ปตท.ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ EEC ผุดมิกซ์ยูส 2 หมื่นล้านชิงจุดพักรถแนวมอเตอร์เวย์

ปตท.ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ EEC ผุดมิกซ์ยูส 2 หมื่นล้านชิงจุดพักรถแนวมอเตอร์เวย์
ขยายธุรกิจ - กลุ่ม ปตท.เปิดแผนลงทุนโครงการใหญ่ในอีอีซี ทั้ง EECi ท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง หวังต่อยอดธุรกิจโลจิสติสก์อสังหาฯ ล่าสุดสนใจร่วม PPP จุดพักรถแนวมอเตอร์สายใหม่ และทรักเทอร์มินัลถนนสายหลักทั่วประเทศ

ปตท.ขยายการลงทุนพื้นที่อีอีซี คว้าสัมปทาน 2 ท่าเรือ “มาบตาพุด-แหลมฉบังเฟส 3” รุกโลจิสติกส์ จ่ายน้ำมันสนามบินอู่ตะเภา สนใจประมูลจุดพักรถมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชและบางใหญ่-กาญจนบุรี ทรักเทอร์มินอลถนนสายหลัก หลังเริ่มทดลอง 3 แห่งที่ภาคเหนือ ภาคใต้ ปีหน้าเคาะโมเดลพัฒนาที่ดิน 70 ไร่ ขึ้นมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ 2 แสนตารางเมตร มูลค่า 2 หมื่นล้าน ประเดิมเฟสแรกรองรับขยายธุรกิจในเครือ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างเจรจาผลประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โซน F ที่บริษัทลูกของ ปตท. คือ บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล ร่วมทุนกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน เพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่ง ปตท.ได้เข้าไปลงทุนอยู่เป็นจำนวนมากที่ผ่านมา เช่น เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่วังจันทร์วัลเลย์

“ปตท.เข้าไปลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เป็นการไดเวอร์ซิฟายธุรกิจ เพราะพาร์ตเนอร์ที่บริษัทลูกเราไปร่วมทำธุรกิจโลจิสติกส์อยู่แล้ว เรื่องขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นการขยายในธุรกิจที่เขามีความรู้ความชำนาญในการบริหารท่าเรือ ซึ่งเราได้พัฒนาท่าเรือมาบตาพุดด้วย จะเกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจหลักของ ปตท. เพราะมีทำนิคมอุตสาหกรรมด้วย และท่า LNG ส่วนแหลมฉบังเป็นท่าเรือเหมือนกัน แต่ขนส่งสินค้าคนละแบบ ถือว่าเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโนว์ฮาวที่มีอยู่”

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้จะพัฒนาที่มีอยู่ เช่น โครงการ EECi เป็นพื้นที่เดิมของไออาร์พีซี บริษัทลูก ปตท. มีสร้างมหาวิทยาลัย โรงเรียนไว้รองรับแล้วภายในโครงการ

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการต่าง ๆ ของ ปตท.เป็นการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้อีอีซีมีการพัฒนาและเติบโต ที่เข้าไปลงทุนนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ ล่าสุดได้โครงการระบบจ่ายน้ำมันสำหรับเครื่องบินให้กับสนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ โดยร่วมกับ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (บาฟส์) อีกทั้งกำลังหารือกับกลุ่ม ซี.พี. จะพัฒนาระบบพลังงานในสถานีมักกะสันของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย

“โครงการสมาร์ทซิตี้ ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่มีพื้นที่ด้านหลัง ปตท.เป็นโครงการร่วมกันกับการรถไฟฯ ลักษณะเป็นพี่เลี้ยงให้ รอดูนโยบายการรถไฟฯจะเปิดการพัฒนาแบบไหน โดย ปตท. จะเข้าไปร่วมเรื่องระบบพลังงาน จะเป็นบางส่วนเท่านั้น คงไม่ทั้งหมดของโครงการ ซึ่งในปีนี้การพัฒนาอสังหาฯมีไม่มาก”

ส่วนโครงการอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการลงทุน เนื่องจากต้องวิเคราะห์ตลาดด้วย อย่างเช่น ที่ดิน 70 ไร่ ติดสถานีทุ่งสองห้องของรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นที่ดินซื้อเก็บไว้เมื่อ 7-8 ปีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดโครงการ จะพัฒนาเป็นมิกซ์ยูสมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าที่ดิน 3,000-4,000 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นความชัดเจนและจะเริ่มพัฒนาโครงการได้หลังปี 2564

“ที่ดินแปลงนี้ศักยภาพพื้นที่พัฒนาได้ 4 แสนตารางเมตร แต่เราจะพัฒนา 2 แสนตารางเมตร จะพัฒนาเป็นโครงการแบบมิกซ์ยูส ที่มีทั้งที่อยู่อาศัย เป็นอาคารชุด อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม อยู่ภายในโครงการเดียวกัน แต่ต้องพัฒนาให้ตรงกับความต้องการด้วย รอสรุปรายละเอียด แต่สามารถลงทุนได้ทั้งมิกซ์ยูส อาคารสำนักงาน ทำแล้วต้องให้ครบ เพราะติดสถานีรถไฟฟ้า จะมีถนนยกระดับเชื่อมวิภาวดีเป็นทางเข้า-ออก จะแบ่งการพัฒนาเป็นเฟส ระยะแรกจะพัฒนาเป็นสำนักงานส่วนขยายของ ปตท.”

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปตท.ยังสนใจจะเข้าร่วมประมูลพื้นที่จุดพักรถ (rest area) แนวเส้นทางมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง จะให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี

“โครงการนี้เราเข้าร่วมแน่ ๆ เพราะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ทาง และเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นธุรกิจที่เราทำอยู่แล้ว เพราะปั๊ม ปตท.ตอนนี้ก็เหมือนจุดพักรถย่อย ๆ อยู่แล้ว รอดูทีโออาร์ว่าจะต้องร่วมทุนกับใครหรือไม่ และยังสนใจพัฒนาทรักเทอร์มินอลด้วย เพราะเริ่มทดลองพัฒนาบ้างแล้วในภาคเหนือ ภาคใต้ ในเส้นทางหลักรวม 3 แห่ง ใช้พื้นที่อย่างน้อยแห่งละ 10 ไร่ ถ้าทำได้ตามแผนจะทำให้รายได้ธุรกิจอสังหาฯเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนแค่ 1% ของรายได้ทั้งหมด 2.2 ล้านล้านบาท”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามแผนกรมทางหลวงจะพัฒนาจุดพักรถนำร่องมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี รวมถึงส่วนต่อขยายช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. มีพื้นที่ rest area 3 จุด คือ

1.บริเวณทางแยกไป อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่รวม 100 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งขาเข้าและขาออก ฝั่งละ 50 ไร่ 2.ด่านบางละมุงทั้งฝั่งขาเข้า-ขาออก พื้นที่รวม 50 ไร่ แบ่ง 2 จุดขาเข้า-ขาออก พื้นที่จุดละ 25 ไร่ 3.ด่านมาบประชันพื้นที่รวม 10 ไร่ แบ่ง 2 จุดขาเข้า-ขาออก จุดละ 5 ไร่

ในส่วนของมอเตอร์เวย์สายใหม่ 2 สาย คือ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) เบื้องต้นศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและรูปแบบการลงทุนเสร็จเรียบร้อยแล้ว


โดยบางปะอิน-นครราชสีมา กำหนดให้มี rest area จำนวน 15 แห่ง แบ่งเป็นขาเข้า 7 แห่ง และขาออก 8 แห่ง มีขนาดของ rest area ตั้งแต่เล็ก กลาง และใหญ่ ส่วน rest area ของมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี มีจำนวน 6 แห่ง แบ่งเป็นขาเข้า 3 แห่ง และขาออก 3 แห่ง