“ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผู้ว่าใหม่ปลูก DNA คนการเคหะ

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ
สัมภาษณ์พิเศษ

เปิดศักราชใหม่ปีฉลู ตามติดนโยบายสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อยในยุคโควิดระลอกใหม่ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ผู้ว่าการออฟ-ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ หรือ กคช. บนสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้ง 47-48 ปี ที่ กคช.เปลี่ยนวิธีการทำงาน จากเดิมสร้างบ้านโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก แผนนับจากนี้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป หันมาโฟกัสสร้างบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยแทน

Q : นโยบายการบริหารในยุคโควิด

พอดีจะมีโครงการบ้านผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ที่การเคหะแห่งชาติทำเป็นโครงการซีเอสอาร์ ซึ่งปีนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.ก็ให้ความสำคัญ เนื่องจากปี 2565 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ปีนี้พี่น้องที่เป็นประชากรผู้สูงอายุเกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ นายกฯก็เลยให้ความสำคัญแก่ผู้สูงอายุ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายการเคหะฯ ในปี 2564 ที่เราจะสร้างบ้านให้ผู้สูงอายุ 4 มุมเมือง

จะเห็นได้ว่าตอนนี้แทบทุกหน่วยงานอย่างกรมธนารักษ์เอง เขาก็เพิ่งเปิดโครงการบ้านผู้สูงอายุ ซึ่งบ้านของกรมธนารักษ์เป็นโครงการที่มีราคาค่อนข้างสูง แต่การเคหะฯจะเน้นผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่ค่อยมาก นิยามคือสามารถจ่ายค่าเช่า 1,500-2,500 บาท/เดือน ในแง่รายได้ก็เป็นกลุ่มที่มีรายได้เดือนละ 15,000-40,000 บาท

ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ก่อนหน้านี้มีปัญหาสะสมอย่างโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งเป็นมติ ครม.ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ยุติโครงการที่ 280,000 หน่วย จากเป้าสร้าง 1 ล้านหน่วย เนื่องจากมีหลายโครงการที่มีปัญหา มีดีมานด์เทียมด้วยแล้วก็หลายเรื่อง ๆ

แต่บังเอิญว่าที่ดิน sank cost (ซื้อภายใต้โครงการบ้านเอื้ออาทร) เวลาที่ผ่านไปมีความเจริญมากขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อตามมา หลังจากนี้ การเคหะฯจะได้นำมาลงทุนต่อไป

นอกจากนี้ ท่านนายกฯก็มอบหมายให้เราแก้ไขหลายเรื่อง เช่น ตึกสมัยก่อนทำสูง 5 ชั้น แต่ไม่มีลิฟต์ ซึ่งประสบการณ์ของการเคหะฯเอง ชั้น 4-5 คนก็ไม่ซื้อแล้ว นึกถึงเราซื้อน้ำดื่ม 20 ลิตร กลับมาเดินขึ้นบันไดก็ไม่ไหว เราก็ต้องแก้ ถ้าจะทำลิฟต์นอกอาคารก็ติดปัญหา EIA อีก (หัวเราะ)

เราเองก็พยายามแก้ ผมเข้ามาก็เลยบอกว่า ตอนนี้ทุกท่าน (พนักงาน กคช.) เปลี่ยนจากการทำงานเสร็จ เป็นทำงานสำเร็จ หมายถึงว่าคุณต้องส่งต่อ ส่งมอบให้เพื่อน ฝ่ายการตลาดที่อยู่หน้างานที่เขารับความต้องการลูกค้ามา สายก่อสร้างคุณก็ต้องออกแบบให้มันไปเซิร์ฟกับกลุ่มลูกค้า แล้วฝ่ายชุมชนที่เข้ามาดูแล เขาก็อยู่หน้างานเหมือนกัน อะไรที่เป็นปัญหาเราก็ต้องมาแก้ ต้องคุยกัน

เราต้องวางเป้าหมายร่วมกัน คือที่นี่จะเป็นไซโล ถ้าเครือข่ายการทำงานถ้าไม่ลิงก์กันก็ไปต่อลำบาก แล้วทุกคนพอถึงเวลาก็จะปัดความรับผิดชอบหมดเลย

จริง ๆ ส่วนหนึ่งที่พยายามจะผลักดันก็คือ ค่านิยมขององค์กรดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่เกิดการขับเคลื่อน ค่านิยมก็คือตัวโซเชียล ไม่ได้ถูกปลูกฝังให้เป็นดีเอ็นเอของคนการเคหะฯ โดยเฉพาะ 2 ตัวแรก S กับ O ถ้าคนการเคหะฯมี S กับ O เนี่ย S ก็คือเหมือนกับการให้, O คือการรับฟัง เพราะฉะนั้น คนของการเคหะฯให้ซึ่งกันและกัน คนสองคนควรให้กัน

หน้าที่ของผมก็คือต้องทำให้เขาไปในทิศทางเดียวกัน

เหมือนนโยบายของท่านนายกฯที่ทำเรื่องบ้านเช่า คนในนี้ (พนักงานการเคหะฯ) ก็ยังไม่เห็นด้วย ก็ยังจะชูเรื่องทำบ้านขาย ท่านนายกฯบอกว่า อีก 3 ปีคุณจะสร้างบ้านไปขายใคร ผู้ประกอบการ (เอกชน) มีปัญหาหมด ฉะนั้น ถ้าทำบ้านเช่า อย่างน้อยคนมีบ้านอยู่ แต่การเช่าของเรามันไม่ใช่เช่าเฉย ๆ อนาคต 3 ปีผ่านไป หากเศรษฐกิจดีขึ้น เขาสามารถซื้อบ้านหลังนี้ได้ ที่คุณเช่ามา 3 ปีก็จะกลายเป็นเงินดาวน์ แล้วคุณก็ผ่อนต่อ

Q : ที่ดินมาจากไหน

การเคหะฯมีที่ดิน sank cost จากบ้านเอื้ออาทร 4,500 ไร่ แลนด์แบงก์อีก 4,400 ไร่ ปัจจุบัน sank cost เป็นที่ดินเกรด A 70% ตอนโน้นที่เขาทำมันก็ไม่เกรด A หรอก ที่ตาบอดบ้าง อะไรบ้าง แต่ปัจจุบันนี้ปรากฏว่ามีการตัดถนนมา ผมถามกับผู้บริหารได้ทราบว่า ตอนที่ซื้อเนื่องจากการเคหะฯไม่ได้มีเป้าหมายสร้างบ้านอยู่ในเขตเมือง เราจะสร้างอยู่รอบนอก

ซึ่งก่อนหน้านี้ (คตส.-คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ก็ไปมองว่า การซื้อที่ดินทำเลขอบ ๆ เมืองแสดงคุณมีเจตนาไม่โปร่งใส แต่ปรากฏว่าที่ดินตาบอดตอนสมัยนั้น ตอนนี้กลายเป็นที่ดินแพง ๆ ไปแล้ว

ทีนี้ปัญหาของ sank cost คือมีอาคารอยู่ด้วย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือตอนที่สร้างอาคารมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจะปรับปรุงใหม่จะต้องนำคอสต์เดิมมาบวก พอบวกเสร็จราคาก็สูง ทำให้ขายให้กับคนทั่วไปไม่ได้ เพราะไม่มีคนสนใจลงทุนต่อ

เราก็มีแนวคิดว่าคงต้องให้เอกชนร่วมลงทุน ตอนนี้กำลังออกข้อบังคับอยู่ จุดนี้ก็ต้องเข้ามาปรับปรุงด้วยเหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนมีการทำนโยบายชักชวนเอกชนมาลงทุน แต่มันผิดขั้นตอนเพราะออกระเบียบโดยไม่มีข้อบังคับ

Q : นิยามผู้มีรายได้น้อย

จริง ๆ นายกฯมองว่าผู้มีรายได้น้อยก็คือคนที่หาเช้ากินค่ำ มีรายได้ 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน คำนวณจาก 500 บาท คูณ 30 วัน ได้ 15,000 บาท กลุ่มนี้การเคหะฯมีโครงการสร้างบ้านเช่าเคหะสุขประชา รองรับปีละ 20,000 หน่วย

Q : ขอทราบสัดส่วนเช่ากับโอน

เมื่อก่อนบ้านการเคหะฯสร้างเพื่อขาย 80-85% แล้วก็ให้เช่า 15-20% แต่ท่านนายกฯบอกว่า 3 ปีนี้คุณไม่ต้องไปหวังเลยที่จะขาย เราก็จะทำเช่า แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะทำบ้านระดับผู้มีรายได้ปานกลาง คือเราไม่ได้มีเฉพาะบ้านผู้มีรายได้น้อยนะ เนื่องจากเราต้อง subsidy ตัวเราเอง (การสร้างรายได้)

เราก็จะไปสร้างบ้านคุณภาพสูงขึ้น ราคา 2-3 ล้านบาท ถ้าเป็นตลาดภายนอกก็อาจจะ 7-8 ล้านบาท โครงการเหล่านี้เพื่อขายให้กับผู้มีรายได้ปานกลาง นิยามคือกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้เดือนละ 40,000 บาทขึ้นไป/เดือน

แต่จริง ๆ ผู้มีรายได้ปานกลาง เราไม่ได้ไปลิมิตรายได้ มองเพียงแค่เขาจ่ายเงินดาวน์เสร็จ เมื่อถึงเวลาก่อสร้างเสร็จ การส่งมอบทางลูกค้าก็ต้องไปยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร หรือทำโพสต์ไฟแนนซ์ ถ้าเงินกู้ผ่านก็ส่งมอบหรือโอนได้เลย โมเดลบ้านผู้มีรายได้ปานกลางอย่างเชียงใหม่ที่ผมไปดูมาโมเดลที่ดิน 55 ตารางวา ตัวบ้านมีพื้นที่ใช้สอย 168 ตารางเมตร แต่ถ้าเป็นบ้านผู้มีรายได้น้อย ที่ดินเฉลี่ย 16 ตารางวา ตัวบ้าน 30 ตารางเมตร

แผนลงทุนปี 2564 เราทำบ้านเช่ามากขึ้น แต่ถ้าสักวันหนึ่งเศรษฐกิจดีแล้ว คนรายได้สูงขึ้น เราก็เปลี่ยนเป็นรายได้ปานกลางมากขึ้น หรืออีกหน่อยคนไทยรวยทั้งประเทศ เราก็ทำรายได้สูงมากขึ้น อยู่ที่เศรษฐกิจแต่ละช่วง

จริง ๆ เราพูดแค่มุมเดียวตาม พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ นอกจากเราสร้างบ้านแล้วยังทำเรื่องคุณภาพชีวิตด้วย ตอนนี้การเคหะฯรับผิดชอบ 680 ชุมชน เราก็พยายามยกระดับชุมชนตลอดเวลา ตอนนี้ รมว.จุติ (ไกรฤกษ์) ก็มีโครงการให้แข่งขันปรับภูมิทัศน์ชุมชนให้มีความสวยงามมากขึ้น แล้วก็จะเชิญภาคเอกชนที่เขาอยากทำ CSR มาปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วย


งานฝั่งชุมชนเราก็ยังทำอยู่ ที่ผ่านมาเราก็มีการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม เพื่อยกระดับคุณภาพของชุมชนเขาด้วย ซึ่งก็จะไปตอบโจทย์ตัวยุทธศาสตร์ชาติด้วย