กรมทางหลวง ดึงเอกชนร่วมทุน PPP 30 ปี สร้างมอเตอร์เวย์ 2 สายใหม่แสนล้าน

กรมทางหลวงซาวเสียงเอกชน ลงทุนPPPกว่า 1 แสนล้าน สร้างมอเตอร์เวย์ 2 สายใหม่ “ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ” และ “บางขุนเทียน-บางบัวทอง” ทะลวงจราจรกรุงเทพฯโซนตะวันออก และตะวันตก เชื่อมโยงการเดินทาง เสริมแกร่งโลจิสติกส์ภาคตะวันออก อีสานและใต้ ตอกเข็มปี’66 เอกชนขาใหญ่ “BTS-BEM-ITD-CK -STEC-กัลฟ์” ไม่พลาด

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2563 กรมได้จัดสัมมนาประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในการพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุน PPP โครงการมอเตอร์เวย์ 2 สายทาง วงเงินลงทุนรวม 100,533 ล้านบาท โดยก่อสร้าง 4 ปีและบริหารโครงการ 30 ปี

ผุดมอเตอร์เวย์ลอยฟ้าเชื่อมด่วนศรีรัช-สุวรรณภูมิ

แยกเป็นมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์–ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.50 กม. วงเงิน 35,685 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง 27,322 ล้านบาท ได้แก่ ค่าเวนคืนที่ดิน 820 ล้านบาท ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 25,582 ล้านบาท ค่าก่อสร้างระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและควบคุมระบบการจราจร 782 ล้านบาท ค่าลงทุนตั้งต้น 138 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าใช่จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา 8,363 ล้านบาท

“มอเตอร์เวย์สายนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางมอเตอร์เวย์กรงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา ซึ่งเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลไปยังภาคตะวันออก ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง และท่าเรือแหลมฉบัง และเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาศรษฐกิพิศษภาคตะวันออก หรือEEC และจะช่วยบรรเทาจราจรคอขวดการเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิ”

สำหรับรูปแบบโครงการก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สร้างบนเกาะกลางถนนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 โดยแนวเสาตอม่อจะสร้างอยู่ระหว่างช่องทางคู่ขนานกับช่องทางหลักทั้งสองฝั่ง มีการเก็บค่าผ่านทางและมีการควบคุมการเข้า-ออกแบบสมบูรณ์

เริ่มสร้างปี’65-70

จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อทางพิศษศรีรัช บริวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ถึง กม. 18+000 เขตลาดกระบัง มีด่านเก็บค่าธรรมเนียม 3 แห่ง ได้แก่ ถนนศรีนครินทร์ สนามบินสุวรรณภูมิ และลาดกระบัง ซึ่งการดำเนินการจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนPPP net cost ใช้เวลาก่อสร้าง4 ปี และบริหารโครงการ 30 ปี

“ปีนี้จะสรุปรูปแบบลงทุน และรออนุมัติผลกระทบด้านส่ิงแวดล้อมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ จากนั้นต้นปี 2564 เสนอโครรงการให้กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการตามลำดับ คาดว่าจะเปิดประมูลในปี2565 เร่ิมก่อสร้างปี 2566 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2570 ค่าผ่านทางเริ่มต้น 10 บาท เก็บเพิ่มกิโลเมตรละ 1.5 บาท ตลอดสายอยู่ที่ 40 บาท สำหรับรถ4 ล้อ “

อัพเกรดวงแหวนตะวันตกเป็นมอเตอร์เวย์

อีกสายเป็นมอเตอร์เวย์วงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กม. เงินลงทุน 64,848 ล้านบาท แยกเป็นค่าลงทุน 51,601 ล้านบาท ได้แก่ ค่าเวนคืนที่ดิน 4,234 ล้านบาท งานทางและโครงสร้าง 45,498 ล้านบาท งานระบบ 1,577 ล้านบาท ค่าลงทุนระยะเริ่มต้น 292 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา 13,247 ล้านบาท

“เป็นการปรับปรุงถนนวงแหวนตะวันตกปัจจุบันเป็นมอเตอร์เวย์ ตามแผนจะดำเนินการตั้งแต่บางขุนเทียน-บางปะอิน แบ่งเป็น2 ช่วง ช่วงแรกบางขุนเทียน-บางบัวทอง สร้างเป็นยกระดับตลอดสาย จะให้เอกชนร่วมลงทุนเพราะลงทุนสูงกว่า 6 หมื่นล้าน ส่วนช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน จะเป็นระดับดิน ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างก่อสร้างทางคู่ขนาน จากนั้นจะปรับปรุงถนนเดิมเป็นมอเตอร์เวย์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาทกรมจะดำเนินการเอง ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะเชื่อมกับมอเตอร์บางปะอิน-โคราชและบางใหญ่-กาญจนบุรีได้อีกด้วย”

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน จุดตัดระหว่างถนนกาญจนาภิเษกและถนนพระราม 2 สร้างบนเกาะกลางถนนวงแหวนตะวันตก และไปสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางบัวทอง มีการเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางหลวงพิเศษอื่นในรูปแบบทางแยกต่างระดับทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ 1. ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเชื่อมต่อกับวงแหวนด้านใต้ มอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก

2. ทางแยกต่างระดับบรมราชชนนีเชื่อมต่อทางยกระดับบนถนนบรมราชชนนี 3. ทางแยกต่างระดับศรีรัช เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

4. ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ เชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และตลอดสายทางมีทางขึ้น-ลง จำนวน 9 จุด เพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญ ได้แก่ พระราม2 เอกชัย กัลปพฤกษ์ เพชรเกษม พรานนก-พุทธมณฑล บรมราชชนนี นครอินทร์ บางใหญ่ บางบัวทอง

ปีหน้ารีวิวอีไอเอใหม่

โดยจะสรุปรูปแบบลงทุนในปี2563 เริ่มศึกษาEIAใหม่ในปี2564 คาดว่าจะเริ่มประมูลก่อสร้างปลายปี 2566แล้วเสร็จเปิดบริการปลายปี2570หรืออย่างช้าในปี 2571 การเก็บค่าผ่านทางจะเป็นระบบM-Flow เก็บตามระยะทาง เริ่มต้น 10 บาท เก็บเพิ่มกิโลเมตรละ 1.5 บาท ตลอดสายอยู่ที่ 70บาทสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ

“การให้เอกชนร่วมPPP เพื่อเป็นการลดภาระด้านงบประมาณ และเปิดโอกาสให้เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่ากรมจะมีเงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์สามารถลงทุนได้ เพราะมีรายได้แต่ละปีเฉลี่ย 7,000-8,000 ล้านบาท แต่มีภาระการลงทุนมอเตอร์เวย์สายเอกชัย-บ้านแพ้ว อีก 2 หมื่นล้านบาท จะลงทุนในปี2564-2566”นายปิยพงษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกชนที่เข้าร่วมงานสัมมนา มีทั้งไทยและต่างชาติ อาทิ บมจ.ช.การช่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง(โทลล์เวย์) บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (บีทีเอส) บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บจ.ไชน่าเรลเวย์ฯ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นต้น