“ศักดิ์สยาม” ลั่นปีหน้าทุกด่านส่องทะเบียนรถจ่ายค่า “มอเตอร์เวย์-ทางด่วน”

“กรมทางหลวง-การทาง-ขนส่ง-BEM-โทลล์เวย์” เด้งรับนโยบาย ”ศักดิ์สยาม” รื้อไม้กั้นด่านเก็บค่าผ่านทาง ”มอเตอร์เวย์-ทางด่วน” ทุกสาย เป็นแบบ M-Flow แก้รถติดหน้าด่าน จ่ายค่าผ่านทางผ่านทะเบียนรถ หักบัตรเดบิต-เครดิต ไม่จ่ายถูกปรับ 10 เท่า ดึงเอกชนเคลียร์ระบบหลังบ้าน ติดตามหนี้เสีย ดีเดย์ ธ.ค.นี้ เริ่มทดสอบ คิกออฟ ม.ค. 2564 ด่านบ้านทับช้าง-ธัญบุรี ส่วนทางด่วนเริ่ม เม.ย. สายอาจณรงค์-รามอินทรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ​วันที่ 14 กันยายน 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับข้อมูลทะเบียนยานพาหนะระหว่างกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาและพัฒนาระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติ แบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน หรือ Single Platform System ร่วมกันระหว่างกรมทางหลวง การทางพิเศษฯ กรมการขนส่งทางบก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ทางยกระดับดอนเมืองหรือโทลล์เวย์

@ศักดิ์สยามปลื้มนโยบายไร้ไม้กั้นเป็นจริง

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า การ MOU วันนี้เป็นไปตามนโยบายที่ประกาศไว้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเดือน ก.ค. 2562 ที่ใช้เวลามาก เพราะต้องศึกษาและไปดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้มาแล้วได้นำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย

ตามแผนดำเนินการทางกรมทางหลวงเป็นผู้ศึกษาเรื่องนี้ และนำผลศึกษามอบให้กับ กทพ. และมอบให้เอกชนที่ได้รับสัมปทาน คือ โทลล์เวย์ และ BEM ทั้งหมดระบบจะออกมาเป็นระบบเดียวกัน เป็นระบบที่ไม่ต้องจอดรถเสียค่าบริการ จะใช้วิธีการสแกนโดยใช้กล้อง AI สามารถที่จะตรวจจับทะเบียนรถของผู้ที่มาใช้บริการได้ และเรียกเก็บค่าผ่านทางที่เรียกว่าระบบ postpaid (จ่ายเงินหลังใช้งาน) จะเก็บเงินทุกสิ้นเดือน

@ลั่นปี’64 มอเตอร์เวย์-ทางด่วนทุกด่านฟรีโฟลว์​

“ภายในปี 2564 ทุกด่านของทางด่วนและมอเตอร์เวย์ จะต้องเปลี่ยนผ่านสู่ระบบด่านไร้ไม้กั้นทั้งหมด จะไม่มีด่านเงินสด ระบบบัตร M-Pass และ Easy Pass จะดำเนินการทั้งโครงการทางด่วนและมอเตอร์เวย์ในปัจจุบันและก่อสร้างในอนาคตด้วย“

ปัจจุบันกรมทางหลวงกำลังหาผู้รับจ้างสำหรับระยะที่ 1 คือบริเวณด่านทับช้างของวงแหวนรอบนอกตะวันออก จะทดสอบระบบภายในสิ้นปี 2563 นี้ อย่างช้าเดือน ม.ค. 2564 จะใช้ได้หลังหยุดยาววันปีใหม่ ส่วนของ กทพ. จะนำร่องในเดือน ก.พ.2564 กับทางด่วนฉลองรัฐหรืออาจณรงค์-รามอินทรา

“จากนั้นกรมทางหลวง และ กทพ.จะขยายผลของโครงการไปยังด่านต่างๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันในปีหน้า จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ใช้บริการที่ประสบปัญหารถติดหน้าด่าน มานานมากแล้ว วันนี้จะได้รับสิ่งเหล่านี้คลี่คลาย“

@ รื้อออกให้หมด

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า รูปแบบการบริการจะทยอยยกเลิกด่านเดิมที่มีอยู่ และให้ไปตรวจสอบในสัญญาว่าสามารถรื้อถอนด่านได้หรือไม่ เนื่องจากเมื่อด่าน M-Flow เมื่อสามารถนำไปสู่การปฎิบัติได้แล้ว อยากจะให้รื้อถอนตู้ออก เพราะคงไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร

ที่สำคัญได้มอบนโยบายทั้ง กทพ. และ ทล.เรื่องพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางให้พิจารณาดูว่าจะสามารถโยกไปปฎิบัติงานส่วนไหนได้ ซึ่งจริงๆ มีอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จะไม่เกิดผลกระทบต่อพนักงานที่มีอยู่ แต่อนาคตจะไม่รับพนักงานมาเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม เพราะไม่เก็บเงินสดแล้ว จะตัดค่าผ่านทางจากทะเบียนรถ

@สั่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้

“ให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนให้เข้าใจในการเข้ามาใช้ในระบบจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งหลักการไม่มีอะไรสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น เพื่อลงทะเบียน และผูกกับบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตก็ได้ จะมีหลายช่องทางให้เลือก เรามีเวลาจากวันนี้ไปในการเตรียมความพร้อม ซึ่งระบบนี้ไม่ใช้แค่แก้รถติดหน้าด่าน ยังดูเรื่องประวัติอาชญากรรมของรถได้ด้วย เพราะจะเชื่อมข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก จะรู้ว่าจดทะเบียนถูกต้อง ดัดแปลงหรือไม่ เมื่อเข้าสู่ระบบจะตรวจจับได้ทันที”

@ไม่จ่ายค่าผ่านทางปรับ 10 เท่า

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า ทั้งนี้กรณีที่มีผู้ฝ่าผืนไม่จ่ายค่าผ่านทาง จะจ้างบริษัทมาเรียกเก็บภายหลัง ปัจจุบันมอเตอร์เวย์และทางด่วนมีปัญหาเรื่องการจัดการเก็บได้ไม่ครบ 100% หายไประมาณ 2% แต่ต่อไปบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาจะการันตีประกันรายได้ให้ทั้งทางด่วนและมอเตอร์เวย์ เช่น วิ่งเข้าระบบ 100 คัน จะต้องจ่ายให้กรมทางหลวง และ กทพ. จำนวน 100 คันเช่นกัน คล้ายๆ เป็นเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ให้แต่ละหน่วย จะทำให้กทพ. และ กรมทางหลวงได้รายได้ 100%

“จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. เพื่อนำเรื่องการเพิ่มโทษที่ไม่จ่ายค่าผ่านทางเข้าไปใน พ.ร.บ.จราจร ซึ่งเดิมไม่มี เท่าที่ทราบก็มีส่งจดหมายไปเรียกเก็บ มีโทษปรับ 10 เท่า ซึ่งเอกชนที่รับจ้างติดตามหนี้ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าผ่านทาง จะจ่ายให้กรมทางหลวง และ กทพ.ก่อน แล้วไปตามเก็บภายหลัง”

@เดิมด่านทับช้าง-ธัญบุรี

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า จะเริ่มทดสอบระบบในเดือน ธ.ค. และเริ่มใช้ในเดือน ม.ค. 2564 จะดำเนินการ 2 ด่าน คือ ด่านทับช้างกับด่านธัญบุรี กำลังจัดหาเอกชนติดตั้งระบบ วงเงิน 180 ล้าน เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการ และติดตั้งกล้องตรวจจับทะเบียนรถบริเวณด่าน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า กทพ. ได้พัฒนาปรับปรุงการให้บริการทางด่วนเพื่อให้ผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก รวดเร็วในการเดินทางมาโดยตลอด โดยนำระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass มาใช้ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่าน สามารถระบายการจราจรได้ในระดับหนึ่ง

@เม.ย. ถึงคิวทางด่วนฉลองรัช

หลังกระทรวงคมนาคมมีนโยบายและสั่งการให้ กทพ. และ ทล. ศึกษา ทดลองนำระบบการให้บริการทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้นหรือ M-Flow มาใช้งาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในเบื้องต้น กทพ. จะนำร่องทางด่วนอาจณรงค์-รามอินทรา จะเริ่มทดสอบปลายปีนี้ และเริ่มใช้ในเดือน เม.ย.2564 จำนวน 13 ด่าน จะเป็นจุดรองรับการจราจรที่ทิศทางขาเข้าเมือง ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น อาทิ ด่านบางนา กม.6 ขาเข้า ด่านดาวคะนอง เป็นต้น โดยใช้เงินดำเนินการ 20 ล้านบาท/ด่าน

รวมถึงนำไปใช้กับทางด่วนที่ กทพ. กำลังดำเนินการก่อสร้าง คือ สายพระราม 3 –ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก และทางด่วนฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี

“การร่วมมือกันตามบันทึกข้อตกลงที่จะเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนรถ ระหว่าง กทพ. กับ กรมการขนส่งทางบก จะช่วยให้ กทพ. เข้าถึงข้อมูลของผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ชำระค่าผ่านทาง ไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ เพื่อสามารถติดตามเรียกเก็บค่าผ่านทางและดำเนินการตามกฎหมายได้” นายสุรเชษฐ์กล่าวและว่า

สำหรับการดำเนินการในส่วนของ BEM ผู้รับสัมปทานทางด่วน ทาง กทพ.จะต้องมีการการันตีรายได้ให้เมื่อมีการเปลี่ยนเข้าสู่ระบบ M-Flow ทั้งนี้ทาง BEM สามารถจะเป็นผู้บริหารจ้ดการระบบเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ให้กับทางด่วนก็ได้