ยังคงอยู่ในความสนใจ พลันที่ ”บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 ชี้แจงกรณีคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (DSEZ MC) ประเทศเมียนมา ยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการทวาย จำนวน 7 ฉบับ
ทั้งที่โปรเจ็กต์นี้ “เปรมชัย กรรณสูต” บอสใหญ่ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ได้ลงแรงไปมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา นับจากเซ็นสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2559 พัฒนาพื้นที่ 27 ตร.กม. ระยะแรก ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมเฟสแรกและถนน 2 ช่องจราจรเชื่อมชายแดนไทย, ท่าเรือขนาดเล็ก, เขตที่อยู่อาศัย, อ่างเก็บน้ำและระบบประปา, โรงไฟฟ้าชั่วคราว, โรงไฟฟ้า, ระบบโทรคมนาคมและท่าเรือ LNG
แต่ที่ผ่านมาด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้โครงการทวายเกิดความล่าช้า ไม่โชติช่วงอย่างที่มีการประเมินก่อนหน้านี้
- “อิตาเลียนไทย” แจ้ง ตลท. ถูกยกเลิกสัญญาสัมปทาน “ทวาย”
- “ศักดิ์สยาม” โยน “สภาพัฒน์-อาคม” แจงปม “เมียนมาร์” เลิกลงทุนทวาย
ในช่วงเดือน ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ”เปรมชัย” ให้สัมภาษณ์ ”ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายที่เข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้เงินลงทุนสำหรับจ่ายค่าสิทธิเช่าที่ดินและพัฒนาโครงการในปี 2561 จำนวน 7,738 ล้านบาท และปี 2562 จำนวน 7,804 ล้านบาท
“ขณะนี้โครงการหยุดการก่อสร้างไปร่วม 4 ปี เนื่องจากรอความชัดเจนเรื่องการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างชายแดนไทยที่บ้านพุน้ำร้อนกับโครงการทวาย”
อย่างไรก็ตาม มีข้อสรุปร่วมกันแล้วจะเดินหน้าก่อสร้างถนนขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 148 กม. ค่าก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท โดยจะเปิดประมูลปลายปีนี้ (2563) คาดว่าจะสร้างเสร็จใน 2 ปี หรือในปี 2565 โดยรัฐบาลเมียนมาเห็นชอบในหลักการและเงื่อนไขเงินกู้เงื่อนไขแบบผ่อนปรนพิเศษจากรัฐบาลไทยแล้ว
“ที่ต้องหยุดก่อสร้างเพื่อรอความชัดเจน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งเราในฐานะผู้ลงทุนก็ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยต่าง ๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่ก็ได้อธิบายกับธนาคารที่ปล่อยกู้ว่าโครงการมีผลตอบแทนในระยะยาว เพียงแต่รอการอนุมัติให้โครงการเดินหน้าต่อ เมื่อได้รับไฟเขียวเราพร้อมเดินหน้าในทันที ซึ่งได้เจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ให้ยืดการชำระหนี้ให้บ้าง”
ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการได้เดินหน้าต่อโดยเร็ว ทางรัฐบาลเมียนมาได้แบ่งการพัฒนาโครงการใหม่ มีพื้นที่ 8,000 ไร่ ใช้เงินพัฒนาประมาณ 20,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคภายในโครงการ โดยแบ่งพื้นที่ให้มีขนาดเล็กลง แบ่งการพัฒนาเป็น 5 เฟส โดยเฟสแรกจะพัฒนา 500 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท เมื่อขายพื้นที่นิคมได้ 60% ถึงจะพัฒนาเฟสที่ 2 อีก 1,500 ไร่
“เฟสแรกใช้เวลาพัฒนา 5 ปี ยังมีการแบ่งย่อยพัฒนาลงไปอีก เพื่อให้บริหารจัดการเงินลงทุนได้ง่าย ซึ่งโครงการนี้เรารอมาหลายปี เมื่อโครงการถนนซึ่งเป็นหัวใจหลักของโครงการได้เดินหน้า จะทำให้ดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุน จากนั้นจะเริ่มทำการตลาดขายพื้นที่พัฒนาให้กับนักลงทุน เราเป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนโรจนะจะเป็นผู้ทำการขายพื้นที่” นายเปรมชัยกล่าวย้ำ
ล่าสุดวันที่ 16 ธ.ค. 2563 นายเปรมชัยกล่าวว่า ยังรอรัฐบาลเมียนมา ฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่บริษัทได้หยุดการก่อสร้างไว้ก่อนชั่วคราว ระหว่างรอความชัดเจน แต่ที่ผ่านมาได้ลงทุนก่อสร้างในระยะแรกไปแล้วพอสมควร