่น ๆ ไม่มีความเห็น

เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วนของประชาชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อยู่ที่ “รฟม.-BTS-BEM” จะต้องหาจุดถ่วงดุลตรงกลางให้สมประโยชน์กับทุกฝ่าย


เพราะที่สุดแล้ว “รถไฟฟ้า” ไม่ว่าจะสายไหน ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางของประชาชนเท่านั้น !