เปิดเรือไฟฟ้า ”สาทร-ปากเกร็ด” 21 ส.ค. ปีหน้าวิ่งคลองแสนแสบ

วันที่ 15 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่ท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ร่วมทดสอบเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบที่จะใช้ในเส้นทางเดินเรือคลองแสนแสบ ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้พัฒนาเรือต้นแบบ และนายเชาวลิต เมธยะประภาส หรือลุงถั่ว กรรมการผู้จัดการ บจ. ครอบครัวขนส่ง (2002) ในฐานะผู้ประกอบการเดินเรือคลองแสนแสบร่วมทดสอบไปด้วย

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ทดสอบเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบที่จะใช้ในเส้นทางเดินเรือคลองแสนแสบกลางปี’64 ได้ใช้เรือแสนแสบโฉมใหม่

โดยนายอธิรัฐ กล่าวว่า การทดสอบวันนี้ถือว่าสมบูรณ์แล้ว 80% เพราะคลื่นกระทบฝั่งน้อยลง และเสียงเงียบกว่าเรือแบบเดิม แต่ติดเรื่องการควบคุมเรือที่คนขับยังเคยชินกับการขับเรือไม้แบบเดิม ซึ่งได้สั่งการให้ทดสอบเรือไฟฟ้าใหม่นี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้ทุกอย่างนิ่งก่อน จึงค่อยเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ

ส่วนการต่อเรือไฟฟ้า เบื้องต้นได้พูดคุยกับบจ.ครอบครัวขนส่ง (2002) ไว้แล้ว โดยปลายปีนี้จะต้องต่อเรือให้เสร็จก่อน 5 ลำ คู่ขนานไปกับการทดสอบระบบของเรือให้คงที่และมีความปลอดภัย 100% ก่อน ก็คาดว่าประมาณกลางปี 2564 ประชาชนจะได้ใช้เรือไฟฟ้านี้อย่างแน่นอน และขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้คงค่าโดยสารไว้ก่อน

“นอกจากคลองแสนแสบแล้ว ในวันที่ 21 ส.ค.นี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จะเปิดตัวเรือต้นแบบสำหรับทดลองวิ่งในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป”

ดีเดย์ 21ส.ค. วิ่งเรือไฟฟ้าปากเกร็ด-สาทร

ด้านนายวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจุดชาร์จไฟฟ้า ขณะนี้ได้ติดตั้งแล้ว 1 จุดคือที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ฝั่งตรงข้ามท่าเรือผ่านฟ้า โดยเป็นการอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการติดตั้งจุดชาร์จไฟนำร่องดังกล่าว แต่การดำเนินการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าหลังจากนี้ จะเป็นหน้าที่ของบจ.ครอบครัวขนส่ง (2002) ที่จะต้องหาจุดที่เหมาะสมดำเนินการและลงทุนเองต่อไป โดยต้นทุนการก่อสร้างจุดชาร์จไฟอยู่ที่ 1 ล้านบาท/จุด

ส่วนการเปิดตัวเรือต้นแบบของ EA ในวันที่ 21 ส.ค.นี้ จะนำร่องในแนวเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงปากเกร็ด – สาทร ซึ่ง EA เองก็ต้องการจะเดินเรือในเส้นทางดังกล่าวด้วย แต่กรมเจ้าท่ามีความกังวลด้านการบริหารจัดการ เพราะลำพังเรือด่วนที่ให้บริการโดย บจ.เรือด่วนเจ้าพระยาก็มีผู้โดยสารใช้งานมากอยู่แล้ว

“จึงต้องเจรจากับ EA เพื่อให้มาเดินเรือในเส้นทางใหม่ที่กรมกำลังศึกษาแทน เช่น ปทุมธานี – สาทร หรือไม่ก็อัพเกรดให้เรือของ EA เป็นเรือที่วิ่งรับผู้โดยสารเฉพาะท่าเรือที่เป็นฟีดเดอร์กับรถไฟฟ้า เช่น ปากเกร็ด ท่าน้ำนนทบุรี พระนั่งเกล้า บางโพ เป็นต้น ซึ่งกำลังหาข้อสรุปอยู่”

กสิกรไทยปล่อยกู้ปรับปรุงเรือแสนแสบ

ขณะที่นายเชาวลิต ในฐานะผู้ประกอบการ เปิดเผยว่า ต้นทุนการต่อเรือไฟฟ้าลำหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท จะใช้วิธีขอสินเชื่อจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งตอนนี้ได้มาแล้วก้อนแรก 10 ล้านบาท จะทยอยต่อเรือไปทีละลำๆจนเสร็จครบทั้ง 5 ลำ โดยเรือ 1 ลำใช้เวลาต่อประมาณ 4 เดือน

ส่วนการบรรจุมอเตอร์ไฟฟ้า จะต้องใช้เครื่องปั่นไฟสำหรับใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนเรือโดยสารแน่นอน เพื่อลดต้นทุนด้านการก่อสร้างจุดชาร์จไฟฟ้า โดยแผนตอนนี้คือจะชาร์จไฟทิ้งไว้ในช่วงกลางคืน และในช่วงกลางวันจะใช้เครื่องปั่นไฟในการจ่ายพลังงานแทน โดยจะต้องขอศึกษาระบบไฟฟ้านี้ให้ละเอียดรอบคอบที่สุดก่อน เพราะต้องยอมรับว่าเราไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเรือต้นแบบที่พัฒนานั้น เป็นเรือะลูมิเนียม รองรับจำนวนคนได้ 103 คน (ผู้โดยสาร 100 คน/ลูกเรือ 3 คน) ใช้ความเร็วในการเดินทาง 20 กม./ชม. ตัวเรือมีความกว้าง 3 เมตร ยาว 20.2 เมตร กินน้ำลึก 0.75 เมตร และรับน้ำหนักบรรทุกได้ 19 ตัน ขับเคลื่อนด้วยชุดมอเตอร์ 2 ชุด ชุดละ 15 กิโลวัตต์ อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ อยู่ที่การชาร์จไฟ 20,000 ครั้ง มีความจุแบตเตอรี่ที่ 135.75  กิโลวัตต์ชั่วโมง การชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้งวิ่งได้ไกล 60 กม. หรือประมาณ 4 ชม.